CSR

เมื่อป่าดีจะมีน้ำ @ชุมชนบ้านแม่ขมิง ร่วมตอบเป้าหมาย SDGs15

18 กุมภาพันธ์ 2563…บมจ. ราช กรุ๊ป ปักหมุด SDGs เป้าหมาย 15 ข้อ 15.2 มานานถึง 12 ปีในการส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า

บุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่บริษัทริเริ่มและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 เพราะบริษัท เชื่อว่า ป่าชุมชนเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าจนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศได้

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ตั้งแต่ปี 2551 ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2551-2555) และขยายความร่วมมือมาสู่ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2556-2560) จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 3 (ปี พ.ศ. 2561-2565) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ตลอดจนรักษาพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน บรรเทาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ การพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการป่าชุมชนของตน เกิดความรักความหวงแหน ดูแลรักษาป่าดั่งเป็นสมบัติของชุมชนเอง เกิดเป็นเครือข่ายสร้างความมั่นคงให้กับทรัพยากรของประเทศ

ทั้งนี้ รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 คือ ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง หมู่ที่ 2 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ “ความเชื่อ” เดียวกันของคนในชุมชนว่า เมื่อป่าดี ระบบน้ำ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงการทำมาหากินของชุมชนในพื้นที่ ก็จะดีตามมา

บุญทิวาร่วมชมการดำเนินกิจกรรมในป่าชุมชน โดยอัจฉริยะพงษ์ อธิบายจุดเด่น คือ กระบวนการ D-S-L-M (Demand-Supply-Logistic-Management) เชื่อมโยงเรื่องการจัดการดิน-น้ำ-ป่า หลักการนำน้ำจากอ่างเล็ก (ฝาย,บ่อน้ำ) จากยอดเขาเติมลงมาในอ่างใหญ่ (อ่างเก็บน้ำ) เพื่อกักเก็บน้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด ใช้เทคโนโลยีสร้างแนวร่วมในการดูแลรักษาป่า เช่น หาตำแหน่งพิกัด GPS ต้นไม้แต่ละต้น, เก็บค่าสถิติเส้นรอบวงของต้นไม้, มีกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารและจัดกิจกรรมกับคนในชุมชน โดยกำหนดให้ 3 ครัวเรือนต้องมีสมาชิกเข้ากลุ่มอย่างน้อย 1 คน เพื่อเผยแพร่ข่าวสารไปยังสมาชิกอื่นๆ อีก 3 ครัวเรือนที่ยังไม่ได้เข้ากลุ่ม) สร้างศูนย์การเรียนรู้ริมอ่างเก็บน้ำ ถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำ จนเป็นต้นแบบของจังหวัดแพร่ จัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนป่าชุมชน และพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการเขียนแผนแม่บทต่างๆ ให้แก่ป่าชุมชนอื่น ใช้โซลาร์เซลล์ สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล รณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากวัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น จานจากปลีกล้วย, แก้วจากกระบอกไม้ไผ่ เพื่อลดการใช้พลาสติกหรือวัสดุย่อยยาก คนในชุมชนให้ความร่วมมือจัดทำแนวกันไฟ ในเดือนมกราคม-เมษายน ประจำทุกปี ปัจจุบันสร้างแนวกันไฟเสร็จสิ้นแล้ว 8 กิโลเมตร ทุกปี

อัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ประธานป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ได้เชื่อมโยงการบริการจัดการดิน-น้ำ-ป่า อย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การจัดการดูแลป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ อาทิ การปลูกป่าเสริม, การทำแนวกันไฟ, การทำธนาคารใบไม้, การสร้างฝาย และกักเก็บน้ำด้วยหลักการอ่างเล็กเติมอ่างใหญ่ เพื่อรักษาน้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่าที่สุด การบริหารจัดการป่าและน้ำสัมฤทธิผลจนเป็นต้นแบบการเรียนรู้ให้กับชุมชนหรือองค์กรต่างๆ จากความเข้มแข็งและร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย

