11-12 กันยายน 2567…“ความเหลื่อมล้ำ” ถือเป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมากนัก ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การขาดการศึกษา คนหนุ่มสาวทิ้งถิ่นที่อยู่เพื่อหางานทำในเมือง รวมถึงปัญหายาเสพติดและการเกิดอาชญากรรมต่าง ๆ
เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าโมเดล“มหัศจรรย์ชุมชน” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย SDGs & ESG เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมด้วยหลักพึ่งพาตนเอง ต่อยอดการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่าให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดึงศักยภาพชุมชน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่สังคม ผ่านพลังมหัศจรรย์ของ 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย ได้แก่ ผู้สูงวัย กลุ่มสตรี และคนรุ่นใหม่
SCGC ดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ผ่านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การจัดตลาดนัดชุมชนภายในโรงงาน การใช้บริการและสินค้าต่าง ๆ จากท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่กว่า 56 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา
น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม SCGC กล่าวถึงโมเดล “มหัศจรรย์ชุมชน” ว่า SCGC ตั้งอยู่ที่จ.ระยองมานานกว่า 40 ปี เป็นเสมือนบ้านเกิดของเอสซีจีซี ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี จึงเกิดความผูกพันกับพี่น้องชุมชนเหมือนเพื่อน เหมือนครอบครัว ด้วยความเชื่อที่ว่า ธุรกิจสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างเกื้อกูลกัน ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด จากการทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิดนี่เอง ทำให้เห็นถึงศักยภาพ วิธีคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนหลากหลายกลุ่ม นำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่อการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า ภายใต้โมเดล ‘มหัศจรรย์ชุมชน’ โดยนำเอาความแข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ของกันและกันมาเติมเต็มศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
“ความมหัศจรรย์ของชุมชนมีหลายด้าน สำหรับมุมมองของเรา คือ หนึ่งคือการคิดพึ่งพาตนเอง เรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ สอง ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต สาม สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้ตนเองและผู้อื่น เช่น การสร้างเครือข่าย กระจายรายได้ สู่ครัวเรือนต่าง ๆ สุดท้ายคือการที่ชุมชนมีหัวใจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เราอยากเห็นสินค้าของชุมชนเป็นที่รู้จักและสามารถขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงทำให้คนทั่วไปได้รู้จักสินค้าที่ดีของชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนและคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดมีรายได้ที่มั่นคง สร้างให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น คำว่ามหัศจรรย์ชุมชน ทำให้เราได้มองเห็นคุณค่าของชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในเจนเนเรชันไหนก็ตาม
และเพื่อสะท้อนความมหัศจรรย์ของชุมชนให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น เราจึงนำเรื่องราวการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่าภายใต้โมเดลมหัศจรรย์ชุมชนจาก 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย ในพื้นที่ระยอง ได้แก่ ผู้สูงวัย สตรี และคนรุ่นใหม่ มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องในสังคมไทย เรื่องราวเหล่านี้ อาจจะสะดุดใจ และเป็นทางออกให้กับใครได้บ้าง”
เรื่องราวความมหัศจรรย์จาก 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย เริ่มจาก
วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงซันโรงบ้านทับมา
มหัศจรรย์พลังผู้สูงวัย
วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา กลุ่มผู้สูงอายุที่สร้างคุณค่าให้ตนเอง ส่งต่อรังชันโรงตัวเล็ก ๆ สู่การสร้างรายได้ สร้างเครือข่ายชันโรง และสร้างความสุขในวัยเกษียณ ภายใต้แบรนด์ “บ้านมีชันดี” พร้อมการสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มด้วยการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรง ไปพร้อมกับการสร้างรอยยิ้มให้ผู้สูงวัย
ประไพ คชรินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา ย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า
