CSR

เพราะทะเลคือพื้นที่แห่งชีวิต ตามดูภารกิจปลูกหญ้าทะเลแปลงใหญ่ฝั่งอ่าวไทย ความหวังลดโลกรวน @ สุราษฎร์ธานี

27 เมษายน 2566…ก่อนหน้านี้เราคุ้นชินกับวิธีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีดั้งเดิม คือ การใช้พื้นที่ป่าบนบกเพื่อดูดซับคาร์บอนฯ หรือที่เรียกว่า Green Carbon แต่ปัจจุบันพืชอีกชนิดที่ถือเป็นฮีโร่ทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนฯ ได้ดีก็คือ “หญ้าทะเล” ซึ่งถือเป็น Blue Carbon ที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนฯ ที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ป่าไม้

ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International. Union for Conservation of. Nature: IUCN) ปี 2021 ระบุว่า “หญ้าทะเล” สามารถดูดซับกักเก็บมากกว่าป่าบนบก 7-10 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก Blue Carbon Society ระบุว่าพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และป่าพรุน้ำเค็ม สามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ใต้ดินได้ถึง 50 – 99% โดยเฉพาะ “แหล่งหญ้าทะเล” ระบบนิเวศซึ่งแม้จะมีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 % ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 % ทั้งยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน และเต่าตนุ และเป็นแหล่งอนุบาล รวมถึงที่หลบภัยของสัตว์น้ำหลากหลายประเภท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังระบุไว้อีกว่า ประเทศไทยมีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลประมาณ 160,628 ไร่ แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า มีพื้นที่หญ้าทะเล เพียง 99,325 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 65,209 ไร่ และฝั่งอ่าวไทย จำนวน 34,116 ไร่ ดังนั้นประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกมากที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่หญ้าทะเลกว่า 16,000 ไร่ ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่หญ้าทะเลมากที่สุดทางฝั่งอ่าวไทย

จากข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างให้ความสนใจเรื่องหญ้าทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชน ที่มุ่งเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเลโดยมองเป็นพันธกิจหนึ่งที่ต้องการมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนในบรรยากาศสาเหตุของโลกร้อน รวมถึงการดูแลทรัพยากรน้ำ แหล่งชีวิตของคน สัตว์ และพืช

ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อดูแล รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำครอบคลุมทุกภูมิภาค ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ในภาคเหนือ, การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ในภาคอีสาน, ดูแลสายน้ำที่ภาคกลาง รวมถึงท้องทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งทำมาหากินสำคัญ

โดยเกาะเสร็จ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ถือเป็นแหล่งปลูกหญ้าทะเลแปลงใหญ่ฝั่งอ่าวไทย รวมถึงเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์หรือ คาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue carbon) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย จากพันธกิจดังกล่าว บริษัท สุราษฎร์ธานีเบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาโลกรวนในภารกิจเพิ่มพื้นที่ Blue Carbon ปลูกหญ้าทะเลพร้อมเยาวชนสิงห์อาสาในพื้นที่

“ที่ต้องเป็นบริเวณพื้นที่เกาะเสร็จ เนื่องจากเป็นเกาะเกิดใหม่ในสุราษฎร์ฯ ซึ่งค่อนข้างห่างจากชายฝั่ง ไม่มีน้ำจืดผสม มีระบบนิเวศชายทะเลเหมาะกับการปลูกหญ้าทะเลรวมถึงป่าชายเลน ที่จะเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เช่น ปูม้าในช่วงวัยอ่อน จะกินอาหารที่เกาะอยู่บนใบหญ้าทะเล ซึ่งช่วยให้ปูม้าอ่าวบ้านดอนมีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปลาหลายชนิด รวมไปถึงการเป็นแหล่งอาหารของพะยูนและเต่าทะเล สัตว์สงวนของไทยที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เกาะเสร็จ จึงมีความพร้อมของธรรมชาติที่จะทำให้หญ้าทะเลมีโอกาสอยู่รอดได้”

ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกหญ้าทะเล ที่ปรึกษาโครงการขยายความต่อเนื่องถึงความท้าทายของพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลที่เกาะเสร็จ จะมีมากกว่าพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน

“การมีหญ้าทะเลจึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่หญ้าทะเลกำลังเจอภัยคุกคามหลายอย่าง เช่น การเดินเรือทับหญ้าทะเล การพัฒนาชายฝั่งให้เป็นโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้นการที่มีกิจกรรมสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่ได้มาร่วมปลูกหญ้าทะเลครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้เยาวชนมีความเข้าใจถึงความสำคัญของหญ้าทะเลที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นส่วนหนึ่งช่วยลดภาวะโลกร้อนที่อยู่ใกล้ตัวเราแล้ว”

 

อมร เสานอก ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน บริษัท สุราษฎร์ธานีเบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวถึงนโยบายบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ว่า มีบทบาทจะต้องดูแลทรัพยากรน้ำครอบคลุมทุกภูมิภาค ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ในภาคเหนือ, การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ในภาคอีสานและภาคกลาง รวมถึงท้องทะเลในภาคใต้

“ในฐานะประชาชนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขป้ญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ถือเป็นโอกาสจะทำให้ผู้คนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเลในการช่วยลดภาวะโลกรวน ร่วมกันสร้างจิตสำนึกไม่ทำลายหญ้าทะเล และยังส่งผลในเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งธรรมชาติทั้งผู้คนอย่างเป็นระบบ”

ทั้งนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัย 18 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง, สงขลา, ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, สงขลา, ภูเก็ต ,ตรัง , ม.หาดใหญ่ , มรภ.สงขลา, มรภ.สุราษฎร์ธานี, มรภ.นครศรีธรรมราช, มรภ.ภูเก็ต, ม.บูรพา จ.ชลบุรี, วิทยาเขตจันทบุรี, ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มทร.ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง, มรภ.ราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา, มรภ.รำไพพรรณี จ.จันทบุรี โดยมีการปลูกหญ้าทะเลกว่า 10,000 ต้น ปลูกป่าชายเลน 5,000 ต้น และปล่อยพันธุ์ปูม้ากว่า 100,000 ตัว เพื่อสร้างพื้นที่หญ้าทะเลและระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ ที่เกาะเสร็จ

โดยก่อนหน้านี้สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว ก็มีการลงพื้นที่ร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ในโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ที่หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี มาแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของสิงห์อาสาที่ทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ และพบว่าหญ้าทะเลที่ปลูกไปเมื่อต้นปี 2565 กว่า 20,000 ต้น สามารถฟื้นฟูและทำให้พื้นที่หญ้าทะเลในพื้นที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งกับระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่หลบภัย วางไข่ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยในปีนี้ก็จะเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่าเมื่อเกิดความร่วมมือจากองค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภายใต้นโยบาย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งมีพันธกิจในการดูแลทรัพยากรน้ำครอบคลุมทุกภูมิภาค ด้วยแนวทาง ESG สามารถช่วยป้องกันการเสียพื้นที่หญ้าทะเลประมาณ 500-700 ไร่ต่อปี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่นี้จะช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคใต้ ลดปัญหาโลกรวน พร้อมขยายพื้นที่ต่อในหลายจังหวัดชายทะเลทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เพราะเราเชื่อว่าธรรมชาติที่ถูกฟื้นฟูจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้ได้อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย

You Might Also Like