CIRCULAR ECONOMY

“ส่งพลาสติกกลับบ้าน”โมเดลนำร่องเกิด Circular Hotspot ถนนสุขุมวิทแห่งแรก

19 พฤษภาคม 2563…โมเดลต้นแบบการเรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ จากความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐและภาค และประชาชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์การ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา”

น่าจะเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญของผู้นองค์กรหลากหลายส่วนมี Commitment ร่วมกันในการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เมื่อดูจากผู้ที่มาร่วมงานไม่ว่าจะเป็น

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย(TRBN) ดร.คงกระพัน อิทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสิทธิ์ บุญดวงประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บุญชู สถิตมั่นในธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด ณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 และการ Lockdown ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในประเทศไทย ตามรายงานกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดพบว่า พฤติกรรมของประชาชนที่จำเป็นต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกจากกล่องอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 15% ต่อวัน (จาก 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน)

ขณะที่เวลาปกติในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือ Recycle ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก Recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) และภาคีต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครบวงจรและยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รณรงค์ประชาสัมพันธ์การ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” และให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง เพื่อความปลอดภัยของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ ลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ Recycle/Upcycle ของบริษัทเอกชน และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เกิดขึ้นได้จริง

วราวุธ กล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ว่า ด้วยแนวทางการทำงานในวันนี้ เราสามารถที่จะแปรรูปพลาสติกที่เราไม่ใช้แล้ว ตอนนี้เรามีความคิดว่าเราส่งพลาสติกกลับบ้าน มาเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นบุญ เช่น ทาง GC นำพลาสติกมา upcycle มาเป็นเสื้อยืด ของเล่น วัสดุต่าง ๆ รวมไปถึงจีวรพระ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำให้เต็ม Loop ได้

GC จะร่วมสร้างกลไกให้เกิดการคัดแยกที่ถูกต้อง โดยการร่วมสร้างจุดบริการรับฝากขยะ (Drop point) กับพันธมิตร ซึ่งการจัดการขยะนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคน ด้วยการคัดแยกขยะพลาสติกและทำความสะอาดก่อนทิ้งอย่างถูกต้องจากนั้นขยะพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกนำมาเข้าโรงงานรีไซเคิล เพื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยพลาสติกและเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ จากนั้น ผ่านโรงงานแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และ อัพไซเคิล วนกลับสู่ผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ขยะที่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับสร้างสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับอาชีพคนรับจ้างเก็บขยะ และยังเป็นการสร้างธุรกิจรีไซเคิลคุณภาพสูงให้เกิดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

GC เชื่อมั่นในเรื่องความยั่งยืน และนำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดย GC มีทางออกให้กับทุกคน

1.Bioplastics – ฝังกลบ แล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2.พลาสติกมีประโยชน์ – ใช้ให้เป็น ทิ้งให้ถูก
3.ความร่วมมือ – เกิดเป็น Ecosystem ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยการทำให้สำเร็จต้องเริ่มจากที่บ้าน เชื่อว่า New Norm คือ พลาสติกเป็นสิ่งมีประโยชน์แต่ต้องถูกจัดการอย่างถูกต้อง GC ยินดีแชร์องค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการขยายผล

“GC ในฐานะ Total Solution Provider เดินเคียงข้างภาครัฐ และภาคีพันธมิตรเพื่อขยายผลต่อยอดในเชิงพื้นที่ และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตต่อไป” ดร.คงกระพันย้ำถึงบทบาท GC

รื่นวดี กล่าวถึง โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ต้องขอขอบคุณ TRBN ที่ริเริ่มโครงการและได้เชิญชวนให้ ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งเป็นการจัดการปัญหาพลาสติกที่ตรงจุดและทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน สนับสนุนและมีส่วนร่วมในโครงการนี้ต่อไป

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” แสดงให้เห็นว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เกิดได้จริง แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ภาครัฐทำเองไม่ได้ ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็ไม่ได้
ต้องอาศัยการจับมือของหลายบริษัทตลอดห่วงโซ่พลาสติก และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคัดแยกพลาสติกที่ต้นทาง อีกทั้งการสนับสนุนผลักดันของภาครัฐ

พิมพรรณ กล่าวต่อเนื่อง “เราจึงรวมตัวกันพัฒนาเป็นโครงการนำร่องบนถนนสุขุมวิทและเปิดจุด drop point มีกระทรวงทรัพยากรฯ ภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาคประชาสังคมและวิชาการ รวม 24 องค์กร จับมือกัน เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วจากผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการ Recycle แปรรูปเพื่อส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง หรือเรียกว่าปิด Loop”

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นนำร่อง 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2563 โดยมีการตั้งจุดรับพลาสติกจำนวน 10 จุดในถนนสุขุมวิท ได้แก่

1.Emporium
2.EmQuartier
3.Singha Complex
4.Bambini Villa
5.Broccoli Revolution
6.A Square
7.The Commons
8.Tesco Lotus สุขุมวิท 51
9.CP Fresh Mart เพชรบุรี 38/1 (สุขุมวิท 39)
10.Veggiology

ทั้งหมด รับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ทำความสะอาดเรียบร้อยจากประชาชนทั่วไป และมีแอพพลิเคชั่น ECOLIFE เก็บแต้มสะสมแลกของสมนาคุณต่าง ๆ มีผู้สนับสนุนระบบ Logistics ผู้ดำเนินธุรกิจ Recycle/Upcycle และ Brand Owners ที่มีนโยบายเรื่องการเรียกคืนขยะพลาสติกที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีผู้สนับสนุนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และมีนักวิชาการมาร่วมออกแบบการเก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียน เพื่อการต่อยอดขนาดผลต่อไป รวมมีภาคีจาก 24 องค์กร ประกอบด้วยภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ

ถือเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อ Close Loop นำพลาสติกจากผู้บริโภคส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการให้สามารถแปรรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน

ช่องทางติดต่อ

 

You Might Also Like