“ด้วยความใกล้เกษียณอายุและไม่ชอบอยู่เฉย หากเกษียณแล้วกลับไปนั่งนอนเลี้ยงลูกหลานที่บ้านก็จะทำให้พลังของเราหมดลงไปเรื่อย ๆ จึงมองหางานที่เราทำได้และไม่เหนื่อย ไม่ลำบาก เกิดความสุขต่อตัวเอง ตอนแรกนึกถึงการเลี้ยงผึ้ง แต่ลูกบอกว่าอันตรายเกินไปสำหรับคนสูงวัย จึงนึกถึงชันโรง ซึ่งเป็นแมลงท้องถิ่นที่เราเรียกกันว่าแมลงรำคาญ โดยหาองค์ความรู้และเริ่มจัดตั้งวิสาหกิจขึ้นมาโดยมีวิสาหกิจที่จันทบุรีเป็นเครือข่าย”
“ชันโรง” เป็นแมลงเศรษฐกิจตัวจิ๋วพลังแจ๋ว ที่มากด้วยประโยชน์ ไม่มีเหล็กใน ระยะบินไม่ไกลมาก เป็นแมลงพันธุ์เล็กที่สามารถหาอาหารเองจากพืชดอกทั่วไป ชันโรงทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ หากเป็นพื้นที่สมบูรณ์ก็จะพบชันโรงได้ไม่ยากยิ่งถ้าเลี้ยงในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ด้วยแล้ว น้ำผึ้งที่ได้ก็จะเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์มากมาย ประกอบกับเอกลักษณ์ของพื้นที่ เพราะมีส่วนประกอบของสารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์จากพืช มีสรรพคุณทางยา ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล และบำรุงสมองและยังได้สารสกัดพรอพอลิส (Propolis) และเกสรของผึ้งชันโรงมาผลิตเป็นสินค้าอื่นนอกจากน้ำผึ้งอีกด้วย
“เราเริ่มต้นทดลองเลี้ยง 3 กล่อง ใช้ได้เพียง 1 กล่อง แต่ 1 กล่องที่ได้จุดประกายความหวังว่าเราก็สามารถเลี้ยงให้สำเร็จได้ ช่วงโควิด-19 เราไม่ได้ออกไปไหนก็มีการทดลองเลี้ยง และปรับเปลี่ยนวิธีการจนเริ่มมีเพื่อน ๆ ที่สนใจเหมือนกันเข้ามาร่วม ประกอบกับ SCGC เข้ามาสนับสนุนและให้โอกาสเราเห็นคุณค่าเรา ทำให้เราพัฒนาตัวเอง สร้างพลังบวกให้เรา ทำให้เราก้าวเดินบนทางที่ราบเรียบได้จากตอนแรกที่เราเดินบนหนทางที่ขรุขระมาก่อน”
แม้กำลังวังชาของผู้สูงวัยในกลุ่มจะช่วยขยายบ้านของชันโรงได้ทีละเล็กละน้อย แต่ด้วยความร่วมมือระหว่าง SCGC และภาคส่วนต่าง ๆ ก็ทำให้การเพาะเลี้ยงชันโรงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีผู้เลี้ยงชันโรงกว่า 50 ราย สร้างรังให้ชันโรงได้กว่า 400 รัง โดย SCGC ได้นำผู้เชี่ยวชาญมาต่อยอดองค์ความรู้ นำน้ำผึ้งที่ได้ไปทดสอบคุณสมบัติ เตรียมพร้อมที่จะขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP และยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สินค้าประจำจังหวัดระยอง ภายใด้ชื่อแบรนด์ “บ้านมีชันดี” สร้างมูลค่าจากสินค้า และสร้างรอยยิ้ม เพิ่มพลังใจให้กับผู้สูงวัย กระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ
“การทำงานของเราเราเน้นสร้างความสุขให้กับตัวของเราเองเป็นอันดับแรก เมื่อมีความสุขก็จะทำให้เราสามารถสร้างอาชีพและรายได้ตามมา”
วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด
มหัศจรรย์พลังหญิง
วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า ชุมชนมาบชลูด กลุ่มแม่บ้านที่มีข้อจำกัดจากการดูแลครอบครัว แต่สามารถเอาชนะอุปสรรคจนยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง รวมกลุ่มกันตัดเย็บกระเป๋าภายใต้แบรนด์ “Chalud” ที่มาพร้อมกับสโลแกน “ทุกรอยเย็บ มาจากรอยยิ้ม” สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ประคอง เกิดมงคล หรือ พี่โต ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด เผยว่า จุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด เกิดจากการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่มีข้อจำกัดคล้ายกัน คือการต้องรับผิดชอบหน้าที่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงวัย และสมาชิกในครอบครัว จึงได้มีการชักชวนมารวมกลุ่มกันรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน จนพัฒนามาสู่การตัดเย็บกระเป๋าหลากหลายรูปแบบ มีการแบ่งงานไปทำที่บ้านของสมาชิกแต่ละคน กระจายรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงเป็นที่มาของกระเป๋าผ้าภายใต้แบรนด์ “ชลูด Chalud” ที่มีสโลแกนว่า “ทุกรอยเย็บ มาจากรอยยิ้ม”
“จังหวัดระยองมีกลุ่มวิสาหกิจที่ทำกระเป๋าหลายกลุ่ม แต่ของเราจะเป็นกลุ่มทำกระเป๋าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย กลุ่มเราเริ่มจากการที่พี่เป็นช่างตัดเสื้อมาก่อน ตอนหลังคนหันมาใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น เราจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง จากทำมาหากินคนเดียวมาหาเพื่อนเพื่อรับงานก้อนใหญ่ เราจึงรวมกลุ่มน้อง ๆ ที่มีความสามารถในการเย็บผ้าเข้ามาเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ กลุ่มของเราเป็นแม่บ้านล้วนที่ต้องอยู่ดูแลบ้าน ลูกหลาน หรือคนแก่ เราจึงคิดว่าน่าจะเย็บกระเป๋าขาย เพราะสามารถทำอยู่ที่บ้านได้ โดยคนในกลุ่มก็จะแบ่งหน้าที่ แชร์ความรู้กัน ทำให้เกิดรายได้ ด้วยความที่เรามีหน้าร้านซึ่งเป็นบ้านของพี่เองทำให้ลูกค้าได้เห็นสินค้า เริ่มต้นเราขายได้ 800 บาท ดีใจมากเพราะถือเป็นการเติบโตอีกขั้นของเรา เป็นความภูมิใจของเรา”
