CSR

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ สมาคม maiA คืนผืนป่าต้นน้ำ บ้านเวียง ร้องกวาง แพร่ 91 ไร่ ผ่านโครงการ Care the Wild: “ปลูกป้อง Plant & Protect”

7 กรกฎาคม 2565…ภายใต้โครงการ Care the Wild: “ปลูกป้อง Plant & Protect” ที่ ต. บ้านเวียง อ. ร้องกวาง จ. แพร่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตร สมาคม maiA กรมป่าไม้ และภาคชุมชน ร่วมคืนผืนป่าบนพื้นที่รวม 91 ไร่ ใน ฟื้นฟูระบบนิเวศแก่พื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างแหล่งอาหารและสร้างรายได้แก่ชุมชนในท้องที่ 390 ครัวเรือน นำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในรูปแบบบริการทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ตั้งแต่ปี 2563 ใช้แพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) ที่มีกลไกการดำเนินงานด้วยการระดมทุนในการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ ด้วยกลไกธรรมาธิบาลการเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล เพื่อปลูกไม้ให้ได้ป่า โดยเริ่มต้นแปลงปลูกแห่งแรกที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นแปลงทดลองในปี 2562 ก่อนเปิดโครงการฯ และปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ด้วยความสนใจของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก เช่นเดียวกับครั้งล่าสุดที่ ต. บ้านเวียง อ. ร้องกวาง จ. แพร่ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ สมาคม maiA ขยายพื้นที่ป่าเพิ่มเติม

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งเป็นกลไกของการขับเคลื่อนพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” คู่กับการคำนึงความสำคัญการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลโลก การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อ 13 Climate action และขับเคลื่อนการทำงานด้วยข้อ 17 Partnerships for the goals

“ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ส่วนสำคัญจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ มีจิตอาสา โดยในโครงการนี้คนพื้นที่ที่จะร่วมดูแลป่า ปลูกแล้วไม่ลืม เราอยากให้อยู่กับเรานาน ๆ มีการติดตาม ช่วยให้ป่าเติบโตต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ยั่งยืนจริง ๆ จากงานวันนี้เป็นจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราอยากเป็นตลาดทุนสำหรับทุกคน และทุกเรื่องที่เราทำเกิดผลเป็นรูปธรรมจริง ๆ ซึ่งความร่วมมือในโครงการ Care the Wild มีความสอดคล้องในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG โดยนักลงทุนเองจะลงทุนอะไรก็ตาม จะเน้นบริษัทที่มีเรื่อง ESG ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันหมด การปลูกป้อง Plant & Protect ที่จังหวัดแพร่วันนี้ สามารถส่งผลกลับไปที่ภาพใหญ่ได้”

แต่ละพื้นที่ของป่าชุมชนจะมีเอกลักษณ์ จุดเด่น ด้านระบบนิเวศและการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างกัน องค์กรธุรกิจสามารถเลือกพื้นที่ในการสนับสนุนการปลูกไม้ได้หลากหลาย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เรียนรู้ระบบนิเวศร่วมกับชาวบ้านผู้รักษาป่าได้อีกด้วย ซึ่งพื้นที่นี้รวม 91 ไร่ สมาชิกในสมาคม maiA ก็เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกป้อง Plant & Protect

ผลการดำเนินงาน โครงการ Care the Wild: “ปลูกป้อง Plant & Protect” รวมถึง ต. บ้านเวียง อ. ร้องกวาง จ. แพร่

ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่สนใจร่วมระดมทุนปลูกป่า สามารถร่วมเป็น Active Sponsor – ทีมปลูกป้อง ด้วยการบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนในการปลูกไม้และดูแลป่าไม้ ต้นละ 220 บาท (1 ไร่ ปลูกได้ 200 ต้น) งบประมาณ 44,000 บาท / ไร่) โดย

1) ติดต่อเข้ามาที่โครงการ เลือกพื้นที่ป่าในโครงการฯ ที่ต้องการ โดยบริษัทสามารถลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ และพูดคุยกับองค์กรผู้ปลูกป่า (กรมป่าไม้) และชาวบ้านผู้อาศัยในชุมชนพื้นที่ป่า กับทีมงานโครงการฯ เพื่อรับทราบรายละเอียดข้อมูล การวางแผนปลูกป่า และบริหารจัดการร่วมกันในการปลูกป่า รวมถึงขั้นตอนติดตามผลการปลูกป่าร่วมกับชาวบ้าน

2) บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ บริจาคเงินเพื่อปลูกป่า ต้นละ 220 บาท (1 ไร่ ปลูกได้ 200 ต้น งบประมาณ 44,000 บาท / ไร่) และร่วมลงพื้นที่ปลูกป่าร่วมกันกับโครงการ และชาวบ้านในชุมชน : บริจาคปลูกต้นไม้ ต้นละ 220 บาท ประกอบไปด้วย ค่าต้นกล้า ค่าเตรียมดิน ค่าปุ๋ย ค่าปลูกเสริมทดแทนต้นไม้ที่ตาย ค่ากำจัดวัชพืช ค่าทำแนวกันไฟป่า ค่าทำระบบน้ำ ค่าพัฒนาชุมชน เป็นเวลา 10 ปี

