CSR

“ทะเลเพื่อชีวิต” ครั้งที่ 2 รอการปล่อยแสงจากคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์ทะเล @ PTTEP Teenergy ปีที่ 8 ชิงรางวัลรวม 9 แสนบาท

10 กันยายน 2565… เปิดรับสมัครนิสิต นักศึกษา ระดับ ปวส. และปริญญาตรี ในรูปแบบประเภททีม (ทีมละ 3 – 5 คน) ร่วมส่งผลงานนวัตกรรม ตั้งแต่วันนี้ – 15 กันยายน 2565 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย รับฟังเทคนิคและข้อคิดดีๆ กับกิจกรรม Workshop เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ และนำมาต่อยอดผลงานจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ประธานคณะกรรมการโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 8 เกี่ยวกับโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 8 และการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 2 (The 2nd Young Ocean for Life Innovation Challenge) ภายใต้แนวคิด “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) แนะนำเยาวชน ที่แจ้งเกิดจากผลงานนวัตกรรม “ทะเลเพื่อชีวิต” ครั้งที่1

ตัวแทนทีม Scraber ผู้ชนะเลิศ ในหัวข้อ Provide คือ อพินญา คงคาเพชร และปาริฉัตร เศียรอินทร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และตัวแทนทีม Green Grove รองชนะเลิศอันดับ 1 ในหัวข้อ Preserve คือ อัครพันธ์ ทวีศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  และ
กาญจน์หทัย ขันติยู จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยทีม Scraber มีพื้นเพเป็นคนในชุมชนประมง สนใจเรื่องปูนิ่มในช่วงเวลาที่สำคัญคือการลอกคราบ ขณะเดียวกันมีความสนใจเรื่อง AI ซึ่งจะช่วยในเรื่องการลอกคราบปูนิ่มได้อย่างแม่นยำ เรียลไทม์ ผ่านแอปฯบนมือถือ

ทีม Scraber ผู้ชนะเลิศการประกวด PTTEP Teenergy ปีที่ 7 หัวข้อ Provide
ผลงานที่ได้รับรางวัล : “The automatic warning of carb molting detection by application”
แนวคิดรายละเอียดผลงาน : การทำฟาร์มปูนิ่ม จำเป็นต้องอาศัย แรงงานคนที่มีความชำนาญ เป็นผู้ตรวจดูการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน เพื่อคัดแยกปูที่ลอกคราบ ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ โดยทางทีม Scraber จึงออกแบบระบบการตรวจจับการลอกคราบปูแบบอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน โดยอาศัยการตรวจจับเปรียบเทียบเม็ดสีขาวและสีดำ จากกล้อง CCTV ซึ่งจะเป็นการตรวจจับแบบเรียลไทม์ ซึ่งภายในแอปพลิเคชันจะระบุข้อมูลทั่วไปของฟาร์ม ภาพกล่องเก็บปูนิ่มแบบเรียลไทม์ และแสดงอัตราการลองคราบของปูนิ่มในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงแนวโน้มของผลผลิตและทำการบริหารจัดการฟาร์มต่อไปสะดวกยิ่งขึ้น
รายชื่อสมาชิก
1.อพินญา คงคาเพชร (กลาง) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2.ปาริฉัตร เศียรอินทร์ (ขวา) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3.ธนยศ จุลภักดิ์ (ซ้าย) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4.จักรพันธ์ ปาทาน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5.รชนิชล ยังพลขันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมวัสดุนาโน วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ส่วน Green Grove เคยมีประสบการณ์โดยตรงทั้งที่ทำเอง และเป็นโค้ชให้นักศึกษาจากต่างประเทศในเรื่องการปลูกป่าชายเลน และก็พบปัญหาทุกครั้งคือ การนำต้นกล้าโกงกางออกจากุงพลาสติกค่อนข้างยาก ทำให้อัตราการรอดของต้นโกงกางต่ำ และยังมีเรื่องถุงพลาสติกที่กลายเป็นขยะ จึงเป็นที่มาของของการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคือเปลือกข้าวโพดมาปั๊มขึ้นรูปทดแทนถุงพลาสติก รวมถึงการใช้เปลือกหอยมาใช้ได้เช่นกัน

