NEXT GEN

นอกจากความ “เชื่อใจ” ในธุรกิจประกันฯ จะต้อง “มองหาความหมายที่ทำต่อสังคม”

16 กรกฎาคม 2564… เมื่อ Mindset ของคน Gen Z ที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทประกันชีวิต มีสิ่งที่เพิ่มเติมจากอดีตคือ “มองหาความหมายที่ทำต่อสังคม” ดังนั้นจึงอินกับผลิตภัณฑ์ที่กำลังร่วมสร้างเพื่อรองรับกลุ่ม “มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ” ซึ่งอยู่ในช่องว่างหลักประกัน (Protection Gap)

ปาณัท สุทธินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงเรื่องของ Protection Gap ว่ามีความสำคัญอย่างมากในสังคมไทย

“ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ นายเอ เป็นหัวหน้าครอบครัว ดูแลภรรยากับลูก ถ้านายเอเสียชีวิตไป ภรรยาและลูกจะอยู่ได้ด้วยคุณภาพชีวิตแบบเดิมต้องใช้เงิน 3 ล้านบาท แต่ทรัพย์สินนายเอมีแค่ 1 ล้านบาท Protection Gap คือ 3 ลบ 1 เท่ากับ 2 ล้านบาท ที่เขาขาดไป หากเราไม่ทำอะไรเลย ปลายปีนี้ประเทศไทยจะมี Protection Gap อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น 20 ล้านล้านบาทคือกลุ่มมีรายได้ปานกลางถึงต่ำ เป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก เครื่องมือหนึ่งที่จะมาแก้ปัญหา คือเรื่องประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เพราะว่าเราจ่ายนิดเดียวแต่ได้ความคุ้มครองที่มาก ปัจจุบันกลุ่ม Mass มีรายได้ปานกลางถึงต่ เขาต้องการประกันตัวนี้มากที่สุด นั่นหมายถึง เราพูดถึงสินค้าที่เป็นหลักพัน หรืออาจจะเป็นหลักร้อยต่อปี ซึ่งถือเป็นช่องว่างทางสังคมขนาดใหญ่”

ปาณัทเล่าถึงเรื่องนี้ผ่านทางออนไลน์

ปาณัท ขยายความต่อเนื่องถึงต้นทุนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงาน เช่น อันเดอร์ไรติ้งเมื่อก่อนอาจจะต้องใช้คน แต่ตอนนี้ใช้ แมชชีน เลิร์นนิ่ง, ดาต้า อนาลิติกส์ หรือจากที่เคยออกกรมธรรม์เป็นกระดาษอาจจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้แชทบอทในการตอบคำถาม สิ่งเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ส่วนคนถูกโยกไปรับผิดชอบโพรดักส์ที่มีความซับซ้อน และขนาดใหญ่

“ทำอย่างไรเราจะได้ขายโพรดักส์ไซส์เล็ก ๆ หลักร้อย หรือพันสองพันได้ ด้วยต้นทุนที่ประหยัดลงมา อันนี้เป็นสิ่งที่เมืองไทยฯพยายามทำอยู่ โดยการสร้างเวิร์คกิ้ง ทีม อะครอส เดอะ บอร์ด ด้วยทีมคน Gen Z Gen Y ที่เมื่อแชร์เรื่องนี้ร่วมกันเราจะอินมาก เรามองหาความหมายที่เราทำต่อสังคม สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบความต้องการของกลุ่ม มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ  จะเห็นต้นแบบปลายปีนี้”

สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด มหาชน กล่าวในท้ายที่สุดว่า การดูแลสังคมเป็นเรื่องที่กว้างมาก ปัจจุบันไม่ใช่ทำธุรกิจอย่างเดียว แต่องค์การต้องยั่งยืนได้ ตอบโจทย์ให้สังคม และประเทศยั่งยืนได้ นี่เป็นหลักการที่เรายึดมาตลอดเวลา 

 

You Might Also Like