CIRCULAR ECONOMY

“กรีนพหลโยธิน” ชู E-Waste ชาเลนจ์รักษ์โลก ก่อนชวนเพื่อนๆ ถนนเส้นอื่นร่วมด้วย

15 กรกฎาคม 2563… เอไอเอส ผนึก13 องค์กรชั้นนำบนถนนเส้นพหลโยธิน ทำภารกิจครั้งสำคัญเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน”


นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าส่วนงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส พร้อมด้วย นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิดคิด จำกัด ร่วมกันเล่าถึงการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และทิ้งให้ถูกที่ โดยเฉพาะการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste)

“E-Waste ประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กล้องถ่ายรูป และเครื่องเล่น MP3 มาทิ้งได้ที่ถังรับ E-Waste ที่ AIS Shop ทั่วประเทศ, AIS Telewiz, ที่ทำการไปรษณีย์ไทย, ศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล, มหาวิทยาลัย, อาคารชุดและคอนโดต่างๆ รวมกว่า 1,800 จุด”

นัฐิยากล่าวต่อเนื่องจากปี 2562 ที่เริ่ม โครงการ คนไทยไร้ E-Waste ถึงปัจจุบัน สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนทั้งสิ้น 51,786 ชิ้น เทียบเท่าการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 517,860 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ โดยทางเอไอเอส จะนำขยะ E-Waste ที่เก็บรวบรวมได้จากโครงการทั้งหมด ไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill (การจัดการขยะทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีกครั้ง) ผ่านทางบริษัท เทส จำกัด

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกปี สวนทางกับปริมาณขยะที่ได้รับการจำกัดอย่างถูกวิธี ขยะที่หลงเหลือเหล่านั้นอาจส่งสารพิษ กลับมาทำลายสุขภาพ และก่อให้เกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“ความท้าทายของเอไอเอสคือ การตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ หรือเทียบเท่าการนำขยะ E-Waste ไปกำจัดอย่างถูกวิธีรวม 500,000 ชิ้น ภายในปี 2563 เอไอเอส จึงได้จัดชาเลนจ์เพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่ ชวนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมชาเลนจ์ 
 E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน ประเดิมการแข่งขันนัดแรกกับมหามิตร กรีนพหลโยธิน 13 องค์กร ชั้นนำบนถนนเส้นพหลโยธิน”

“กรีนพหลโยธิน” เป็นกลุ่มองค์กรที่จัดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับ 13 องค์กร ภาครัฐและภาคเอกชน บนถนนเส้นพหลโยธิน ประกอบด้วย สำนักงานเขตพญาไท, สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ, โรงพยาบาลพญาไท 2, บุญเติม, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, ธ.ออมสิน สำนักงานใหญ่, ธ.กสิกรไทย สำนักพหลโยธิน, ธ.กรุงไทย สาขาซอยอารีย์, ธ.เกียรตินาคิน สาขาพหลโยธิน, ธ.ยูโอบี สาขาถนนพหลโยธิน 8, ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารี, IBM และ Exim Bank เพื่อที่จะร่วมรณรงค์ ผลักดันให้เกิดการคัดแยกและทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี โดยกิจกรรมชาเลนจ์ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยทำภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกันในปีที่ผ่านมา

การสร้าง Awareness ด้วยกิจกรรม “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” เอไอเอสได้ทำงานร่วมกับ บริษัท คิดคิด จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของ ecolifeapp สามารถติดตามปริมาณการทิ้งของแต่ละองค์กรได้แบบเรียลไทม์ ผ่าน www.ecolifeapp.com

“ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทิ้งขยะ E-Waste สร้างความสนุกให้กับทุกการทิ้ง ซึ่งจะได้ทั้งช่วยโลก ได้ทำบุญ และได้ ECO POINT คะแนนสะสมสำหรับสายกรีน ซึ่งสามารถนำไปแลกของพรีเมี่ยมผ่านแอปพลิเคชัน ECOLIFE ได้”

พิพัฒน์ขยายความต่อเนื่อง การแข่งขันจะแบ่งองค์กรในกรีนพหลโยธินออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ทีม A และ ทีม B ทั้งสองทีมจะต้องเชิญชวน พนักงาน ลูกค้า หรือผู้เข้ามาติดต่อให้เข้ามาร่วมทิ้งขยะ E-Waste ที่จุดรับทิ้งของแต่ละองค์กร เริ่มนับคะแนนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยทีมที่ชนะและทีมที่แพ้จะได้รับเงินบริจาค เพื่อนำไปให้กับองค์กรหรือมูลนิธิที่เลือกไว้ ซึ่งเอไอเอส จะร่วมสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

“นอกจาก E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน จะเริ่มที่เครือข่ายกรีนพหลโยธินแล้ว ก็จะมีโอกาสที่จะขอชาเลนจ์หลาย ๆ องค์กรบนถนนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อการทิ้งขยะ E-Waste ได้ถูกที่เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”

นัฐิยากล่าวในท้ายที่สุดถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากองค์กรเครือข่ายกรีนพหลโยธิน ที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการทิ้งและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างไม่ถูกวิธี เอไอเอส ยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่าย ขับเคลื่อนความร่วมมือที่ดีๆ แบบนี้ทั่วประเทศ

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์กรเครือข่ายกรีนพหลโยธินจะเป็นต้นแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

You Might Also Like