“เราน้อมนำแนวพระราชดำริมาฟื้นฟูป่า สร้างฝายชะลอน้ำ โดยการร่วมมือกันเป็นกฎกติกาหมู่บ้านกำหนดเป็นแผนปฎิทินประจำปี เพราะฉะนั้น คนทุกครัวเรือนที่นี่ตระหนักเสมอว่า เมื่อป่าดี เราจะมีน้ำ เมื่อมีน้ำเราจะมีอาชีพ มีอากาศ มีพลังงาน และความสุขตามมา ปัจจุบันเราดึงเยาวชนและหมู่บ้านข้างเคียงมาร่วมกันฟื้นฟูป่า เพื่อจะให้น้ำที่เราฟื้นฟูป่าโปรยลงมา เติมอ่างใหญ่ แล้วส่งไปตามครัวเรือน พื้นที่การเกษตร และสัตว์เลี้ยง ทำให้ปีนี้เราไม่แล้งแน่นอน”

ชุมชนมีคณะกรรมการป่าชุมชน และจัดทำแผนการฟื้นฟูป่าประจำปี พยามยามดึงคนทุกกลุ่ม ทุกวัยเข้ามาร่วมในทุกกิจกรรม เพื่อดับไฟในใจคนไม่ให้แผดเผาป่าจากความโลภหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งในช่วงอากาศแห้งเช่นนี้ ชุมชนมีการเตรียมพร้อมรับมือกับไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการดึงคนในชุมชนร่วมกันทำแนวกันไฟความกว้างประมาณ 1-2 เมตรตามแนวสันเขาครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร อีกทั้งยังจัดทำธนาคารใบไม้ เพื่อลดการเผาในชุมชนและลดจำนวนเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย เช่น ใบไม้, กิ่งไม้ และนำมาสร้างประโยชน์ด้วยการหมักกับมูลวัวที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่นผสมกับเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ในการเกษตรของคนในชุมชน โดยกระจายกันทำในพื้นที่รวม 6 จุด ได้แก่ วัดแม่ขมิง, ป่าช้า, บริเวณในหมู่บ้าน 3 จุด และในป่าชุมชน เราหวังที่จะเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรในอนาคต ทั้งเรื่องการจัดการป่า ปศุสัตว์ พลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำ และการเกษตร

“ในมุมมองของ ราช กรุ๊ป เห็นว่าป่าชุมชนที่นี่เด่นเรื่องการบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการจัดโครงการสร้างองค์กร คล้ายกับการบริหารบริษัทหนึ่งก็ว่าได้ นำโดยซีอีโอ คือผู้ใหญ่บ้าน ถัดลงมาเป็นบอร์ดบริหาร มาจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ จากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ บริหารจัดการ ลงมาก็แบ่งเป็นหน่วยงานใน 200 กว่าครัวเรือน หมวดหนึ่งจะมี 12 ครัวเรือน ซึ่งเหมือนกับเป็นฝ่ายเป็นแผนกในองค์กร มีหน้าที่เชื่อมร้อยนำแผนกลยุทธ์ต่างๆ มาปฏิบัติ และฟีดแบคข้อมูลไปข้างบน มีการแก้ไข วางแผนร่วมกัน ดำเนินงานร่วมกัน ติดตามปัญหาอุปสรรคร่วมกัน ถือเป็นองค์กรระดับชั้นนำทีเดียว”

จากป่า สู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้เกิดเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ ค๊อกเทลโซดามะนาว(จากสวนที่ปลูก) น้ำผึ้งเพื่อสุขภาพ สร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าวขาย (ข้าวจะปลุกไว้บริโภคเอง) นอกจากนี้มีเรื่องของไร่กาแฟเข้ามาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ชุมชนมีคณะกรรมการป่าชุมชนมีกุศโลบายในการสร้างป่า ด้วยการสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วมในชุมชนใกล้เคียง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนที่เห็นผลเชิงประจักษ์ คือ การปลูกกาแฟ จนเกิดการก่อตั้ง เดอะ ปางงุ้น วัลเล่ย์ เป็นวิสาหกิจชุมชนใกล้เคียงที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ที่ทั้งปลูกกาแฟ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรจังหวัดแพร่ และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกกาแฟด้วย ในที่สุดไร่เลื่อนลอยได้พลิกฟื้นมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นและให้ร่มเงาฟูมฟักต้นกาแฟ

อัจฉริยะพงษ์ ยอมรับว่า “เพราะเรามีหัวใจเดียวกัน เพราะเรามีผืนป่าเดียวกัน ไม่มีป่าเราก็อยู่ไม่ได้”

นั่นหมายถึงไฟในใจของคนบ้านแม่ขมิงได้มอดสนิทแล้ว แต่ไฟและใจในการปกป้องรักษายังคงมีอย่างเต็มเปี่ยม

 

You Might Also Like