CSR

SCGC พลิกฟื้นป่าต้นน้ำ เขายายดา ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ 
นำแนวคิด Payment for Ecosystem Services: PES มาใช้ เพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืน

2-3 กันยายน 2566… เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน หรือ Chemicals Business for Sustainability ซึ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ที่ให้ความสำคัญกับ Environmental, Social and Governance เพิ่งได้รับโล่เกียรติคุณจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-Based Economy Development Office : BEDO) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากการนำแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Services: PES ซึ่งเป็นหนึ่งในการประเมินคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้ประยุกต์ใช้กับโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง เพื่อให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

หลายคนอาจสงสัยว่าแนวคิด PES คืออะไร ทำไมองค์กรอย่าง SCGC จึงให้ความสำคัญและนำแนวคิดนี้มาใช้

ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล อดีตผู้อำนวยการส่วนวิจัยต้น สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ปรึกษาโครงการชุมชนคนน้ำดี อธิบายว่า Payment for Ecosystem Services หรือ PES เป็นแนวคิดในการส่งเสริมให้ผู้ใช้ หรือได้รับประโยชน์จากนิเวศบริการ หรือบริการของระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และ/หรือ ชุมชนที่อยู่บริเวณตอนล่างของพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์น้ำ จากการเอื้ออำนวยน้ำของพื้นที่ต้นน้ำ ทำการจ่าย ซื้อ หรือตอบแทนต่อสิ่งที่ใช้ไปให้กับผู้ทำหน้าที่ดูแล รักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศนั้น ๆ ซึ่งก็คือ ชุมชนต้นน้ำ

ตลอดจนการพัฒนาการทำงานตามหน้าที่ของพื้นที่ทำการเกษตร บริเวณกลางของลุ่มน้ำให้มีความสามารถในการดูดซับ และเก็บกักน้ำฝน จนระบายน้ำท่าให้กับลำธารลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำ ใกล้เคียงป่าธรรมชาติมากขึ้น (การปรับพื้นที่อาจทำโดยการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นป่ากินได้ ซึ่งจะเป็นงานในอนาคต) เกิดเป็นขวัญและกำลังใจในการดำเนินงาน มีศักยภาพการดำเนินงานที่สูงขึ้น และมีรายได้เสริม

น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม SCGC กล่าวเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Emergency ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมทั้งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและวิกฤตทางอาหารได้ในที่สุด SCGC จึงดำเนินโครงการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล ผ่านโครงการ ‘ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง’ และ ‘โครงการบ้านปลา SCGC’

 

น้ำทิพย์และโล่เกียรติคุณ BEDO

“เราทำต่อเนื่องมาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งสามารถเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศทั้งบนบกและในทะเลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหัวใจสำคัญเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนรอบเขายายดาที่เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลแกลง สถานีวิจัยป่าต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นต้น”

การนำแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ หรือ PES มาใช้ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่าง SCGC ชุมชนรอบเขายายดา หน่วยงานราชการท้องถิ่น และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำบริเวณเขายายดาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และคำนวณตามมาตรฐานสากลเพื่อให้เห็นมูลค่าของระบบนิเวศที่ได้รับการฟื้นฟูต่อผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าระบบนิเวศบริการ หรือ PES ของป่าต้นน้ำเขายายดา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

แล้วทำไมต้องเป็นเขายายดา จ.ระยอง

หากศึกษาลึกลงไปเราจะพบว่า เขายายดาตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 28,900 ไร่ ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดเล็กและใหญ่ขึ้นปะปนกัน และมีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง

ต่อมาพื้นที่นี้กลับกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่มีเรือนยอดเพียงชั้นเดียว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ภายหลังจากการดำเนินการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านมาบจันทร์ และชุมชนอื่น ๆ รอบเขายายดาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี อย่างต่อเนื่อง  ตามโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ จาก SCGC ได้แก่  การสร้างคน-สร้างกติกา-เก็บน้ำ-เก็บข้อมูล  พบว่าในปี 2565 ป่าต้นน้ำเขายายดาให้น้ำท่าในลำธารรวมผลผลิตเกือบ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

