NEXT GEN

ผู้บริโภคเอเชีย หนุนแบรนด์ที่มีส่วนร่วมในประเด็นทางสังคมจริงจัง มิใช่สร้างภาพ !

9 ธันวาคม 2561…ผลสำรวจวิจัยล่าสุดของกันตาร์ (Kantar) ในชื่อ Purpose in Asia พบว่า ผู้บริโภค 90% ในเอเชีย และ 93%ในประเทศไทย อยากให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทในประเด็นที่ตนเองให้ความใส่ใจ=ผู้บริโภคคาดหวังให้มีแบรนด์มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ยินดีจะจ่าย “เพิ่มขึ้นอีกนิด” เพื่อซื้อสินค้าของแบรนด์กลุ่มนี้

การวิจัยนี้ได้ใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SGDs) เป็นเค้าโครงเพื่อให้ผลลัพธ์มีความสอดคล้องกัน จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียโดยใช้ Netbase ครอบคลุมความคิดเห็นบนสื่อโซเชียลตลอดระยะเวลาหนึ่งปี การเข้ามามีบทบาทในประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในทางธุรกิจ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 63% ในประเทศไทยเปิดเผยว่า เขามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าของแบรนด์ที่มีอุดมการณ์ตรงกับตนเอง ขณะที่ 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจเปิดเผยว่า พวกเขายินดีที่จะจ่ายเงิน “เพิ่มขึ้นอีกนิด” เพื่อซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือบนนโยบายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผลการสำรวจดังกล่าวยังได้เผยให้เห็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างประเด็นทางสังคมในสื่อระดับโลกที่ครองพื้นที่ และแคมเปญของแบรนด์ระดับชาติ กับประเด็นที่ผู้บริโภคในเอเชียให้ความสำคัญจริงๆ โดยสองประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้างในเอเชียนั้น ได้แก่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการให้ความเท่าเทียมกันทางเพศ

แต่ประเด็นที่ใกล้ตัวและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากกว่า คือเรื่องของสุขภาพ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการยุติความยากจน !

ผลการสำรวจครั้งนี้ ได้ชูบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดียในการกระจายข้อมูลข่าวสารในประเด็นต่างๆ สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นช่องทางที่บอกกล่าวถึงปัญหาทางสังคมให้ผู้คนได้รับรู้มากที่สุด อย่างไรก็ดีการแพร่หลายของสื่อโซเชียลมีเดียในหลาย ๆ ประเทศทั่วเอเชียทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 66% ในประเทศไทยเผยว่า ตนได้เข้าไปกดไลค์และโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นที่ตนสนใจและให้ความสำคัญ  ขณะที่ 51% ของผู้ตอบแบบสำรวจได้กดแชร์โพสต์หรือส่งต่อบทความ

ด้วยเหตุนี้โซเชียลมีเดียจึงได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยเผยว่า ตนรู้สึกตระหนักต่อประเด็นทางสังคมในชีวิตประจำวันมากขึ้นหลังจากที่ได้เห็นโพสต์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 41% เผยว่า พฤติกรรมของตนได้เปลี่ยนไปด้วยสาเหตุนี้

สำหรับคำถามที่ว่าแบรนด์ต่างๆ ควรเข้ามามีบทบาทในประเด็นเหล่านี้อย่างไรนั้น คำตอบคือ การแสดงออกถึงความตั้งใจจริง  เพราะผู้บริโภคมักรู้ทันแบรนด์ที่ออกตัวทำเพื่อสังคมแบบผิวเผิน

แต่ขณะเดียวกันกลับมีปัญหากับแนวทางการทำธุรกิจของตนเอง หรือไม่ก็แบรนด์ที่เลือกใช้แนวทางในการสื่อสารผิดๆ ในประเด็นอ่อนไหว ผู้บริโภคในตลาดพัฒนาแล้วรู้สึกไม่มั่นใจกับบทบาทของแบรนด์มากกว่าตลาดอื่นๆ ซึ่งเพียง 33% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศออสเตรเลียที่รู้สึกว่าแบรนด์ต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับในประเทศอินเดีย มีผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 74% ที่ให้ความเชื่อถือและไว้ใจในกิจกรรมลักษณะนี้

ผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์ต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือในประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญ  การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกิจกรรมที่ผู้ตอบแบบสำรวจพูดถึงมากที่สุด ตามมาด้วยการริเริ่มให้ทุนอุดหนุนโครงการเพื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าว และการให้เงินสนับสนุนองค์กรต่างๆ โดยตรง

จอย ลี ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลประจำภูมิภาค จากธุรกิจ Insights Division ของกันตาร์ กล่าวว่า “แบรนด์ทั้งหลายล้วนตระหนักถึงอิทธิพลของจุดมุ่งหมายมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ดี ความท้าทายในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เราจะหาประเด็นที่ตรงใจชาวเอเชียที่มีความแตกต่างกันได้อย่างไร และจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังได้อย่างไร ทุกวันนี้แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างความแตกต่างได้ ซึ่งข้อดีคือ แบรนด์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องประกาศกร้าวให้รู้ไปถึงทั่วโลกเสมอไป เพราะการสนับสนุนโครงการและริเริ่มในระดับท้องถิ่น สร้างการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงที่แม้จะเล็กแต่มีความหมายนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญที่สุด”

การวิจัยเชิงปริมาณที่นำไปเป็นข้อมูลประกอบผลสำรวจของ Purpose in Asia ได้ออกสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจกลุ่มอายุมากกว่า 18 ปี ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนรวมกันกว่า 3,000 ราย โดยมีบริษัท Lightspeed เป็นผู้จัดทำ ซึ่งได้ออกสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 ในตลาด 9 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะโซเชียลมีเดียของจีนมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีบริบทเหมือนกัน ทำให้นำไปเปรียบเทียบได้ดีกว่า

ที่มา ภาพ วิกิพีเดีย

 

You Might Also Like