ALTERNATIVE

13 แบรนด์ร่วม “สร้างไลฟ์สไตล์” เพื่อช่วยลด Climate Change

29 สิงหาคม 2563…ทุกแบรนด์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ย่อมมีแนวคิดเรื่อง Climate Change อยู่ในกระบวนการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะต้องทำสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็กเยาวชนที่จะผู้อยู่บนโลกใบนี้ต่อไป รวมถึงการตอบคำถามและตัวชี้วัดเรื่องสิ่งแวดล้อมของบริษัท ที่ผู้บริหารจะต้องตอบนักลงทุนสถาบัน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ขยายผลปฏิบัติการ “คนไทยไร้ E-Waste” จับมือพันธมิตร ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ หูฟัง นำไปกำจัดอย่างถูกวิธีอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการ Zero Landfilled

ล่าสุดผนึกกำลังกับ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เจ้าบ้านเปิดพื้นที่วางกล่องรับขยะ E-Waste ในสาขาธนาคาร เป็นการร่วมรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และบอกต่อการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมใจคัดแยก E-Waste และนำไปทิ้งในจุดรับทิ้งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,800 จุด

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันไทยพัฒน์ประกาศให้กรุงศรีติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2563 ด้วยการคัดเลือกจาก 803 หลักทรัพย์จดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ให้เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) โดยการจัดอันดับพิจารณาข้อมูลจากการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งกรุงศรีได้ให้ความสำคัญกับทุกบริบทตามแนวทางการธนาคารอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking) มาโดยตลอด”

ทั้งนี้ กรุงศรี (ชื่อหลักทรัพย์ “BAY”) เป็นบริษัทที่เข้าอยู่ในทำเนียบ ESG100 ในปีแรกปีพ.ศ. 2558 และในปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาแนวใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นำโดย ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการองค์กร, วรวรรณ ติณสูลานนท์ รองผู้จัดการสำนักประชาสัมพันธ์, ดวงรัตน์ มหาวนิช รองผู้จัดการสำนักประชาสัมพันธ์ และสุภิดา ฉัตราภิรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยนักแสดงจากละคร 2 เรื่อง ละคร “ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋” อาทิ หญิง-รังสิกานต์ โรจน์ชีวิน และเชน-เตชินท์ ปิ่นชาตรี และนักแสดงจากละคร “วาสนารัก” อาทิ ไมเคิล ฟันเดอคาสเตเลอร์ และอ๊ะอาย-กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ พร้อมพี่น้องพนักงานช่อง 3 ได้ร่วมกันทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล และเรียนรู้การคัดแยกขยะ และยังมีกิจกรรมรีไซเคิลที่สอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตอกย้ำความเป็นสถานีรักษ์โลก ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ช่อง 3 อาสาทำดี ผ้าป่าขยะรีไซเคิล…สร้างบุญ” ณ วัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รับผ้าป่าขยะรีไซเคิลที่เป็นขวดน้ำพลาสติกใหญ่เล็กกว่า 1,700 ขวด ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นผ้าจีวรได้กว่า 60 ผืน รวมทั้งฝาขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และอื่นๆ ทั้งนี้คณะยังได้ร่วมถวายผ้าจีวรและผ้าห่มที่ผลิตจากขวดน้ำพลาสติก และเงินทำนุบำรุงวัดที่ได้จากการร่วมบุญของช่อง 3 ผู้บริหารและพนักงาน จำนวนเงิน 29,410 บาท ก่อนร่วมกันปลูกต้นคีเปล ต้นไม้หายาก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณวัด และร่วมกิจกรรมรีไซเคิลต่างๆ

ภูเบศร์ สำราญเริงจิต รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าบริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) หรือ CHEWA ผนึก “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” โดย จิระศักดิ์ แก้วอุบล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจรีไซเคิลเอสซีจี แพคเกจจิ้ง นำเศษกระดาษหรือบรรจุภัณฑ์กระดาษใช้แล้วที่ผ่านการคัดแยกไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษและนำมาทำสินค้าต่าง ๆ เช่น ถุงกระดาษ กล่องกระดาษ หรือนำมาทำเป็นบ้านกระดาษ รถกระดาษ เฟอร์นิเจอร์กระดาษ ฯลฯ เพื่อนำกลับมาให้คอนโดหรือบ้านจัดสรรภายในโครงการของชีวาทัย ได้ใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อประโยชน์นี้ต่อชุมชนได้อีกด้วย

โครงการนี้นำร่องที่ “ชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค จรัญ 13“ เป็นแห่งแรก ก่อนขยายการจัดการขยะอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมในโครงการที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ของบริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกระดาษใช้แล้ว อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะ พร้อมคืนสิ่งดี ๆ สู่สังคม

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)และเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจในตลาดทุน เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย”

ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ก.ล.ต. และ อบก. จะร่วมกันเผยแพร่ความรู้ สื่อสาร และให้คำแนะนำแก่บริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ให้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร รวมทั้งการจัดให้มีระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เปิดตัวหลักสูตรอบรมออนไลน์สำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ One Report {การรวมแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ให้เหลือเพียงรายงานเดียว }

ภาคตลาดทุนไทยมีส่วนร่วมตอบโจทย์แผนระดับชาติที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของธุรกิจไทย ตลอดจนดึงดูดการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นตัวแทนผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวถึงความร่วมมือ โครงการ “โค้กขอคืน x Sansiri Waste to Worth” เพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