ทีม Green Grove รองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวด PTTEP Teenergy ปีที่ 7 หัวข้อ Preserve
ผลงานที่ได้รับรางวัล : “IMPOT ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะเพื่อการจัดการป่าชายเลนอย่างมีระบบ”
แนวคิดรายละเอียดผลงาน : ปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจฟื้นฟูป่าชายเลนมากขึ้น จึงนิยมเพาะชำต้นโกงกางใบใหญ่ในถุงเพาะปลูกพลาสติก แต่ประสบปัญหาการนำต้นกล้าออกจากถุงได้ค่อนข้างยาก จึงทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดชีวิตต่ำ และถุงเหล่านั้นจะกลายเป็นขยะในภายหลัง ซึ่งทีม Green Grove ได้ประดิษฐ์ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ ภายใต้ซื่อว่า “IMPOT” ซึ่งมาจากคำว่า Intelligence และ M มาจากคำว่า Mangrove โดยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่าชายเลนด้วยต้นโกงกางใบใหญ่ และลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติก โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง วัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร และเปลือกหอย มาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุดินหรือต้นกล้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบและยั่งยืน
รายชื่อสมาชิก
1.อัครพันธ์ ทวีศักดิ์ (ที่ 3 จากซ้าย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา หลักสูตรนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2.กาญจน์หทัย ขันติยู (ที่ 2 จากซ้าย) นักศึกษาชั้นปี 3 คณะครุศาสตร์ 
สาขาเทคโนโลยีการศึกษา เอกเทคโนโลยีการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ชานนท์ ลาภหลาย (ที่ 1 จากซ้าย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.จิราพร ขุมดินพิทักษ์ (ที่ 4 จากซ้าย) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.สุขิตา ภูชะธง (ที่ 5 จากซ้าย) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชยงค์กล่าวว่า ทั้งสองทีมอยู่ในเกณฑ์การประกวดเช่นเดียวกับทีมอื่น ๆ 3 หัวข้อ ได้แก่

1.Protect: การปกป้องท้องทะเล จากภัยคุกคามต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤติระดับโลก 3 ด้าน ได้แก่ มลภาวะจากขยะและน้ำเสีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

2.Preserve: การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

3.Provide: การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามรูปแบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจ สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

“นอกจาก 3 P ดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการจะดูเรื่องนวัตกรรมนั้น ตอบโจทย์ปัญหาชัดเจนอย่างไร มีความคิดสร้างสรรค์ สุดท้ายเป็นเรื่องการนำเสนอ ซึ่งเรามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมก้าวสู่การเป็นนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์ และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย”

ชยงค์กล่าวต่อเนื่อง การประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 2 (The 2nd Young Ocean for Life Innovation Challenge) จัดในรูปแบบการประกวดประเภททีม (ทีมละ 3 – 5 คน) โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 15 ทีม จะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ในรูปแบบไฮบริด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาต่อยอดผลงานจากนักวิชาการและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ เป็นหนึ่งในคณะการตัดสินการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในครั้งนี้ร่วมกับ บุษบรรณ จีนเจริญ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ปตท.สผ. ไพรัตน์ สุทธิพล ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด

ขณะนี้ ทั้งสองทีมที่กล่าวข้างต้น กำลังอยู่ในช่วงนำนวัตกรรมมาต่อยอด ซึ่งตัวแทนทั้งสองทีมเห็นตรงกันในสิ่งที่ได้จากเวที การประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 1 คือกระบวนการทางความคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ และมีผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน นับเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเยาวชนในสองทีมมีมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมหลังจากที่ร่วมโครงการ

“เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เทรนด์ เพราะสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกคน สิ่งแวดล้อมไม่ดีชีวิตเราก็ไม่ดีไปด้วย ดังนั้นสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทุกอย่าง จึงต้องตระหนักและสนใจในสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อม อาจจะคิดว่าคนเดียวทำเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่เห็นผล หากทุกคนร่วมมือกัน เราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะเชื่อว่าไม่มีพระหัตถ์ของพรเจ้าองค์ไหนที่จะรังสรรค์โลกใบนี้ไว้ได้ มีเพียงคู่มือกว่า 7 พันล้านคู่ที่จะสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไป”

ชยงค์กล่าวในท้ายที่สุด ปตท.สผ. มีเป้าหมาย Net Zero 2050 โดยทะเลที่สมบูรณ์จะเป็นแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนฯ ได้เป็นอย่างดี และเมื่อระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ หมายถึงสัตว์น้ำพืชต่าง ๆ ที่จะช่วยเติมเต็มให้สิ่งแวดล้อม รวมวิถีชุมชนและสังคมซึ่งเป็นห่วงโซ่คุณค่าของกันและกันต่อไปที่คนรุ่นใหม่จะต้องดูแล

ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศในแต่ละหัวข้อ จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 130,000 บาท และเงินรางวัลพิเศษสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดอีกทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตรรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 70,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 900,000 บาท ผู้สนใจสามารถสมัครพร้อมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ –15 กันยายน 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารได้ที่ www.facebook.com/pttepcsr

 

You Might Also Like