CIRCULAR ECONOMY

แนวคิด “การสร้างเงิน” จากสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “ขยะ”

29 ตุลาคม 2562…รีไซเคิลขวดพลาสติก rPET และ rHDPE รองรับลูกค้าในตลาดหลากหลาย  อาทิ ขวดรีไซเคิลใส่น้ำดื่ม เครื่องดื่มในต่างประเทศ ขวดรีไซเคิลบรรจุน้ำยาต่าง ๆ ใช้ในครัวเรือน  รวมถึงเป็นเป็น สิ่งทอ เส้นใย ผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอีกหลากหลาย

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่โรงงานในจังหวัดนครปฐม ได้ดำเนินการรีไซเคิลครบวงจรในประเทศไทยมานานกว่า 5 ปีดังที่กล่าวข้างต้น โดยในปี 2561 สามารถรีไซเคิลขวด PET กว่า 1.65 พันล้านขวดต่อปี ช่วยประเทศไทยลดการใช้น้ำมันดิบกว่า 530,000 บาร์เรล ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกซ์มากถึง 118 ล้านกิโลกรัม พร้อมเผยกำลังพัฒนานวัตกรรมเคมิคอลส์รีไซเคิลร่วมกับผู้นำเทคโนโลยีในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไอวีแอลในฐานะผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2554 โดยการเข้าซื้อกิจการเวลแมน อินเตอร์เนชั่นแนล (Wellman International) ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิล PET ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นผู้นำในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์สั้น และเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) เพื่อตอบสนองความท้าทายในการจัดการพลาสติกใช้งานแล้ว และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน​ (Circular Economy) อย่างเป็นรูปธรรม

“ปัจจุบัน อินโดรามา เวนเจอร์ส มีโรงงานรีไซเคิล 11 แห่งทั่วโลก ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก รวมถึงโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งไอวีแอลได้ก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์และพลาสติก PET ครบวงจรในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.​2557 และเป็นโรงงานรีไซเคิลแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากยุโรป ภายใต้บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จังหวัดนครปฐม”

ริชาร์ด โจนส์ และ อนิเวช ติวารี

โรงงานรีไซเคิลที่จังหวัดนครปฐมแห่งนี้ ตั้งอยู่บนที่ดิน 90 ไร่ ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลขวดพลาสติก ผลิตเส้นใยและเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) โดยมีกำลังผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ จำนวน 120,000 ตันต่อปี และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 29,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับลูกค้าในตลาดหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ เส้ยใย และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีของเวลแมน อินเตอร์เนชั่นแนล จากยุโรป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านรีไซเคิลอันดับต้นๆ ของโลก และเทคโนโลยี Gneuss และเทคโนโลยี Buhler จากเยอรมัน

อนิเวช ติวารี หัวหน้าโรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ นครปฐม ขยายความต่อเนื่อง สำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับโลก ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) ระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร (FCSS 22000) นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นกระบวนการควบคุมและประกันคุณภาพการรีไซเคิลอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุด

“ในแต่ละวันขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้ว ซึ่งถูกบีบอัดเป็นกองพลาสติกขนาดใหญ่และผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วกว่า 100 ตัน จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลของโรงงานแห่งนี้ โดยนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคัดแยก นำสิ่งแปลกปลอมทุกชนิดออก แล้วล้างทำความสะอาดขวดพลาสติกหลายขั้นตอน กำจัดเชื้อโรคและขจัดสิ่งปนเปื้อนออก และสับละเอียดเป็นเกล็ดพลาสติก ก่อนที่จะใช้ความร้อนสูงถึง 285 – 300 องศาเซลเซียสเพื่อนำเกล็ดพลาสติกไปหลอมต่อ เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิลคุณภาพสูงสุด ทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงานของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มไปจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ และออสเตรเลีย”

เพื่อสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับวัสดุที่ใช้งานแล้ว รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม กระบวนการรีไซเคิลของไอวีแอล จึงได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถสามารถจัดการกับวัสดุอื่นๆ นอกจาก PET ได้ด้วย เช่น ฝาขวด HDPE และฉลาก PP เป็นต้น พลาสติกประเภทดังกล่าวจะถูกแยกและนำไปรีไซเคิลในอีกกระบวนการหนึ่ง ส่วนฉลาก PVC ซึ่งปัจจุบันได้จ้างบริษัทรับจัดเก็บตามข้อกำหนดของรัฐบาล อยู่ระหว่างการคิดค้นวิธีนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ น้ำที่ผ่านการบำบัดภายในโรงงานสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึงร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ภายในโรงงานอีกด้วย

ปัจจุบัน ลูกค้าของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีความต้องการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตระหนักถึงการใช้พลาสติกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น หลาย ๆ ภาคส่วนจึงหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

ประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งสมาชิกทั้ง 28 ประเทศ ยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แสดงให้เห็นว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มาตรฐานและปลอดภัยที่จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดยประเทศเยอรมนีมีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรป มากถึงร้อยละ 94 ส่วนในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุด มากถึงร้อยละ 83

ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ตั้งเป้าหมายการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เพิ่มขึ้นเป็น 750,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประกาศเป้าหมายที่จะให้เพิ่มสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) เป็นร้อยละ 25 ของเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยในแต่ละปี เพียงแค่โรงงานของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในจังหวัดนครปฐมแห่งนี้แห่งเดียว สามารถรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ได้ถึง 1.65 พันล้านขวด

ช่วยประเทศไทยลดการใช้น้ำมันดิบกว่า 531,269 บาร์เรล ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกซ์มากถึง 118 ล้านกิโลกรัม ลดปริมาณของเสียประเภทพลาสติก PET ที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบเพื่อกำจัดและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ (The UN Sustainable Development Goals) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรและการผลิตอย่างยั่งยืน (SDG12)

ปัจจุบัน ไอวีแอลกำลังร่วมมือกับ 2 สตาร์ทอัพระดับโลก ได้แก่ Loop Industries ในอเมริกาเหนือ และ Ioniqa ในยุโรป พัฒนานวัตกรรมเคมิคอลส์รีไซเคิล ซึ่งจะสามารถทำให้ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วแตกตัวจนถึงระดับโมเลกุลพื้นฐาน โดยเทคโนโลยีนี้จะทำลายข้อจำกัดในการรีไซเคิล PET ที่มีสี ซึ่งเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมรีไซเคิลมายาวนาน ทั้งนี้คาดว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทั่วโลกนี้จะสำเร็จในปี พ.ศ. 2563 และจะส่งเสริมความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีเพื่อสังคม ตามวิสัยทัศน์ของไอวีแอล

งามแวววาวประดุจเพชร หลังผ่านการรีไซเคิล พร้อมกลับสู่การใช้งานในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นเส้นใย รวมถึงขวด PET บรรจุน้ำดื่ม

“พลาสติก PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดในหลายรูปแบบ หากนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มด้วย ยิ่งมีการนำพลาสติก PET กลับมาใช้ใหม่ได้มากเพียงใด ก็จะทำให้ความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลด้วยการสร้างรายได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และผลักดันให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย” ริชาร์ด กล่าวสรุป

 

 

You Might Also Like