NEXT GEN

SET: Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โซลูชั่นเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ/ประชาชน ปลูกไม้ให้ได้ป่า ด้วยกลไกธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล

28 กันยายน 2563…ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้าง Initiatives ในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ด้วยการใช้แพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) ที่มีกลไกการดำเนินงานด้วยการระดมทุนในการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ ด้วยกลไกธรรมาธิบาลการเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล ตั้งเป้าภายใน 1 ปี ปลูกป่า 500 ไร่ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

SET: Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โซลูชั่นเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ/ประชาชน ปลูกไม้ให้ได้ป่า ด้วยกลไกธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล ”

 

สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่ามีจำนวนคงที่คือ 102 ล้านไร่ หรือ 31.5% ของประเทศ (ประเทศไทยมีพื้นที่ 322 ล้านไร่) ซึ่งหากต้องการให้เกิดความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในประเทศ ควรจะต้องมีพื้นที่ป่า 40% หรือ 128 ล้านไร่ (ข้อมูลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12) เพื่อให้เกิดพื้นที่ป่าที่แท้จริง

ภาครัฐมีมาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่องคือ

1.การดูแลรักษาป่าอนุรักษ์ให้คงอยู่
2.การเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าภาครัฐ ป่าชุมชน ป่าคทช.(“คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ”) และป่าภาคเอกชน

บทบาทสำคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มุ่งเป็นกลไกของการขับเคลื่อนพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” คู่กับการคำนึงความสำคัญการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลโลก การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อ 13 Climate action และขับเคลื่อนการทำงานด้วยข้อ 17 Partnerships for the goals

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกล่าวถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย และการใช้แพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) ที่มีกลไกการดำเนินงานด้วยการระดมทุนในการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาแพลตฟอร์ม SET Social Impact ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดคือโครงการ Care the Wild ‘ปลูกป้อง Plant & Protect’ ถือเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยมีกลไกการดำเนินงานด้วยการระดมทุนในการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ ร่วมกับภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขยายความ Care the Wild เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม และร่วมระดมทุน “ปลูก” ต้นไม้ รวมทั้งเน้นการร่วมดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโตบนหลักการธรรมาภิบาล จนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “ป้อง” กล่าวคือ ผู้ระดมทุนปลูก ร่วมติดตามการเติบโตของต้นไม้ การทำงานของชุมชน การมีส่วนร่วมในการขยายผลเพื่อพัฒนาชุมชน และร่วมดูแลเอาใจใส่ไม้ปลูกให้เติบโตเป็นส่วนสำคัญของการขยายแนวผืนป่าของประเทศ ผ่านแอปพลิเคชัน Care the Wild

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าถึงรายละเอียดการขับเคลื่อน Care the Wild ซึ่งกรมป่าไม้ ภาคีหน่วยงานภาครัฐ ได้นำเสนอพื้นที่ป่าชุมชนร่วมโครงการในเบื้องต้นรวม 717 ไร่ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย

-ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน จ.ราชบุรี
-ป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี
-ป่าชุมชนบ้านใหม่ จ.เชียงราย
-ป่าชุมชนบ้านนาหวาย จ.น่าน
-ป่าชุมชนบ้านหนองปิง จ.กาญจนบุรี
-ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง จ.นครราชสีมา
-ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าถึงรายละเอียดการขับเคลื่อน Care the Wild

แต่ละพื้นที่ของป่าชุมชนจะมีเอกลักษณ์ จุดเด่น ด้านระบบนิเวศและการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างกัน องค์กรธุรกิจสามารถเลือกพื้นที่ในการสนับสนุนการปลูกไม้ได้หลากหลาย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เรียนรู้ระบบนิเวศร่วมกับชาวบ้านผู้รักษาป่าได้อีกด้วย

ภาคธุรกิจที่ลงทุนปลูกป้องแต่ละราย จะได้ทำงานร่วมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ และจะได้รับรายงานการเติบโตของต้นไม้ที่ชุมชนนั้น ๆ ดูแลแล้วทางโครงการก็จะอัพโหลดข้อมูลขึ้นแอปพลิเคชัน Care the Wild ให้สามารถติดตามได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

