NEXT GEN

SCGC ร่วมทุน Braskem เป็นเครื่องเร่งให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก

29 สิงหาคม 2566…ข้อมูลจากบีโอไอ ระบุว่าอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท และกำลังเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านซัพพลายเชนของพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อสร้างมูลค่าต่อยอดวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นอกจากนี้ยังมุ่งเดินหน้าเชิญชวนบริษัทรายใหญ่ระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมากขึ้น ด้วยการดึงจุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งวัตถุดิบจากผลิตผลจากภาคเกษตรจำนวนมาก มีบุคลากรที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ ตอบโจทย์ทิศทางเมกะเทรนด์ของโลกด้วยครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดยล่าสุด บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนได้ลงนามในสัญญาร่วมทุน (Joint venture agreement) กับกลุ่มบริษัท Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ หรือ Green-Ethyleneจากเอทานอลที่ได้จากผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล ซึ่งมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี

ส่วนของเอทิลีนชีวภาพที่ได้จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพหรือ Green-PE ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) และรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป ซึ่งสามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลาย เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคล เครื่องใช้ในบ้าน ภายใต้แบรนด์ I’m green™ เพื่อตอบรับเมกะเทรนด์ ที่ต้องการพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและยุโรป

“SCGC มีเป้าหมายที่จะพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดย SCGC ได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ตามแนวทาง ESG” ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวถึงความร่วมมือกันในครั้งนี้

การร่วมทุนและเป็นพันธมิตรระหว่าง SCGC กับ Braskem ในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของ SCGC ในการรุกธุรกิจกรีน ตอบเมกะเทรนด์ที่มีความต้องการพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและยุโรป

“เรามองเห็นโอกาสและความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาด I’m green™ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสำหรับลูกค้าที่มองหาโซลูชันเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือกับ SCGC นี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ Braskem ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ 1ล้านตันภายในปี 2573 แทนที่ฟอสซิลด้วยวัตถุดิบหมุนเวียน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม” Roberto Bischoff ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Braskem กล่าว

สำหรับ แบรนด์ I’m green™ ถือเป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน โดยใช้ผลิตผลจากภาคเกษตรแทนฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พลาสติกชีวภาพภายใต้แบรนด์ I’m green™ สามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเครื่องใช้ส่วนบุคคลและอุปกรณ์ดูแลบ้าน ของเล่น เครื่องใช้ในบ้าน ถุงพลาสติก เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Mechanical recyclingและ Advanced recycling เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป

ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพของ Braskem มาผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญของ SCGC ในด้านการผลิตพอลิเอทิลีน รวมทั้งศักยภาพของ SCGC ที่เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค โดยโรงงานของบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประเทศไทย และถือเป็นโรงงานผลิต I’m green™ แห่งแรกนอกประเทศบราซิล

 

You Might Also Like