NEXT GEN

Liz Truss นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่ กับนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและพลังงาน

10 กันยายน 2565…Liz Truss กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พร้อมกับเผชิญหน้าปัญหาวิกฤตค่าครองชีพที่กําลังเกิดขึ้น และเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ พุ่งสูงตลอดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานจึงเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ ในวาระการประชุมสําหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่

แต่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและคํามั่นของรัฐบาลชุดก่อนๆ ก็เป็นประเด็นร้อนในช่วงการแข่งขันของผู้นําเช่นกัน เนื่องจากวิกฤตพลังงานและสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดการกับวิกฤตการณ์แบบใดกับเรื่องหนึ่งมักส่งผลกระทบต่ออีกเรื่องด้วย

ดังนั้น ขณะที่ Liz Truss นายกรัฐมนตรีเข้ารับตําแหน่งจากบอริส จอห์นสัน นี่เป็นสิ่งที่สังคมเคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการปัญหาสภาพอากาศของเธอ

เพิ่มการผลิตก๊าซ
สู้กับบิลค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงแรกของการทำงาน Truss เริ่มจัดลําดับความสําคัญของมาตรการ เพื่อลดต้นทุนพลังงานที่สูง เมื่อกำลังเผชิญวิกฤตค่าครองชีพ

หลังจากให้คํามั่นว่าจะ “ทำทันที” Truss ได้ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน ที่จะตรึงค่าพลังงานเฉลี่ยของสหราชอาณาจักรไว้ที่ 2,500 ปอนด์ (2890 ยูโร) ในอีกสองปีข้างหน้า โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ซัพพลายเออร์พลังงานเพื่อให้ครอบคลุมช่วงห่างระหว่างราคาที่ตรึงไว้ กับราคาตลาดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม

อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวจะไม่ได้มาจากภาษีลาภลอย หรือภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (Windfall Tax) เนื่องจาก Truss ปฏิเสธการให้เงินอุดหนุนวิธีนี้

“เราจะไม่ยอมแพ้ต่อผู้นําฝ่ายค้าน ที่เรียกร้องให้เรื่องนี้ได้รับเงินอุดหนุนจาก Windfall Tax”

Truss ให้ความเห็นว่าเธอจะผลักดันการผลิตก๊าซธรรมชาติมากขึ้น และสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันแบบ fracking ในพื้นที่ที่ประชาชนสนับสนุน

(หมายเหตุ การขุดเจาะน้ำมันที่เรียกว่า fracking เป็นการผลิตที่ผสมผสาน 2 เทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยจะฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดิน ทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เป็นเหตุให้ shale gas กับ shale oil / tight oil ที่ถูกเก็บกักอยู่ระหว่างชั้นหลุดออกมา กระบวนการขุดเจาะได้บริเวณกว้าง และได้ปิโตรเลียมจำนวนมาก แต่กระบวนการผลิตดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อบ่อน้ำและสิ่งแวดล้อม และอาจมีผลกระทบต่อแผ่นดินไหวด้วย)

อีกด้านหนึ่ง ที่ปรึกษาอิสระของรัฐบาลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและโครงสร้างพื้นฐานกล่าวเมื่อวันพุธว่าแผนนี้อาจไม่ได้ผล

“สหราชอาณาจักรไม่สามารถจัดการกับวิกฤตนี้ได้เพียงเพราะการเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว” ลอร์ดเดเบน ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน และเซอร์จอห์น อาร์มิตต์ ประธานคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติ ระบุ “การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศที่มากขึ้นอาจช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานโดยเฉพาะฤดูหนาวนี้ แต่ปริมาณสํารองก๊าซนอกชายฝั่งหรือจากหินดินดานน้อยเกินกว่าที่จะส่งผลให้ราคาที่ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรต้องจ่ายลดลง”

ทั้งสองคนย้ำว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าถูกที่สุด พร้อมเสริมว่า ลมและพลังงานแสงอาทิตย์บนบกสามารถนำมาใช้ได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ ลดการนำเข้าก๊าซของประเทศ

Truss ย้ำว่า
จะไม่จัดเก็บภาษีพลังงานสีเขียว

ระหว่างการรณรงค์หาเสียง Truss ให้คำมั่นสัญญาว่าเธอจะระงับการจัดเก็บภาษีสีเขียว หากนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบ้านและธุรกิจ การจัดเก็บภาษีนี้ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เพื่อรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตของสหราชอาณาจักร

Truss หวังว่าการขยับทำเรื่องนี้จะช่วยลดค่าพลังงาน แต่ผู้บริหารองค์กรผู้นำด้านพลังงานได้ประณามแนวคิดนี้ โดย Michael Lewis ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ E.ON กล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า “การทำเรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งผิดอย่างยิ่ง”

“ถูกแล้ว มันมีผลกระทบระยะสั้นต่อบิลค่าใช้จ่าย ในระยะยาว มันเป็นหายนะ เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีที่ขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนประสิทธิภาพการใช้พลังงาน”

Martin Lewis ผู้ก่อตั้ง Money Saving Expert กล่าวว่ามันเหมือนกับ “การติดปลาสเตอร์แผ่นเล็กๆ บนแผลที่เปิดกว้าง” สําหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ เนื่องจากหลายคนต้องเผชิญกับบิลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากเดิมหลายพันปอนด์

Truss ให้คํามั่นว่าจะ
“ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวเลข 2 หลัก”
สู่เป้า Net Zero ในปี 2050

Truss เรียกตัวเองว่าเป็น “นักสิ่งแวดล้อม ก่อนที่คำนี้จะเป็นแฟชั่น” Truss ได้ให้คํามั่นว่าจะ “ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวเลข 2 หลัก” เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050

นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่กล่าวระหว่างการรณรงค์หาเสียงว่า เธอจะดําเนินการทบทวนนโยบายปัจจุบันเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศจะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงทุ่มเทเต็มกำลังทำเรื่องนี้ โดยไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็นแก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา 29 คนจากทุกพรรคการเมือง เรียกร้องให้ Truss ให้คํามั่นต่อคําปฏิญาณนี้อีกครั้งในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ the Guardian เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

“เราหวังว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี ท่านจะยังคงสนับสนุนมาตรการที่ประเทศนี้จะไปถึงเป้า Net Zero ภายในปี 2050 หรือเร็วกว่านั้น”

คนกลุ่มนี้ ยังร้องขอให้ Truss นำสหราชอาณาจักรกลับสู่เส้นทางการสนับสนุนงบประมาณลดคาร์บอนที่มีผลผูกพันจริงตามกฎหมาย เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มการใช้ฉนวนกันความร้อนในบ้าน และสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการปกป้องธรรมชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน (Climate Change Committee-CCC) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ยังส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้สนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ยิ่งกว่านั้น CCC ยังเสริมด้วยว่า การบริหารจัดการให้สหราชอาณาจักรพึ่งพาก๊าซน้อยลงแทนที่จะเพิ่ม เป็นวิธีดีที่สุดในการพาตัวออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและพลังงาน

ที่มา

 

You Might Also Like