T77 Community เป็นโครงการที่อยู่อาศัยนำร่องในโครงการ โค้กขอคืน x Sansiri Waste to Worth ซึ่งครอบคลุม 6 โครงการ ได้แก่ BLOC 77, THE BASE Sukhumvit 77, THE BASE PARK EAST Sukhumvit 77, THE BASE PARK WEST Sukhumvit 77, mori HAUS และ hasu HAUS รวมลูกบ้าน 4,027 ครัวเรือน

จากการรวบรวมข้อมูลการสำรวจของ GEPP พบว่า ลูกบ้านในโครงการดังกล่าวมากกว่า 50% ของมีความเข้าใจดีเกี่ยวกับการแยกขยะอย่างเหมาะสม ขณะที่การแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะประเภทอื่นๆ นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบจากก่อนเริ่มโครงการฯ โดยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนนั้น สามารถนำส่งวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลไปแล้วถึง 23,852.60 กิโลกรัม และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 17,917 kgCO2e

ทั้งนี้ แสนสิริเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จนี้ไปยังโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ รวม 100 โครงการ และตั้งเป้านำวัสดุรีไซเคิล 100,000 กิโลกรัม เข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิลอย่างเหมาะสมภายในปี 2563 สะท้อนความมุ่งมั่นของแสนสิริในการเป็นต้นแบบการแยกขยะอย่างยั่งยืนของวงการอสังหาริมทรัพย์ และขยายผลต่อไปยังอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง

นับเป็นการ สานต่อวิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste สู่วงการอสังหาริมทรัพย์ไทย

จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารของ อีสท์ วอเตอร์ ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ต้อนรับ ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมา ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง

โครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมาเป็นการพัฒนาบ่อดินเดิมและมีการขุดสระเพิ่มเติมเพื่อเป็นสระเก็บน้ำความจุประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการสูบผันน้ำจากแม่น้ำระยองและคลองทับมามาสู่สระสำรองน้ำดิบนี้ ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำมาใช้ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 32-47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากจะเป็นการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนของอีสท์ วอเตอร์แล้ว ยังรองรับการขยายตัวทั้งภาคอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเริ่มสูบผันน้ำได้ในช่วงปลายปี 2563 นี้

โครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมาจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีสถานีสูบผันน้ำอยู่ที่แม่น้ำระยองและคลองทับมา ซึ่งจะมีอัตราการสูบเฉลี่ย 250,000 – 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่จังหวัดระยองได้ประมาณ 32 – 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากสระเก็บน้ำดิบทับมาจะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงเพื่อรับน้ำท่วมหลากในฤดูฝน อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตัวเมืองระยองอีกด้วย

ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสด้านสื่อสารองค์กร และความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล สุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาผ้าที่ผลิตจากเส้นด้าย PET รีไซเคิลสำหรับตัดชุด PPE ประเภท Reusable Isolated Gown Level 3 เป็นรายแรกในประเทศไทย สามารถป้องกันเชื้อและการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน ซักใช้ซ้ำได้พร้อมส่งมอบจำนวน 500 ชุด ให้กับองค์การเภสัชกรรม โดยนพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม รับมอบ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ประโยชน์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่รับมือกับการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ชุด PPE ประเภท Coverall Level 3 ผลิตจากผ้าโพลิเอสเตอร์รีไซเคิล 100% ตัดเย็บเป็น 2 ชั้น เพื่อการป้องกันที่ดีกว่า แต่ยังคงคุณสมบัติสวมใส่สบาย เคลือบพิเศษให้มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน (Hydrostatic Pressure) สามารถนำไปซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่มากถึง 50 ครั้ง ผ่านมาตรฐานป้องกันการซึมผ่านของเลือดและไวรัส เหมาะสำหรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ ชุด PPE ประเภท Reusable Isolated Gown Level 3 ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ตัดเย็บโดยโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.)

น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีนโยบายและแนวทางการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อให้การจัดหาปลาป่นเพื่อผลิตอาหารสัตว์น้ำของบริษัทฯ เป็นไปด้วยความรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามกฎหมาย

รายงานข่าวจากคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย(Thai Sustainable Fisheries Roundtable : TSFR) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวของไทยให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการปรับปรุงการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อาหารสัตว์ การปรับปรุงฟาร์มและกระบวนการเลี้ยง การบริหารจัดการน้ำและพลังงาน เพื่อลดการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ โดยเฉพาะการผลิตอาหารสัตว์มีการใช้ปลาป่นที่มาจากการประมงที่รับผิดชอบและได้รับมาตรฐานสากลระดับโลก ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงเพื่อบำบัดน้ำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ซีพีเอฟเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย ก่อตั้งโดยสมาชิก 8 สมาคม ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการส่งออก ได้ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน(Fishery Improvement Projects : FIPs) โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงสภาวะการประมงและการปฏิบัติต่างๆ ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยเพื่อความยั่งยืนสูงสุด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการทำประมงของไทยด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน

นับเป็นการร่วมพัฒนาการประมงในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตลอดจนการร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ MarinTrust ในการพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการประมงอวนลากสำหรับสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ (Mixed Trawl Fisheries) เพื่อนำร่องสร้างมาตรฐานการประมงอย่างรับผิดชอบมาตรฐานแรกของโลก ที่ใช้ได้กับอาเซียนอย่างเหมาะสม ซึ่งครอบคลุมการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น ภาคเอกชน ภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม

 

You Might Also Like