3) ด้วยเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกต้องรอดและเติบโต 100% บริษัทและโครงการฯ ร่วมกันติดตามประเมินผลการปลูกป่า เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี โดยทุกปีจะมีการติดตามผล โดยบริษัทสามารถลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการเติบโต พูดคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาและสามารถต่อยอดดูแลป่าอย่างอื่นเพิ่มได้ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ข้อมูลของการติดตามการเติบโตต้นไม้ และความคืบหน้าต่าง ๆ จะนำเสนอที่ Application “Care the Wild”

ไตรสรณ์ วรญาณโกศล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) นำทีมผู้บริหารกว่า 40 บริษัทเข้ามาร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่จะต้องดูแลไปพร้อมกับชุมชน เพื่อให้ต้นไม้เติบโตแข็งแรงประมาณ 10 ปีนั้น ได้กล่าวถึงความประทับใจในโครงการที่ได้ลงมือทำร่วมกันหลายฝ่าย

“การมาวันนี้ ทำให้เราเห็นความร่วมมือที่จะช่วยกันลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เราร่วมช่วยแก้ไขได้ ที่นี่มีแหล่งน้ำ จะเป็นส่วนประกอบที่จะช่วยทำให้ต้นไม้เติบโตและยั่งยืน ผลที่ได้ตามมาไม่ได้มีเพียงเรื่องช่วยลดโลกร้อนเท่านั้น แต่มีผลต่อชุมชนให้เติบโตและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือการที่เขาจะปกป้องรักษาแผ่นดินที่หวงแหนที่เขาอยู่ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ดีที่ บจ. ใน maiA สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในมิติ ESG ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ลงตัว”

ข้อมูลป่าชุมชนบ้านอ้อย บ้านบุญเริง 91 ไร่ จังหวัดแพร่
• เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งติดกับแม่น้ำกำปอง แม่น้ำถาง ไหลรวมสู่แม่น้ำยม
• อัตลักษณ์ของป่าชุมชน “แหล่งต้นน้ำ เพิ่มผืนป่า ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”
• พื้นที่ป่าชุมชนบ้านอ้อย และ บ้านบุญเริง เป็นพื้นที่ติดกัน ประกอบไปด้วย 2 หมู่บ้าน 390 ครัวเรือน (ประชากร 1,264 คน)
• รวมพื้นที่ป่าทั้งหมด 2,843 ไร่ พื้นที่รอการปลูก 91 ไร่ ที่กรมป่าไม้นำเสนอแก่โครงการฯ แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่บุกรุก และชาวบ้านทวงคืนและขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน พื้นที่บางแห่งเป็นป่าเสื่อมโทรมรอการปลูก
• มีอ่างเก็บน้ำแม่ถางขนาดกลางบรรจุ 300 ล้านลูกบาศก์ รองรับการใช้เพื่อการเกษตร บริโภค ในเขต อ.ร้องกวาง และ อ.เมือง ได้ตลอดทั้งปีและมีทัศนียภาพสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ จ. แพร่
• สภาพพื้นที่ ดินเหนียวลูกรัง ป่าเต็งรัง มีความลาดชันพอประมาณ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเพราะปลูกพืชเชิงเดียวมาก่อน (เดิมปลูกข้าวโพด)
ประโยชน์จากการปลูกป่า
• เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำ แม่น้ำถาง และแม่น้ำกำปอง การปลูกป่าจะทำให้ชาวบ้านจำนวน 390 ครัวเรือน ประชากร 1,264 คน จะได้รับประโยชน์จากการปลูกป่าในด้านเกษตรกรรมและการพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่องท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์ ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว และประมงธรรมชาติ
แพขายอาหาร การเลี้ยงปลากระชัง เช่น ปลากดคัง ปลานิล ทับทิม
• การปลูกป่า 91 ไร่ จำนวน 18,200 ต้น สร้างระบบนิเวศที่ดี และช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก 162,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดซ์ออกไซต์เทียบเท่าต่อปี (Kg.CO e/ปี)

แม้ว่าการโครงกรนี้ใช้เวลา 10 ปี แต่การทยอยทำ จะสามารถเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของบจ.ได้ พร้อมจะสร้างความสนใจให้กับบจ.อื่น ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาชุมชน มีกิจกรรมต่าง ๆ นับเป็นความยั่งยืนที่ บจ.ตอบโจทย์ ESG

