NEXT GEN

SET Social Impact Gym โค้ชการออกแบบโมเดลธุรกิจ SE การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

28 ธันวาคม 2563….ตลท.สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจต่อเนื่องกับ SET Social Impact Gym จับมืออันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ SE เพื่อชุมชน ร่วมพัฒนาโมเดลท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยโฟกัสนักท่องเที่ยวไทย เพื่อให้ผ่านช่วงโควิด-19

โครงการ SET Social Impact Gym ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นับได้ว่าเป็นกิจกรรมสร้างความยั่งยืนทางสังคมที่มีพัฒนาการมากขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้จากในปีนี้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม 13 บริษัท ได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เรียนทำธุรกิจ ด้วยเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมทั้งในมิติ ด้านการเกษตร กลุ่มผู้เปราะบาง การพัฒนาชุมชม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมต่อผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai และ ผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมอาสาพัฒนาศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิด Idea to I Done เพื่อมุ่งหมายให้ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นหนึ่งกลไกใหม่ของการเติบโต เป็นธุรกิจกระแสหลัก ของอนาคต พร้อมกับการสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมอย่างยั่งยืน

“บริษัท อันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ จำกัด” ถือเป็น 1 ใน 13 ของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับโอกาสเข้ามาร่วมในโครงการนี้ ซึ่งธุรกิจอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างตลาดต่างประเทศกับชุมชนที่ยังไม่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ บริษัทเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในพื้นที่ให้คงอยู่ ที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนตามหมู่บ้านที่อยู่ในเกาะทะเลอันดามันเป็นหลัก และเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100%

ธำรงค์ ชมภูศรี   Founder และ ณัฐยา เสกธีระ Co-Founderร บริษัท อันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ จำกัด กล่าวถึงธุรกิจของบริษัทว่า หลังจากที่ทั้งสองมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ค่อนข้างมาก นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิที่เข้ามาช่วยทำงานกับชุมชน จนกระทั่งกลายเป็นความผูกพัน และกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามันในเวลาต่อมา ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ภูเก็ต และรวมถึงฝั่งอ่าวไทยที่สุราษฎร์ธานี โฟกัสนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งสนใจวิถีของชุมชนที่นี่

ธำรงค์ และณัฐยา นำนักท่องเที่ยวไทยใน SET Social Impact Gym @Test Trip เข้าชุมชนมอร์แกน เพื่อให้สัมผัสวิถีของชุมชน ซึ่งพื้นที่นี้เมื่อครั้งเกิดสึนามิ 16 ปีที่แล้ว บ้านทุกหลังถูกคลื่นซัดไปทั้งหมด แต่ชาวมอร์แกนที่นี่ไม่มีใครเสียชีวิต ทั้งนี้บ้านที่เห็นขณะนี้ คือบ้านที่ถูกสร้างให้ใหม่

กระทั่งหลายปีที่ผ่านมาตลาดการท่องเที่ยวเริ่มซบเซา จากภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ประกอบกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปเป็น FIT ( Free Individual Travelers หรือ Free Independent Travelers ก็ได้ คือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพักตามลำพัง แตกต่างจากนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม หรือซื้อทัวร์มา) เมื่อมาเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้าย

“เรารู้ตัวว่าต้องปรับตัวมาซักพักแล้วว่าจะต้องเร่งปรับตัวมากขึ้น และโชคดีเราเข้าร่วมโครงการ SET Social Impact Gym เพราะต้องการขยายตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีประสบการณ์กับ Social แต่เราพบว่าเรายังขาดมุมมองด้าน Enterprise เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน หลังจากเข้าร่วมโครงการ SET Social Impact Gym ได้จุดประกายให้เรามีพลังในการสร้างสรรค์ในการหา Impact ว่าเราต้องการอะไร และต้องการสร้างประโยชน์อะไรให้กับแต่ละ Stakeholder”

ในที่สุดก็เกิด Test Trip เป็น VIP Trip ของ SET Social Impact Gym เป็นครั้งแรกที่อันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ รับนักท่องเที่ยวเป็นคนไทย และมีจำนวนมากถึง 30 คน โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 เรื่อง

1. Responsible Tourism ออกแบบวิถีการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อเป็น Tourist Best Practices เพื่อให้การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน อัตลักษณ์ อย่างแท้จริง

2. Business Model Design ของ Andaman Promised ที่ต้องการเปิดตลาดในประเทศ เริ่มจาก VIP Trip ของ maiA ครั้งนี้ และนำผลการทำงานมาออกแบบโปรแกรมตาม Segmentation

การทดลองกิจกรรม ณ ที่แห่งนี้ คือให้นักท่องเที่ยวร่วมทำกิจกรรม เก็บขยะชายหาด และสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ ชาวมอร์แกน โดยนพเก้า โค้ชพอล และโค้ชนา ก็ร่วมสอนภาษาอังกฤษด้วย โดยหลังจากนี้จะเป็นโปรแกรมดำนำดูปะการัง ก็จะใช้เรือของชาวมอร์แกนที่รับจ้างอยู่แล้ว