“ตอนนี้ฝนตกที่กรุงเทพฯ เราก็โทรไปถามว่า ที่นั่นฝนตกไหม ทุกคนห่วง รวมถึงองค์กรที่เริ่มกับเราเขาก็ถามด้วยความเป็นห่วงเช่นกัน นี่เป็นการทำให้มีส่วนร่วม และมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อมูล ปลูกไม้ให้ได้ป่า เราไม่ได้ปลูกป่า แต่เราปลูกไม้ เราต้องการสร้างป่า” นพเก้าขยายความต่อเนื่อง

สุปราณี คาทิพาที ตัวแทนชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม เล่าถึงการร่วมงาน Care the Wild กับตลาดหลักทรัพย์ฯ มาระยะหนึ่งแล้ว ในการดูแลปลูกต้นไม้ตามข้อตกลง 1 ไร่ ปลูก 200 ต้น โดยจะปลูกไม้ 6-7 ชนิด ประกอบด้วย ไม้ผล ไม้ใช้สอย และไม้เศรษฐกิจ สัดส่วนเท่า ๆ กัน

“ที่ผ่านมาชุมชนของเราปลูกและดูแลต้นไม้อยู่แล้ว เราทำด้วยจิตอาสา ตอนนี้ต้นไม้ที่เราปลูกเริ่มโตสมบูรณ์ ผลผลิตมีให้เราเก็บ ช่วยสร้างรายได้ให้กับเรา เมื่อต้นไม้เติบใหญ่ เราจะสามารถเก็บเพื่อไปขยายพันธุ์ต่อได้ โดยไม่ต้องลงทุน เวลาขายเราจะขายในนามกลุ่ม เวียนกันไปเรื่อยๆ ให้ได้ขายทุกคนในแต่ละกลุ่มเป็นการขายต้นพันธุ์”

สุปราณีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องห่วงหนอนเพลี้ยเลย ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่บ้านโดยใส่ปุ๋ยต้นหนึ่งประมาณครึ่งกิโลกรัม ใส่รองก้นหลุม ซึ่งที่ผ่านมารอดทุกต้น เพราะทำแบบมาตรฐานกว้าง และลึก 30 เซนติเมตร กดให้แน่นเวลาปลูก เมื่อฝนตกลงมาครั้งเดียวน้ำจะนองที่หลุม แล้วต้นไม้ก็รอด ถึงเวลา 1 ปี ก็เข้าไปดูแลพรวนดิน นำปุ๋ยใส่เพิ่มขึ้น

นพเก้าช่วยขยายความเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนร่วมของโซลูชั่นในการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง Care the Wild ไม่ใช่เพียงการจ่ายเงินเพื่อไปช่วยปลูกป่า ช่วยความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ต้องการให้คำว่า “การมีส่วนร่วม” หมายถึงการได้ร่วมเรียนรู้ การร่วมดูแล เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์เรื่องการปลูกป้อง มีฉากหลังของคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อยู่ เพราะการที่พูดคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ต้องมีเหตุและผล หรือที่มีคำว่า Share Value เดียวกันระหว่างเป้าหมายโครงการ ระหว่างชุมชน และภาคธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ

แอปพลิเคชัน Care the Wild สามารถติดตามการปลูกต้นไม้ได้อย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันโครงการ Care the Wild มีองค์กรพันธมิตรเข้าร่วมแล้ว อาทิ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ชมรมคัสโตเดียน ชมรมปฏิบัติการหลักทรัพย์ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) และบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH)

“โครงการ Care the Wild มีเป้าหมายที่จะปลูกป่าจำนวน 500 ไร่ (100,000 ต้น) ร่วมกับองค์กรธุรกิจพันธมิตรในระยะเวลา 1 ปีแรกหลังเปิดโครงการ ซึ่งการปลูกป่าจะสร้างผลลัพธ์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี องค์กรที่เข้าร่วมโครงการนอกจากจะเป็นภาคีในความร่วมมือเพื่อลดโลกร้อนแล้ว ยังสามารถร่วมทำงานพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ดร.ภากรกล่าวในท้ายที่สุด

องค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการติดต่อได้ที่ carethewild@set.or.th ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.setsocialimpact.com สำหรับบุคคลทั่วไปสามารถร่วมปลูกป่าผ่านแอปพลิเคชัน Care the Wild ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android

 

You Might Also Like