BIODIVERSITY & REGENERATIVE

ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทย ปลอดภัยจาก #COVID19

23 เมษายน 2563…รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ จาก TDRI มีข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ  TDRI Policy Series on Fighting Covid-19  มีความน่ากังวลมากกว่าเรื่องคนไทยกลับจากต่างประเทศ

คือ เรื่องการดูแลกิจการที่อาจจะกระทบแรงงานต่างด้าวมากกว่า 2.7 ล้านคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่มาจาก 3 ประเทศรอบบ้านเราคือ

-เมียนมาที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน
-กัมพูชามากกว่า 6.5 แสนคน
-สสป.ลาวมากกว่า 2.8 แสนคน

กระจายอยู่แทบทุกจังหวัดของประเทศไทย มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกิจการส่งออกตามจังหวัดชายทะเล ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกระจุกตัวในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและหัวเมืองจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ

ปัญหาที่อาจจะมีคือ แรงงานส่วนใหญ่มาทำงานเพื่อเก็บเงินและส่งเงินกลับประเทศ การอยู่อาศัยและการกินอยู่มีลักษณะที่ประหยัด ชุมชนแรงงานต่างด้าว ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านการเคหะฯ แฟลตล้งกุ้ง แถวสมุทรสาครอยู่อย่างแออัด ห้องหนึ่งนอน 3-5 คน นอนตามช่องทางเดินอาคาร เป็นต้น

ถ้าบังเอิญเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นมาในชุมชนเหล่านี้ บางแห่งมีคนงานต่างด้าวอยู่เป็นหมื่นคน จะให้กักตัวอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน เขาคงปฏิบัติตาม Social Distancing ลำบาก เพราะว่าไม่มีที่ให้เขาทำเช่นนั้นได้

ที่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ต้องการให้เกิดอาการหวาดกลัว (Panic) ขึ้นมากับครอบครัวชาวต่างด้าวและ/หรือชุมชนคนไทยโดยรอบ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทางกระทรวงแรงงานร่วมกับทางสภากาชาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ปูพรมด้วยหลายภาษา “ถิ่น” ของแรงงานต่างด้าวในหลาย ๆ ช่องทาง เพื่อให้ชาวต่างด้าวได้เข้าใจพิษภัยของโรคโควิด-19 การป้องกันตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากโควิด-19 เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ต้องทำให้เข้าถึงทุกชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งมีทั้งชาวมอญ กะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ พม่า ม้ง ลาหู่ ที่หลัก ๆ ยังมีภาษากัมพูชา ภาษาลาว เป็นต้น พวกเขาอยู่กระจายโดยทั่วไป

ดังนั้น ควรคำนึงถึงแหล่งจ้างงานของพวกเขา ที่สำคัญนายจ้างคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับแรงงานต่างด้าวมากที่สุดควรจะเป็นคนที่ “รับผิดชอบ” ชีวิตแรงงานต่างด้าวมากที่สุดและถ้าเกิดโรคระบาดในกลุ่มต่างด้าวจะกระทบชุมชนคนไทยและงานสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

สมมติมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าว 20,000 คน และมีคนที่อยู่แวดล้อมนับร้อย ๆ จะเอาสถานที่ไหนไปกักตัวพวกเขาได้ จึงขอให้กระทรวงแรงงานอย่าผ่อนความเข้มงวดในการตรวจติดตามการระบาดของโควิด-19 จากแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาลในประเทศไทย

อย่าลืมว่ายังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายปะปนอยู่บ้าง ซึ่งไม่ทราบจำนวนเท่าไร จำนวนพันหรือจำนวนหมื่น แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้มักเป็นลูกจ้างชั่วคราว รายวัน เคลื่อนย้ายตัวเองเป็นระยะ กระจายอยู่ตามสวน ไร่นา ที่ห่างไกลจากสายตาเจ้าหน้าที่ ยากที่จะตรวจจับซึ่งเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความระมัดระวังและเข้มงวดทางกฎหมาย

ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอสนับสนุนกระทรวงแรงงานใช้มาตรการเชิงรุกในการดูแลแรงงานต่างด้าว แต่ต้องทำความเข้าใจกับการระบาดของโควิด-19 ด้วยว่า นิเวศของการอยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้เช่นกัน “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน”

ที่มา

 

 

You Might Also Like