NEXT GEN

ในประเด็น ESG มี 3 สิ่งที่ธปท.อยากเห็น และสมาคมธนาคารไทยมีรายละเอียดพร้อมใช้งาน 6 เรื่อง

30 สิงหาคม 2565…ให้ ESG อยู่ในทุกการตัดสินใจดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ มี Product,Service สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และบริหารความเสี่ยงทั้งสังคมสิ่งแวดล้อมได้ทันสถานการณ์  โดยสมาชิกฯและสมาคมธนาคารไทยประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของสมาคมธนาคารไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. )กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของสมาคมธนาคารไทยในวันนี้ ได้ย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารพาณิชย์ไทยในการผนวกรวมมิติด้านความยั่งยืน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการดำเนินธุรกิจของภาคการเงิน โดยกำหนดแผนดำเนินงาน กรอบเวลา และการประเมินผลสัมฤทธิ์ ที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นมาก ซึ่งสอดรับกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่ได้จัดทำทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

ทั้งนี้ ธปท. พร้อมสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจไทยสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน มีความราบรื่นและทันการณ์

“ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องความยั่งยืน ที่ประกอบด้วยประเด็นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ไม่ได้เป็นกระแสระยะสั้นที่มาแล้วจบไป แต่จะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงและผนวกไว้ในกระบวนการทางธุรกิจ การดำเนินชีวิต รวมถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่ โดยผู้บริโภคทั่วโลก นักลงทุน และผู้ใช้บริการทางการเงิน ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจะกดดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัว”

แม้ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ในไทยจะเริ่มยกระดับการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนไปพอควร สะท้อนจากบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) มีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่หากมองภาพรวมที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ของประเทศยังต้องปรับตัวอีกมาก จากผลสำรวจระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

พบว่ามีเพียงร้อยละ 16 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่สามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดการก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ และมีเพียงร้อยละ 7 ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯที่อาจยังไม่ตระหนักรู้ หรือไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการปรับตัวในเรื่องนี้

“ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแล จึงตระหนักถึงบทบาทของภาคการเงิน ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้สามารถปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้ดีขึ้น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท. ได้เผยแพร่ “แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นแนวทางในการปรับภาคการเงินให้ยืดหยุ่น และยกระดับบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์โลกอนาคตได้ดีขึ้น ซึ่งได้รวมการปรับตัวภายใต้ ESG ไว้ด้วย”

ดร.เศรษฐพุฒิ ย้ำว่าสิ่งที่ ธปท. อยากเห็น คือ

(1) สถาบันการเงินมีกระบวนการผนวกเรื่อง ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ

(2) สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่จะเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าทัน รวมถึงมีความรับผิดชอบที่จะช่วยให้ภาคประชาชนบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสมและจัดการหนี้สินได้อย่างยั่งยืน

(3) สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างทันการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการสมาคมธนาคารไทย CEO Co-sponsor ด้าน Sustainability ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในนามสมาคมธนาคารไทยว่า

“ในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ สมาคมธนาคารไทยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ซึ่งเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึง ความตั้งใจอันแน่วแน่ของภาคธนาคารไทยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อนำพาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยสมาคมฯ และธนาคารสมาชิกจะร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ อีกมากในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน”

ในการดำเนินการตามแนวทางสำคัญ 6 ประการ ดังนี้

1.ธรรมาภิบาล : มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผลในระดับคณะกรรมการ โดยกำหนดภาระและขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจนในระดับการจัดการในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

2.ยุทธศาสตร์ : บูรณาการพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจและกำหนดกรอบด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนเพื่อให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างราบรื่น

3.การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล : ผนวกรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ไว้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง

4.ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน : ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

5.การสื่อสาร : สื่อสารและประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

6.การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน : พัฒนาระบบการติดตามและการรายงานที่สอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลของประเทศไทยและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากล

ขัตติยา กล่าวในท้ายที่สุด เจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึง ความตั้งใจอันแน่วแน่ของภาคธนาคารไทยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อนำพาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยสมาคมฯ และธนาคารสมาชิกจะร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ อีกมากในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

 

You Might Also Like