NEXT GEN

 กานติมา เลอเลิศยุติธรรม เผยมุมมองของเอไอเอสในการพัฒนาคน เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากร และเยาวชนของชาติรับมือกับอนาคต

13 มิถุนายน 2564…กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และกลุ่มอินทัช เผยวิสัยทัศน์บนเวทีสัมมนาออนไลน์ของ The Stanford Thailand Research Consortium หัวข้อ Future Thailand Innovation in Education and Workforce Development ในเรื่องของการพัฒนาคน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ไม่อาจคาดเดาได้

การสัมมนาดังกล่าวอยู่ในโครงการ Innovative Teaching Scholars หรือ ITS เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมด้านการสอนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของตนเองโดย Stanford Thailand Research Consortium (STRC) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development: SCPD) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของ เอไอเอส-กสิกรไทย- เอพี (ไทยแลนด์)

กานติมา กล่าวถึงภาพกว้างในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้งหลังโควิด-19 ส่งผลกระทบในทุกมิติอย่างรวดเร็วและรุนแรง สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาศักยภาพใหม่ ๆ ให้กับคนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ในเวทีดิจิทัลระดับโลก

นี่คือ “พันธสัญญาที่สำคัญยิ่ง (Vital Obligation)” ในการร่วมกันสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของคนไทย และความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรภาคการศึกษาตลอดจนภาคเอกชน คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

“เอไอเอสเราเชื่อเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อก่อนนั่งทำงานที่ออฟฟิศ แต่เมื่อเจอโควิด-19 เราต้อง Work from Home ใช้การสื่อสารทางออนไลน์ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เพราะจะต้องดำเนินธุรกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เชื่อว่าต่อไปเราจะเห็นคนจะทำงานแบบรีโมต คือทำที่ไหนก็ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารจึงมีมากขึ้น โดยองค์กรต้องสนับสนุน เพื่อช่วยให้พนักงานของเราทุกระดับใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้น ซึ่งพนักงานมากกว่า 50% เปิดรับ เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เห็นภาพเดียวกันว่า ชีวิตจะไม่กลับไปเป็นเหมือนก่อนยุคโควิด-19 แน่นอน และสิ่งที่เห็นแล้วตอนนี้คือ กระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ ในองค์กรจากเดิมผู้บริหารมีอำนาจการตัดสินใจเต็มรูปแบบ ปัจจุบันเปิดโอกาสกว้าง ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขององค์กร”

เมื่อโลกแห่งการทำงานจริงของภาคธุรกิจเปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ย่อมเสมือนการปรับเปลี่ยนดีเอ็นเอในองค์กรไปด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ภาคเอกชนจะต้องโฟกัส และเน้นไปที่พนักงานทุกระดับในองค์กร ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ภาคการศึกษาช่วยคือ การเตรียมความพร้อมของคนเมื่อจะเข้ามาทำงาน เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับแนวความคิดความสามารถ และความแข็งแกร่ง ของภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อนำส่งคุณภาพที่ดีไปยังนักเรียนที่จะจบการศึกษา

“การรู้จักเด็กใหม่จากการสัมภาษณ์ด้วยเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะเรื่อง Soft Skill องค์กรสูญเสียโอกาสในการที่จะหาเด็กที่ใช่เลยในแบบขององค์กร แต่เราเชื่อว่าต้องหา Growth Mindset เพราะมีเครื่องมือทางจิตวิทยาจำนวนมากในการประเมินคน ประเมินเด็กจบใหม่ สามารถประเมินได้ก่อนที่จะสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ เพื่อทำให้องค์กร หรือนายจ้างมั่นใจ โดยเด็กใหม่ที่เราต้องการคือ คนที่เปิดมุมมอง เปิดโลกทัศน์ ”

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกช่องทางการได้มาของพนักงานใหม่ของเอไอเอส คือ “นักศึกษาฝึกงาน” พบว่า เด็กไม่ต้องกลัวเรื่องการประเมิน เขาทำงานเต็มที่เพราะเขาฝึกงาน เรื่องต่อมาเอไอเอสใช้แพลตฟอร์ม AIS Academy เพื่อติดตามผลของเด็กเมื่อฝึกงาน สิ่งที่สำคัญคือระบบ Buddy ,Coach หัวหน้าแผนกที่คัดเลือกเด็กจบใหม่จะเห็นวิธีการทำงาน พลังของเด็ก ๆ เช่นเวลาระดมสมองคนรุ่นเดียวกันของพวกเขาก็จะมีรูปแบบที่แตกต่าง เมื่อเด็ก ๆ อยู่ด้วยกันระยะเวลาหนึ่ง เขาได้สร้างความเชื่อมโยง การผูกพันกัน ซึ่งเขาจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเอไอเอสในอนาคต ควบคู่กับพนักงานเดิมขององค์กร

เมื่อเป็นเช่นนี้ทักษะสำคัญที่พนักงานควรมีก็คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Active Learning) และการเป็นผู้นำ (Leadership)

คลิกภาพเข้าสู่เว็ปไซต์ AIS Academy

“เรายังเชื่อว่าคณาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ สามารถเตรียมทรัพยากรบุคคลที่แข็งแรง จบการศึกษาปริญญามาแล้วก็ยังต้องเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ที่มาจากประสบการณ์ตรงในที่ทำงาน และทางอ้อมจากการแบ่งปันในการเรียนรู้ระดับนานาชาติ ซึ่งที่เอไอเอสเอง การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงอยากให้สังคมเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาการเป็นผู้นำ”

กานติมากล่าวในท้ายที่สุดว่า คนรุ่นใหม่ เขาคืออนาคต ผู้ใหญ่ปัจจุบันต้องคิดถึงอนาคต แล้วมองกลับมาที่ปัจจุบันว่า จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง เมื่อระบบการศึกษาแข็งแรงมากกว่านี้ ปรับตัวมากยิ่งขึ้น คนรุ่นใหม่จะมีพื้นฐานที่แข็งแรงในการทำงานสำหรับโลกที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงอย่างในปัจจุบัน

 

You Might Also Like