SCGC ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบสินค้า การเสริมทักษะการตัดเย็บและการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การทำการตลาดออนไลน์ และการออกร้านในกิจกรรมต่าง ๆ กระเป๋าผ้าชลูดจากฝีมือกลุ่มแม่บ้านมีคุณภาพที่ดี ราคาจับต้องได้ โดยในแต่ละเดือนกลุ่มแม่บ้านเหล่านี้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถสร้างรายได้หลักแสน และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น
วิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง
มหัศจรรย์พลังคนรุ่นใหม่
จากวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ภายใต้แบรนด์ “บ้านรลิณ” ปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100%
จากครอบครัวที่คลุกคลีกับวิถีเกษตรอินทรีย์ สู่การทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแบรนด์ “บ้านรลิณ” ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากให้สมาชิกในครอบครัวใช้ของดี ปลอดภัย และไม่เกิดอาการแพ้ รัณยณา จั่นเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณ หรือ หรือปอ ประธานวิสาหกิจฯ จึงเริ่มศึกษาสูตรการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจัง ทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเครื่องปรุงรสอาหาร เมื่อใช้ได้ผลดี ก็เริ่มแบ่งปันให้คนรอบตัวทดลองใช้ เป็นวิถีชีวิตแบบ “กรีน ลีฟวิ่ง” ที่ช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง
รัณยณา เล่าว่า “กลุ่มเราเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาในครอบครัวก่อน เพราะน้องเป็นคนแพ้ง่ายมากต้องใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแต่ก็ไม่มีแบรนด์ไหนที่ใช้ได้นาน นอกจากนี้เรายังสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงชอบไปเที่ยวตลาดแนวรักษ์โลก จนเจออาจารย์นักเคมีที่สอนทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งพอเรานำมาใช้ก็ช่วยแก้ปัญหาให้น้องได้และช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมจึงไปเรียนทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกับอาจารย์ท่านนั้นอย่างจริงจัง และนำมาปรับสูตรสำหรับใช้ที่บ้าน เริ่มทำจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในบ้าน และช่วยแก้ปัญหาของน้องและสิ่งแวดล้อม เมื่อเรารู้สึกว่าดีจึงส่งต่อให้คนอื่นได้ใช้และกลายเป็นธุรกิจขึ้นมา โดยทำสินค้าขายทางออนไลน์ เพื่อเป็นอาชีพเสริม ”
ผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพราะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% ด้วยความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบ จึงเริ่มสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในพื้นที่ รับวัตถุดิบที่ปลูกแบบอินทรีย์ มาเพื่อผลิตเป็นสินค้าของบ้านรลิณ เช่น “มะกรูด” เลือกรับจากชาวบ้านที่ปลูกแบบออร์แกนิกมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ หรืออย่างสับปะรด จะใช้ “สับปะรดทองระยอง” ผลไม้ GI (Geography Indication) ของจังหวัดนำมาเป็นส่วนผสม ซึ่งทั้งหมดนี้ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และผู้บริโภคก็ได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัย สามารถกระจายรายได้สู่สังคม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน
บทบาทของ SCGC ที่เข้าไปช่วยเข้าไปช่วยวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ คือการเติมเต็มในเรื่องกระบวนการขอรับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการร่วมกันพัฒนาสารสกัดธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และทำการตลาด เป็นต้น
“การเข้ามาสนับสนุนของ SCGC ทำให้เรารับมาตรฐาน ส่งผลให้ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ”
น้ำทิพย์ ปิดท้ายว่าการทำงานร่วมกับชุมชน เริ่มจากการทำความเข้าใจชุมชนว่ามีศักยภาพด้านไหน มีจุดแข็ง หรือมีปัญหาอะไร แต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์ มีความถนัด และมีวิธีคิดที่แตกต่างกันไป การส่งเสริมและสนับสนับจึงไม่เหมือนกัน
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของแต่และกลุ่มวิสาหกิจเติบโต ต้องเริ่มจาก Passion ความต้องการต่างๆ ต้องมาจากความตั้งใจของชุมชนจริง ๆ เราเป็นเสมือนพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาเติมเต็มศักยภาพ และหาเวทีต่างๆ ให้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือแรงขับเคลื่อนของคนในชุมชนที่มุ่งมั่นสร้างคุณค่าให้กับอาชีพของตน โดยไม่ละเลยสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคง และส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป”