CSR

บ้านปู แท็กทีมมหิดล ย้ำแนวคิด ESG ผ่านค่าย “เพาเวอร์กรีน” ครั้งที่ 18 นำเยาวชนไทย สำรวจปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

24 พฤศจิกายน 2566…บ้านปู ตอกย้ำแนวคิดการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จัดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม Power Green Camp อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 ภายใต้ธีม “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” พาเยาวชนสำรวจปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ

แนวโน้มปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศไทยดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถิติจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2565 พบว่า คนไทยสร้างขยะโดยเฉลี่ยคนละ 1.2 กิโลกรัม/วัน และคนไทยประมาณ 66 ล้านคน ผลิตขยะมูลฝอยเกือบ 70,000 ตันต่อ/วัน (ที่มา: https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2023/04/pcdnew-2023-04-11_03-13-24_292638.pdf) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด โดยมีขยะประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตันหลุดรอดลงสู่ทะเล (ที่มา https://thestandard.co/10-country-ocean-plastic-waste/ )

พื้นที่ที่เยาวชนค่าย “เพาเวอร์กรีน”ครั้งที่ 18 ได้สัมผัสขยะจากบ้านเรือนจริงตั้งแต่ต้นทาง

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ มุ่งมั่นสร้างประโยชน์และคุณค่าอย่างยั่งยืนให้สังคม โดยให้ความสำคัญกับ “การสร้างเสริมศักยภาพและพลังให้กับคน” (Human Empowerment) ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร และบริบทของสังคมภายนอก อาทิ การศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง

สำหรับโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Power Green Camp) เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างบ้านปูกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งภารกิจสำคัญของโครงการฯ คือการสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ให้แก่กลุ่มเยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาในระดับชุมชน เมือง ประเทศ และอาจไปถึงระดับนานาชาติ

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Power Green Camp) เป็นค่ายที่จัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 18 แล้ว แม้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราก็ยังเล็งเห็นความสำคัญของการจัดค่ายฯ ในรูปแบบออนไลน์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราก็กลับมาจัดค่ายฯ ในรูปแบบปกติ และพยายามเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาการเรียนรู้และรูปแบบของกิจกรรมมากขึ้น

“ปัจจุบัน บ้านปูได้สร้างเครือข่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผ่านค่ายนี้เกิน 1,000 คนแล้ว นักเรียนที่มาเข้าค่ายกับเรารุ่นแรก ๆ ตอนนี้ก็เติบโตกันหมดแล้ว ผมได้เจอศิษย์เก่าเพาเวอร์กรีน รุ่น 9 ตอนนี้เขาเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์อยู่ที่โรงเรียนแม่ทะพัฒนศึกษา จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนภายใต้โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบ้านปู เมล็ดพันธุ์ที่บ้านปูกับมหิดลได้ร่วมกันเพาะได้แตกกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ บางคนก็ยังสานต่อทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือหากคนไหนไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง เขาก็จะมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มข้นมาก และจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมได้”

สำหรับ “ค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” มีเยาวชนหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ สนใจสมัครเข้าร่วมค่าย ‘เพาเวอร์กรีน’ เป็นจำนวนมากถึง 335 คน จาก 181 โรงเรียน 63 จังหวัด โดยคัดเลือกผู้สมัครจากการจัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ให้เกิด “ชุมชนไร้ขยะ” ส่งมาสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มีเยาวชนจำนวน 50 คน จาก 48 โรงเรียน 30 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รับเลือกให้เข้าร่วมภารกิจพิทักษ์โลกในครั้งนี้

รัฐพล ย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ภายใต้แนวคิดในข้างต้นว่า โครงการฯ ต้องการให้เยาวชนรู้จักการนำหลัก 3 Greens มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่าย และรู้จักการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

-Green Cloud หรือเทคโนโลยี Cloud-computing เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการบูรณาการวิทยาการทางเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ การจัดเก็บข้อมูล การบริการทรัพยากรข้อมูล เพื่อนำไปช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

-Green Technology คือเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกออกแบบมาด้วยการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

-Green Influencer หมายถึงผู้ขับเคลื่อนเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านโซเชียลมีเดีย กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ติดตาม โดยมีเซเลบริตี้คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเน๋ง-สัตวแพทย์ศรัณย์ นราประเสริฐกุล และ เอิ๊ต-ภัทรวี ศรีสันติสุข ร่วมทริปในครั้งนี้ด้วย

เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล นักแสดงและสัตวแพทย์ที่มาร่วมกิจกรรมกับเยาวชนทุกการเรียนรู้

“ค่ายเพาเวอร์กรีน มีความมุ่งหวังให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการทำงาน และสามารถนำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต รวมถึงต้องการปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมไปพัฒนาและสร้างสรรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป ส่วนในยุคของโซเชียลมีเดียแบบนี้ เราเห็นความสำคัญในการส่งเสริมทักษะด้านการสื่อสาร รวมถึงเทคนิคการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนสามารถเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมได้” รัฐพล กล่าวเสริม

สำหรับการเรียนรู้ในพื้นที่จริงของเยาวชนตลอด 7 วันต้องเรียกว่าจัดเต็มกับประเด็นปัญหาขยะ โดยประเดิมเปิดค่ายฯ ด้วยการเปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ปูพื้นฐานภาคทฤษฎีให้เข้าใจปัญหาขยะและแนวทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง รวมถึงการนำเทรนด์ 3 Greens: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer มาสอดแทรกอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่าย

