NEXT GEN

AIS ขยายโครงข่าย 5G เดินหน้าตอบโจทย์บริการพื้นฐานระบบสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม ผ่านกรณีศึกษา ความสำเร็จ Mobile Stroke Unit ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

4-6 มีนาคม 2565…. การขยายผลตามความมุ่งมั่นของ AIS ในการพัฒนาเครือข่าย 5G ให้เป็น โครงข่ายอัจฉริยะ ที่มีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อการทำงานเพื่อสร้างการเติบโตให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับภาคสาธารณสุขเพื่อนำศักยภาพของโครงข่ายเทคโนโลยีเข้าไปเสริมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Mobile Stroke Unit ที่เกิดจากความร่วมมือของ คณะแพทย์ศิริราชฯ – คณะวิศวฯ มหิดล ในการพัฒนาเพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกับประชาชน ให้เข้าถึงการรักษาที่ทันท่วงที ลดความเสี่ยงในการเกิดอัมภาต และอัตราการเสียชีวิต ซึ่งวันนี้สามารถรับเคสจริงได้กว่า 700 คน ผ่านรถ Mobile Stroke Unit ที่มีโครงข่ายสัญญาณ 5G เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวถึงความเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของ AIS 5G ซึ่งมีการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเครือข่ายจะมีความสำคัญมากขึ้นที่จะต้องเชื่อมต่อการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือภาคสาธารณสุข

“นับเป็นการขยายโอกาส ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่ง Mobile Stroke Unit ก็เป็นหนึ่งในภารกิจที่ AIS ทำมาอย่างต่อเนื่องในการร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศิริราช พยาบาลตั้งแต่การนำคลื่นสัญญาณ 3G,4G มาใช้ในช่วงแรก และเมื่อ 5G มาถึงเราก็ได้นำมาต่อยอดกับสิ่งที่เราทำตั้งแต่แรก เป็นการยกระดับศักยภาพการทำงานของฟังก์ชันและอุปกรณ์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ทั้งคุณภาพของสัญญาณ และความครอบคลุมของพื้นที่บนถนนทุกเส้นทางที่รถคันนี้ต้องวิ่งไปให้บริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อขั้นตอนการทำงานทั้งระบบได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

ภารกิจ AIS ได้ร่วมกับคณะทำงาน พัฒนาอุปกรณ์ภายในรถเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและกระจายสัญญาณเช่น

-5G CPE ที่รองรับสัญญาณการแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว
-การเพิ่มคุณภาพของสัญญาณการส่งภาพจากกล้องภายในรถ
-ภาพ CT Scan ที่มีความจำเป็นต้องส่งขึ้น Cloud อย่างเร็วที่สุด

ความรวดเร็วในการช่วยเหลือ ที่ต้องมีความเสถียรความคมชัดทั้งภาพและเสียง ไม่กระตุก เพื่อให้ทีมแพทย์ในส่วนกลางได้วินิจฉัยรวมถึงประเมินอาการระดับความรุนแรง หรือแม้แต่การปฐมพยาบาลเพื่อรักษาในเบื้องต้นได้ทันเวลา

“ระหว่างทำงาน มีเคสที่คีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทีม AIS ได้ไปวิ่งทดสอบเครือข่ายสัญญาณ 5G กับทีมทำงานของอาจารย์ เราได้เห็นเคสจริง ๆ เมื่อมีการประสานเข้ามาว่า มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่บริเวณนั้นต้องการการรักษา Mobile Stroke Unit ที่วิ่งอยู่พร้อมไหม พอบอกว่าพร้อมก็ทำตามขั้นตอนทันที แบบเรียลไทม์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการทดสอบ ยิ่งทำให้ทีม AIS เห็นผลที่ชัดเจนมากในการช่วยผู้ป่วย” วสิษฐ์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงทำงาน

รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและพิการ

ในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลพบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 13.7 ล้านคน ซึ่งการจะรักษาคนไข้กลุ่มนี้ได้นั้นมีปัจจัยหลักอยู่ที่มาตรฐานเวลา นั่นคือ หากพบอาการเร็ว ได้รับการวินิจฉัยเร็ว ก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อัตราของโอกาสการหายก็จะมีเพิ่มขึ้น ทางการแพทย์จึงจำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นเครื่องมือในการทำงานโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยมีเพียง 700 คน โดย 400 คนทำหน้าที่ในกรุงเทพฯ แต่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีในทุกพื้นที่ สัดส่วนคนไทยมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวนี้หากเดินมา 100 คน 2 คนจะมีโอกาส และ 1 ใน 2 คนเป็นโรคนี้แล้ว !

“หน้าที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ อีกเรื่องหนึ่งคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้สูงสุด และเมื่อได้ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช และพันธมิตรเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ทางคณะทราบว่า โรคนี้เกิดที่ไหนก็ได้ และต้องการเวลาเร็วที่สุดที่จะเข้าถึงเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น Mobile Stroke Unit ต้องเป็นรถปฏิบัติการได้ภายใน 5 นาที โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เสมือนนั่งอยู่ในรถ เพราะฉะนั้นการสื่อสารต้องเสถียร มั่นใจได้ทุกพื้นที่บริการต้องเข้าถึงได้ มีความรวดเร็วเพียงพอ โดยการอัพโหลด สปีด ส่งภาพสแกนสมองหลายจุดซึ่งเป็นภาพใหญ่จากเครื่อง CT Scan บนรถ ไปยังมือถือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบเรียลไทม์ เพื่อการรักษาได้ทันเวลา รถคันนี้จึงไม่ใช้รถเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่”

Mobile Stroke Unit ตัวรถและระบบต่าง ผ่านการทดสอบสมรรถนะ มาตรฐานความปลอดภัยด้านยานยนต์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านรังสี ติดตั้งและทดสอบระบบกู้ชีพ ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสารสัญญาณ AIS 5G ได้อย่างเสถียร อีกรถ Mobile Stroke Unit ได้จดทะเบียนเป็น “รถฉุกเฉินเฉพาะทาง” จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย

 

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากบริการรถ Mobile Stroke Unit นอกจากในกรุงเทพฯ จะไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ เช่นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี, โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม โรงพยาบาลศิริราช พร้อมเพิ่มรถจาก 5 เป็น 8 คัน เพิ่มเรือ 1 ลำ เพื่อเข้าถึงทางน้ำ ลองทำ MSU ในเรือ และจะทดลองให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาจากรพ.ศิริราช-ท่าเรือสาทร-ท่าน้ำนนท์ ระยะทางประมาณ 20 กม. เพื่อจะไปให้บริการในพื้นที่อ่าวไทย/ทะเลอันดามัน ในอนาคต

วสิษฐ์ กล่าวในท้ายที่สุดของการร่วมทำงานด้านสาธารณสุขโดยการนำเครือข่าย AIS 5 G มาปรับใช้นั้น เป็นสิ่งที่ AIS โฟกัสมาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามเป้าหมายหลักของ AIS ตลอดระยะเวลาช่วงหลายปีที่ผ่านมา เดินหน้าด้วยงบลงทุนกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาทในทุกปี เพื่อพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความสามารถในการยกระดับการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ สร้างประสบการณ์ และบริการใหม่ ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต หรือแม้แต่การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง

You Might Also Like