“สำหรับการสื่อสารกับร้อยกว่าบริษัท mai ที่เหลือ เราจะใช้ช่องทางที่ ทุก ๆ 2 เดือนจะมีประชุมของสมาคมฯ เราจะนำเรื่องนี้ไปเล่าให้สมาชิกฟัง นอกจากนี้เรามีกรุ๊ปไลน์ซีอีโอของบจ. maiเราจะนำสิ่งเหล่านี้โพสต์ลงไป มีคลิปรวมถึงภาพที่เห็น จากเดิม 7 ปีที่แล้ว พื้นที่เป็นเป็นสีน้ำตาล แต่ 7 ปีต่อมาเป็นสีเขียว แม้ว่ายังไม่ใช่ไม้ยืนต้น แต่วันนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความยั่งยืน ต้นไม้ยืนต้นมีคนในชุมชนดูแล มีอัตราการรอด และผลสัมฤทธิ์เด่นชัด”

ไตรสรณ์ ย้ำว่าจากวันนี้น่าจะเป็นกระแสตอบรับที่ดีจากสมาชิกใน mai ที่ทุกบริษัทสามารถช่วยโลกได้ นอกเหนือไปจากผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

“ระยะเวลาเริ่มต้นโครงการฯ ถึงปัจจุบัน เราได้พบว่า ในปีนี้สำหรับภาคธุรกิจ มีทั้งซื้อใหม่ หมายถึงบริษัทที่จดทะเบียน และบริษัททั่วไป ให้ความสนใจเป็น Active Sponsorมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนซื้อเพิ่มก็มีมากขึ้นเช่นสมาคม maiA ที่ขยายพื้นที่ปลูกป่าที่นี่เพิ่มเติมจากเดิม เรื่องต่อมาที่เราพบคือ ภาคธุรกิจที่เข้ามา มองโครงการ Care the Wild เป็นการ Engaged พนักงานในเชิงลึก โดยพนักงานเป็นเจ้าของต้นไม้เขาเอง และติดตามการเติบโตต้นไม้ได้ด้วยตัวเอง สุดท้ายเราได้พบว่า แพลตฟอร์มของโครงการฯ เป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปรวมกลุ่มมาปลูกต้นไม้ ซึ่งมีตัวอย่างจาก การเข้ามามีส่วนร่วมของ FC ของศิลปิน เป็น Happy Birthday Gift ให้กับนักแสดงเจมมี่ เจมส์ FC ระดมทุนกันมาได้มา 2 ไร่ เราไปปลูกต้นไม้ที่บ้านนาหวาย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่ง FC ถือว่าได้ทำบุญกับธรรมชาติให้กับคนที่เรารัก”

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายความเพิ่มเติม โครงการ Care the Wild: “ปลูกป้อง Plant & Protect” นับจากนี้ต่อไปจะไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่จะเป็นโครงการต้นแบบปรับวิธีการ ที่ธรรมชาติต้นไม้ทำหน้าที่ของเขา มนุษย์ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างเท่าเทียมในระบบนิเวศ “บริการธรรมชาติ” เป็นสิ่งที่คนต้องเริ่มคิด ให้ความเคารพ ระหว่างการเดินทางมาที่นี่เห็นเขาหัวโล้น เพราะถูกรุกรานพืชเชิงเดี่ยว การที่ผู้บริหาร นักวิชาการ พูดเรื่องนี้ต้อง Walk the Talk

การจับมือร่วมกันตั้งแต่ปลูกต้นไม้ถึงการดูแล 10 ปี มีกฎว่าห้ามตัดต้นไม้ อนาคตชุมชนอาจจะเป็นคนพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพร่วมกันได้ เพราะต้นไม้ที่ปลูกเป็นสิ่งที่ชุมชนเก็บกินและขายได้ เช่น ต้นม่อน ต้นสะเดา ต้นมะขามป้อม นอกจากนี้ชุมชนต้องการเรื่องการท่องเที่ยว ทุกคนมองว่าเป็นไปได้ในการเปิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ เมื่อป่ามา น้ำก็มา การศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ที่เป็นแหล่งน้ำไปจนถึงแหล่งเก็บน้ำ ไปถึงน้ำตก ส่งผลถึงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน เพราะฉะนั้นเมื่อภาคธุรกิจเข้ามาจะสามารถต่อยอด และสร้างความเข้มแข็งได้ นับเป็นความยั่งยืน Inclusive สามารถให้ศักยภาพท้องถิ่นเดินได้

“ในอนาคต เราน่าจะได้เห็นคือตีความ บริการธรรมชาติ ให้มีความแตกฉานบนหลักการความเท่าเทียมในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ เห็นว่าแพลตฟอร์มทั้งสาม Care the Wild ,Care the Whale ,Care the Bear น่าจะมีส่วนรวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ มี Benchmark อย่างไร ทำอะไรไปบ้าง ลดคาร์บอนเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้เรากำลังพัฒนา ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างความเข้าใจเรื่อง บริการธรรมชาติ” นพเก้ากล่าวในท้ายที่สุด

You Might Also Like