ALTERNATIVE

ทัศนคติต่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” เป็นอย่างไร?

21 สิงหาคม 2563…ลองเลือกว่าจะตอบแบบใด ตอบแบบล้าสมัย ก็แแห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ยากเข็ญ ตอบแบบคนร่วมผลักดันอนาคต สินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้า GI ในพื้นที่ของตน และผู้ประกอบการได้มีบรรจุภัณฑ์จากเปลือกข้าว และได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว

สมาชิก SD Perspectives Challenges เคยเขียนถึง “สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ Geographical Indications (GI) ซึ่งมีงานแสดงสินค้า GI ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้อธิบายความหมายสินค้า GI คือสินค้าที่มีคุณภาพเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับแหล่งผลิต

สินค้าเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ดิน น้ำ อากาศ หรือแม้แต่ภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมายาวนานในสถานที่หนึ่งจนทำให้สินค้านั้นมีคุณภาพพิเศษที่ถ้านำไปผลิตที่อื่นก็จะไม่ได้คุณภาพแบบเดียวกัน สินค้า GI ส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีปริมาณจำกัด มีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป จึงใช้สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนได้อย่างดี

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ คือข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคอีสาน ที่มีลักษณะภูมิประเทศและอากาศที่แตกต่างจากที่อื่น ทำให้ได้ข้าวที่มีกลิ่นหอม นุ่ม เป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่ว่าจะปลูกที่ไหนก็จะไม่เหมือนแบบนี้ จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ทั้งในไทยและในสหภาพยุโรป ได้รับสิทธิใช้ตราสัญลักษณ์ GI ของทั้งไทยและยุโรปในการส่งออกไปขายทั่วโลก

ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม; อำเภอชุมพลบุรีและอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์; อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด; อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล และอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ; อำเภอค้อวัง และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

ในกระบวนการทำนา กลุ่มของแบรนด์ข้าวศรีแสงดาว เลือกทำนาหยอด และร่วมพัฒนาข้าวด้วยการปลูกแบบอินทรีย์พร้อม ๆ กัน เพื่อหวังให้คนไทยได้มีข้าวทุ่งกุลาร้องไห้แท้ ๆ ได้ลิ้มลอง

วันนี้ ผู้ประกอบการในจังหวัดร้อยเอ็ดได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์จากเปลือกข้าวหอมมะลิ (แกลบ) ที่นอกจากจะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตมาใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่เป็นสินค้า GI ในพื้นที่ของตน ให้ดูน่าสนใจ น่าซื้อไปเป็นของฝากในโอกาสต่างๆ อีกด้วย โดย Prompt Design

ข้อมูลจาก Prompt Eco Design บรรจุภัณฑ์ข้าว นี้ทำมาจาก แกลบ!!!!
…พวกเราทำวิจัยออกแบบบรรจุภัณฑ์ ร่วมกับแบรนด์ข้าวศรีแสงดาว ผลิตกล่องข้าวที่ทำมาจากแกลบ เหลือใช้ในอุตสาหกรรมของบริษัท โดยขึ้นรูปออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ข้าวหอมมะลิ GI ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ เราพัฒนาบรรจุภัณฑ์นี้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ของเศษวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตให้คุ้มค่าที่สุด
…Prompt Eco Design ให้คำปรึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ ต้นปี 2019 เพื่อให้อย่างน้อยๆเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยต่อไป
…ล่าสุด บรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้ก็คว้ารางวัลระดับโลก DIELINE AWARD 2020 ประเภท PREPARED FOOD
Project : Srisangdow GI Rice Packaging Design
Eco Packaging Design : Prompt Design
Client : Srisangdow Rice

ข้อมูล

 

You Might Also Like