หัวข้อที่น่าสนใจ มีการพูดถึง การทำความเข้าใจวัฏจักรชีวิตของการจัดการขยะ (Life Cycle Waste Management) การฝึกใช้ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System : GIS) ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการปัญหาขยะ นอกจากนี้ยังมีผู้อยู่เบื้องหลังเพจ “Go Green Girls” อินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม ฝึกสร้าง Content เรียนรู้เทคนิคและประสบการณ์ตรงจากคนดังในแวดวงโซเชียลมีเดีย ปูทางสู่การเป็น Green Influencer

เยาวชนทั้ง 50 คน ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการจัดการปัญหาขยะที่หลากหลาย ร่วมกับ TerraCycle Thai Foundation ที่พาลงเรือออกสำรวจปัญหาขยะ เก็บขยะในพื้นที่ชุมชนคลองลาดพร้าว มีการเรียนรู้การคัดแยกขยะก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ศึกษาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade ใน จ.ระยอง ซึ่งการนำขยะพลาสติกมาผ่านกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด และรีไซเคิลเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกนี้สามารถลดขยะพลาสติกในประเทศได้ถึง 60,000 ตัน/ปี

ขยะเศษอาหารจากมนุษย์ ถูกเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์โดยหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) และหนอนยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้

เมื่อข้ามไป เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เยาวชนได้เรียนรู้วิธีการจัดการ “ขยะอินทรีย์” โดยร่วมทำกิจกรรมกับวิสาหกิจเพื่อสังคม Betterfly ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C รุ่นที่ 10 ที่นี่ เยาวชนได้เรียนรู้วิธีการจัดการขยะเศษอาหารเหลือทิ้งในชุมชนโดยใช้หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) เป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะเศษอาหารให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้มูลหนอนเป็นปุ๋ย และนำหนอนไปเป็นอาหารไก่และปลา ปัจจุบันผลผลิตที่เกิดจากเศษอาหารดังกล่าวได้ผลิตขายและถูกนำไปใช้ในภาคการเกษตร โดยการเรียนรู้ในส่วนนี้ จะเห็นถึงการช่วยลดการฝังกลบขยะเศษอาหาร ตอบโจทย์การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในชุมชน

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“จากกิจกรรมที่ไปดู Betterfly เด็กๆ ได้เรียนรู้จะการลงมือทำจริง เช่นการเก็บเศษอาหารที่ตัวเองทานเหลือมาเป็นอาหารให้หนอนแมลงวันลาย การนำหนอนไปให้ไก่และกิน ซึ่งได้ประโยชน์มาก สะท้อนให้เห็นแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้สู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ เป็นการสร้างการตระหนักรู้ให้กับเยาวชน นำวิทยาศาสตร์มาแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อม” รัฐพลกล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บขยะบริเวณหน้าหาดทราย และเก็บตัวอย่างทรายไปทดลองในห้องปฏิบัติการที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสำรวจการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสภาพแวดล้อม

เยาวชนกำลังเก็บตัวอย่างทรายจากหน้าหาด เพื่อทดสอบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

“มหิดลสานต่อเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เพราะเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านวิชาการ และงานด้านสังคม ในการทำงานกับบ้านปูจะมีการกำหนดแนวคิดหลักของการเรียนรู้ เช่น 2 ปีที่แล้วมีสถานการณ์โควิด-19 เราก็ยังทำค่ายด้วยแนวคิดและโจทย์ของกิจกรรม คือ การถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังเด็กให้อยู่กับสถานการณ์การระบาดของโรคและ New Normal โดยที่ยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ส่วนปีที่แล้วเป็นด้านธรณีวิทยาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สำหรับปีนี้ ที่สถานการณ์ปัญหาขยะก็มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เราจึงนำเรื่องนี้ซึ่งใกล้ตัวเด็กมาออกแบบการเรียนรู้ เพราะขยะไม่ใช่ปัญหาที่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรํฐจะแก้ไขได้โดยลำพัง แต่เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน และทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน”

ค่าย “เพาเวอร์กรีน” ครั้งที่ 18 เป็นการตอกย้ำภารกิจการส่งเสริมเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเด็กเป็นเยาวชนของชาติ และเยาวชนของโลก บ้านปูไม่ได้ต้องการมองการแก้ปัญหาแคบ ๆ เฉพาะเรื่อง แต่ต้องการให้เยาวชนไทยตระหนักรู้ในทุกมิติ และนำความรู้ความเข้าใจนี้ไปเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างจริงจังทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโลกอย่างยั่งยืน

“บ้านปูให้ความสำคัญเรื่อง ESG มาโดยตลอด และค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นโครงการฯ ที่ตอบโจทย์ทั้ง E ซึ่งเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) และ S ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาคน ซึ่งบ้านปูให้ความสำคัญมาก และยังมองถึงการพัฒนาโครงการฯ ให้เข้มข้นขึ้นในอนาคต ทำอย่างไรไม่ให้ค่ายนี้อยู่ที่เดิม ต้องใส่ความเป็นเมกกะเทรนด์เข้าไป เพื่อให้รู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และที่สำคัญมากคือเรื่องการสื่อสารเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ให้แก่คนรอบข้าง เราจึงนำ Green Influencer และ Celeb ที่มีความรู้ ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมกิจกรรม เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน” รัฐพลกล่าวปิดท้าย

You Might Also Like