NEXT GEN

บนอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าราชบุรี ติดตั้งโซลาร์ 2 MW

21 เมษายน 2564…ใช้เงินลงทุน 78 ล้านบาท โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 9.96 ล้านบาท ที่อัตราค่าไฟฟ้า 3 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขณะเดียวกันปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังลดลงได้ประมาณปีละ 1,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งส่งผลดีต่อชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ อีกด้วย

กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ร่วมกันพัฒนา “โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ” (Solar Floating Project) ในโรงไฟฟ้าราชบุรี ว่า

“เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 2 หน่วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,470 เมกะวัตต์ ถูกสั่งเป็นกำลังผลิตสำรอง หรือ Reserved Shutdown จึงต้องหยุดเดินเครื่องจนกว่าจะมีคำสั่งให้ผลิตไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้ายังต้องการไฟฟ้าให้กับระบบต่างๆ ของโรงไฟฟ้า รวมทั้งอาคารปฏิบัติงานต่างๆ จึงต้องมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และยังทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อม (Scope 2) ของโรงไฟฟ้าราชบุรียังเพิ่มขึ้นอีกด้วย”

จากเหตุข้างต้น โรงไฟฟ้าราชบุรีจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงไฟฟ้า โดยพิจารณาพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว้างถึง 200 ไร่ โครงการนี้ได้เริ่มศึกษาศักยภาพค่าความเข้มรังสีรวมรายวันเฉลี่ยต่อปีในพื้นที่เมื่อปี 2561 โดยค่าอยู่ที่ 1,793 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตร และได้ดำเนินการก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบระบบ และได้รับใบอนุญาตการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2564

โครงการฯ ดังกล่าว มีขนาดกำลังการผลิต 2.138 เมกะวัตต์ โดยได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Photovotaic Module) ชนิด Polycrystalline ขนาด 330 วัตต์ จำนวน 6,480 แผง บนผิวน้ำของอ่างเก็บน้ำดิบใช้พื้นที่ 14 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบทั้งหมด ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ปีละ 3,121,500 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จากกำลังการผลิตติดตั้ง ปัจจุบันกระแสไฟฟ้าจากโครงการได้นำไปใช้ในอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำ อาคารคลังพัสดุ อาคารสำนักงาน อาคารฝึกอบรม อาคารปฏิบัติการ รวมทั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะด้วย

บริษัทฯ นำโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ ยื่นจดทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ประเภทพลังงานทดแทน กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 โครงการฯ ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศลดลงได้ 1,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และตลอดระยะเวลา 7 ปี (2563-2570) ของโครงการฯ ลดลงได้ 12,418 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“โครงการนี้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจาก อบก. ในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2562 ซึ่งมอบให้แก่องค์กรที่ตระหนักถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมุ่งมั่นส่งเสริมการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ถือเป็นรางวัลแห่งความภูมิใจที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของบริษัทฯ และเป็นกำลังใจให้เราพัฒนาโครงการอื่นๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเจริญเติบโตไปพร้อมกับสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป” กิจจากล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like