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ร่วมทริป ในครั้งนี้ถือเป็น Sandbox เพื่อทดลองเรียนรู้กับสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวของคนไทยจริง ๆ จากนั้นจะมีการเก็บข้อมูลทั้งหมดไปวิเคราะห์ และวางแผนธุรกิจให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนต่อไป

“แต่ละปี โครงการ SET Social Impact Gym จะมีความลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างในปีนี้เราเลือกที่จะลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เรียนรู้ความยั่งยืนของชุมชนในเชิงประจักษ์ เพราะทุกคนจะได้เห็น ได้สัมผัส และเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมจริง เหมือนเป็น Sandbox ของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งเต็มไปด้วยโจทย์ และความต้องการที่หลากหลายจากนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมทริป แตกต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่มากที่อันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์มีความคุ้นเคย การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงเป็นการทดลองเพื่อออกแบบการท่องเที่ยวต่อไปว่า เราจะพัฒนาทริปให้น่าจะสนใจสำหรับตลาดในประเทศได้อย่างไร เนื่องจากเรามีผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่เป็นโค้ชช่วยวิเคราะห์ด้วย”

สมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) หรือโค้ชพอล และกัลยพัลญ์ บูรณารมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ. บิซิเนส ออนไลน์(BOL) หรือโค้ชนา ซึ่งเป็น 2 โค้ชในโครงการ SET Social Impact Gym และเป็นโค้ชพี่เลี้ยงให้กับบอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ มองเห็นตรงกันว่า Pain Point ของบริษัท มาจากการจับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาโดยตลอด พอมีสถานการณ์โควิด-19 จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งตัวบริษัทท่องเที่ยวเอง และชุมชนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับทริปใหม่เพื่อจับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งมีพฤติกรรมต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยสิ้นเชิง

“หลังจากผ่าน Test Trip 3 วัน 2 คืนที่ภูเก็ต-พังงา ดำน้ำดูปะการัง เข้าไปในชุมชนมอร์แกนดูวิถี สอนภาษาอังกฤษ เก็บขยะชายหาด รวมถึงปลูกป่าโกงกางในชุมชน เที่ยวป่าโกงกางโดยเรือคยัค เราได้มีการแนะนำธำรงค์และณัฐยา ให้ออกแบบทริปเพื่อจับกลุ่มลูกค้า 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ และกลุ่มลูกค้าองค์กร”

โค้ชพอล และโค้ชนา ขยายความต่อเนื่องถึงกลุ่มนักเรียนโรงเรียนนานาชาตินั้น มาจากการที่เราเห็นว่าโรงเรียนนานาชาติจะมีโปรแกรม Disaster Management บรรจุอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว ซึ่งการนำนักเรียนไปทริปในชุมชมตามเกาะของอันดามันจะทำให้เขาเรียนรู้ถึงประสบการณ์การเอาตัวรอดในช่วงเกิดสึนามิได้ โดยอาจจะเริ่มจากโรงเรียนนานาชาติในภูเก็ตก่อนเพื่อที่จะได้ขยายผลไปสู่โรงเรียนในพื้นที่อื่น

โค้ชพอล และโค้ชนากล่าวถึงกลุ่มลูกค้าองค์กร

“เราแนะนำให้ออกแบบโปรแกรมที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น เช่น ใช้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แบบที่ธำรงค์และณัฐยาทำอยู่ ผ่านการทำ Team Building เพื่อการสร้างผู้นำขององค์กร หรือการท่องเที่ยวเชิงจิตสำนึก โดยอาจนำคอนเซ็ปต์ Care the Bear เข้าไปในโปรแกรม เพื่อสร้าง Mindset ทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงาน เป็นต้น”

อีกหนึ่งกิจกรรม เที่ยวชมการดูแลธรรมชาติโดยชาวบ้าน และลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านเป็นคนลงมื้อทำ ซึ่งอร่อยทุกจาน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ชุมชนจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย

ธำรงค์กล่าวต่อเนื่องถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปกับ Test Trip ครั้งนี้ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในการรับนักท่องเที่ยวคนไทย การสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นในทริปคนไทย แม้กระทั่งการบอกเส้นทางการเดินทาง เป้าหมายข้างหน้า หรืออีกกี่นาทีจะถึงเป้าหมาย เพื่อให้ลูกทัวร์เตรียมตัว ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเช่นนี้แทบจะไม่ได้ใช้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ใช้บริการบริษัทครั้งละ 1-2 คน มากสุดไม่เกิน 10 คน

แม้จะเป็น Test Trip แต่เมื่อมาถึงพื้นที่ก็นำของที่จำเป็นต้องใช้มามอบให้ชุมชน และไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อใดก็ตาม การตักพอกิน กินให้หมด Care the Bear ถูกนำมาใช้ทุกมื้ออาหาร โดย ธำรงค์ และณัฐยา จะเป็นคนชั่งเศษอาหารที่เหลือเพื่อนำตัวเลขเข้าสู่ระบบการวัดการลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์

โค้ชพอลและโค้ชนา กล่าวในท้ายที่สุดว่า หน้าที่ของโค้ชจะต้องให้ Social Enterprise สามารถทำธุรกิจที่เขารักเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งการบริจาค ด้วยการผสมผสานสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจ

 

You Might Also Like