CIRCULAR ECONOMY

มองต่าง! เทรนด์อาหารไม่ใช่อย่างที่คิด

5 ตุลาคม 2561…เวที Global Business Dialogue 2018 โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และกระทรวงการต่างประเทศ เผยเรื่องหนึ่งคืแ The Future of Food ต้องเน้นกระบวนการผลิตเพื่อสร้างความยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

Global Business Dialogue 2018 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้หัวข้อ Innovating the Sustainable Future เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกให้ยั่งยืน และก้าวสู่ Sustainable Development Goals (SDGs)

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ เป็นเรื่องอาหาร เพราะด้วยประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนเป็น 8,500 ล้านคนนั่นหมายความว่าจำนวนอาหารที่ผู้คนทั่วโลกบริโภคต้องทวีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เวที Global Business Dialogue 2018 ยังชี้เทรนด์ Circular Economy : The Future of Food โดย มาร์ค บัคลี่ย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Adaptive Nutrition Joint ซึ่งผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ได้นำเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยในเรื่องของกระบวนการผลิตและการบริหารธุรกิจ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้คำปรึกษาด้านระบบนวัตกรรม การรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ ออร์แกนิค และผลิตภัณฑ์ กล่าวถึงเทรนด์อาหารแห่งอนาคตว่า

“ปกติเวลาที่คนทั่วไปพูดถึงเทรนด์อาหารโลก หลายคนมักพูดถึงเทรนด์การรับประทานอาหารวีแกน กีโต มังสวิรัติ ออร์แกนิก หรือการบริโภคอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล แต่ผมคิดว่าอาหารแห่งอนาคต (The Future of Food) ควรหันมาให้ความสำคัญกับการคิดค้นกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนมากกว่าประเภทของอาหาร และควรทำในลักษณะเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ยังทำให้แร่ธาตุและวิตามินของอาหารยังอยู่ครบ สูญเสียทรัพยากรให้น้อยที่สุด และหาทางนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่”

มาร์ค เล่าต่อเนื่องอาหารถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นมากที่สุดซึ่งอยู่ใต้ฐานปิรามิด หากคนในสังคมผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืนแล้วก็จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านอื่นๆ ตามมา

“ก่อนอื่นทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า Circular Economy คืออะไร Circular Economy คือเศรษฐกิจแบบระบบปิด (Close Loop) นั่นหมายถึง การทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีขยะ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และตั้งราคาที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงซึ่ง Circular Economy สามารถทำได้ทั้งในระดับบุคคล ภาคธุรกิจ สังคม ประเทศ และนำมาประยุกต์ได้ทั้งทุกภาคส่วน”

ในระดับบุคคล มาร์คอธิบายว่า แค่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และทำให้เกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ส่วนภาคธุรกิจ ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องคิดแทนผู้บริโภคด้วยการหาวิธีที่ทำให้สินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิตนั้น ย่อยสลายให้ได้มากที่สุด หรือนำมากลับมาใช้ใหม่อย่างไรได้บ้าง เช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มอาจจะใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วแทนพลาสติก โดยใช้น้ำฝนในการล้างบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาบรรจุใหม่ หรือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เฉพาะที่สามารถนำไปเติมเครื่องดื่มได้ตามตู้กดเมื่อต้องการ เป็นต้น

มาร์ค ยกตัวอย่าง กระบวนการผลิตอาหารตามแนวคิด Circular Economy ว่าที่ผ่านมาบริษัทมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเองเป็นแห่งแรก เช่น การทำเกษตรหากปลูกพืชผัก ก็ต้องมีการเลี้ยงปลาด้วย การทำการเกษตรแนวดิ่ง (Vertical Farming) ด้วยการนำน้ำฝนมาใช้รดน้ำต้นไม้ นับได้ว่าเป็นการทำการเกษตรระบบปิดที่นำทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้มาใช้ในการผลิตอาหาร โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปตลอดทั้งปี ทำให้สามารถปลูกผลการผลิตได้ถึง 30 ครั้ง ถ้าเทียบกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่พึ่งพึงธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการผลิตทางเลือกอีกมายมายที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารอันเกิดจากวิธีการทำการเกษตรหรือประมงที่ไม่มีความยั่งยืน (เช่น Over Fishing) และมีการนำมาทำแล้วในหลายประเทศ เช่น การปลูกพืชควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา ( Aquaponics ) การทำฟาร์มแนวดิ่ง (Vertical Farming) เนื้อสัตว์เทียม (Memphis Meats) และการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-Based Meat) เป็นต้น

สำหรับแนวทางการประยุกต์ Circular Economy มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยนั้น มาร์ค ได้ยกตัวอย่างจากเวที World Economic Forum ที่มีนวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงการกระบวนการผลิตอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ในประเทศไทยได้ เช่น Safety Net เป็นนวัตกรรมอวนที่มีแสงสเปกตรัมเฉพาะที่ถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดประเภทปลาที่ผู้ประกอบการต้องการ ช่วยป้องกันปลาประเภทอื่นที่ไม่ต้องการติดอวนขึ้นมา

“ปัญหาการประมงทุกวันนี้ คือ ชาวประมงใช้อวนตาถี่ที่ทำให้สัตว์น้ำทั้งที่ต้องการและไม่ต้องการติดอวนขึ้นมา และชาวประมงจะเลือกเฉพาะที่ตัวเองต้องการเท่านั้น และทิ้งสัตว์ทะเลชนิดอื่นที่ไม่ต้องการลงทะเล ซึ่งสัตว์เหล่านั้นก็จะตายโดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แต่ Safety Net เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้สีที่เป็นสเปกตรัมต่างๆ โดยมีการศึกษากันว่าสปีชีส์ไหนมองเห็นแสงสีอะไร ก็ใช้แสงสีนั้นล่อให้มาติดอวนอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฝนตกชุก และมีอากาศชื้น ควรนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น เก็บความชื้นในอากาศในเมืองมาแปรเป็นขั้นตอนหนึ่งในการผลิตเครื่องดื่มได้”

มาร์คเสนอแนวทางปฏิรูปกระบวนการผลิตอาหารในระดับโลก เพราะทุกวันนี้ในทุกๆ การผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะมีของเหลือจากการผลิตมากถึง 1 ใน 3 ของเหล่านี้ถูกทิ้งไปโดยไม่ถูกกลับนำมาใช้ประโยชน์ และวิธีที่ผู้บริโภคทิ้งมี 3 ทางด้วยกันคือ ฝังกลบ เผา และทิ้งลงน้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผืนดินขาดออกซิเจน ก่อให้เกิดแก๊สมีเทนที่ทำให้เกิดความร้อนมากยิ่งกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังเท่ากับว่าโลกสูญเสียทั้ง 2 รูปแบบคือ ทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานของคนที่ผลิต/ทำการตลาดพลังงานที่ใช้ในการผลิตและขนส่ง

ท้ายที่สุดมาร์ค ให้แง่คิดอย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ มักมีวิธีคิดเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด แต่นั่นอาจหมายถึงการเข้าไปเพิ่มต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโลกหลายเท่า

“ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหากระบวนการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งผมยอมรับว่ามันค่อนข้างมีความซับซ้อนและเป็นระบบซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ แต่หากทุกคนหาเจอแล้ว นอกจากจะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย พิสูจน์ได้จากผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ของผมได้ผลิตขึ้นมา พบว่าวิธีการผลิตเพื่อความยั่งยืนไม่ได้ใช้ต้นทุนมากเช่นในอดีต”

 

You Might Also Like