นอกจากนี้ จากการศึกษาโดยการสำรวจและแปรภาพถ่ายทางอากาศ พบพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น พบพรรณไม้ถึง 120 ชนิดพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 123 ชนิด อีกทั้งยังพบว่ามีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยกว่า 40 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่

 

ความร่วมมือรของชุมชนรอบเขายายดาในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

ดร.พงษ์ศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา แตกต่างจากการบริหารน้ำท่วม/น้ำแล้ง ที่อื่นตรงที่การบริหารน้ำท่วม/น้ำแล้งจะเป็นการจัดการผลผลิตของน้ำ ได้แก่ น้ำท่าที่ไหลในลำธาร และน้ำจากแหล่งน้ำอื่น ๆ ซึ่งเป็นนิเวศบริการอันหนึ่งของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำบ่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน กับปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ และ/หรือ อ่างเก็บกักน้ำสำหรับลุ่มน้ำขนาดกลาง โดยมีกรมชลประทานทำหน้าบริหารจัดการน้ำในเขื่อน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก

แต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา ภายใต้การร่วมมือกันระหว่าง ชุมชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ และ SCGC เป็นการจัดการโครงสร้างบางตัวของระบบนิเวศต้นน้ำ คือ ป่าไม้ หรือพืชคลุมดิน ดิน และน้ำ ให้ทำงานตามหน้าที่ในการดูดซับน้ำฝน ในขณะที่ฝนตก และ/หรือ ช่วงฤดูฝน และปลดปล่อยน้ำท่าให้กับลำธาร หลังจากฝนหยุดตก และ/หรือ ช่วงฤดูแล้ง ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ดินคืออ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ดีที่สุด”

กิจกรรมหลักของ SCGC ในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่เขายายดา ที่ชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ของรัฐ และภาคเอกชน สามารถเข้ามาร่วมดำเนินการได้ คือ

-การปลูกเสริมป่าต้นน้ำ บริเวณป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรม และการสร้างป่ากินได้ในสวนยางพารา บริเวณที่ลาดเชิงเขา เพื่อเพิ่มการดูดซับน้ำฝน และลดน้ำผิวดิน ซึ่งเป็นส่วนเกินของน้ำฝนจากการดูดซับของดิน และสูญเสียดินจากกระบวนการกัดชะพังทลายของดิน

-การสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อชะลอการไหลของน้ำท่าที่ไหลในลำธาร ช่วยการตกของตะกอนในน้ำ และเพิ่มคุณภาพน้ำ ส่งเสริมให้น้ำซึมลงไปในดิน และเร่งรัดการฟื้นตัวของป่าต้นน้ำ

รวมทั้งกิจกรรมการใช้ PES ร่วมกับ SCGC คือ การติดตามประเมินผลการเปลี่ยนโครงสร้างของการปกคลุมพื้นที่ของพืชคลุมดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเก็บวัดข้อมูล เปอร์เซ็นต์การปกคลุมพื้นดินโดยเรือนยอด จำนวนชั้นเรือนยอด เปอร์เซ็นต์พื้นที่หน้าตัดลำต้นของต้นไม้ทุกต้นต่อหน่วยพื้นที่ และความลึกของขั้นดิน ก่อนและหลังการพัฒนา เพื่อนำข้อมูลทั้งสองช่วงเวลามาประเมินมูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศต้นน้ำที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา และนำมูลค่าดังกล่าว มาชดเชย และ/หรือ ให้กำลังใจกับชุมชนต้นน้ำที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาป่าต้นน้ำที่เขายายดาต่อไป

การบริหารจัดการน้ำ ที่บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง

อย่างไรก็ดีแม้จะมีการสนับสนุนจาก SCGC มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ดร.พงษ์ศักดิ์ ก็ยังต้องการให้มีการ การรณรงค์ให้พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ biodiversity เพิ่มมากขึ้น โดยเสริมชนิดและจำนวนของพืชและสัตว์ให้กับระบบนิเวศต้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและไม่มีการศึกษามาก่อน

“อย่างแรกเราต้องทราบว่าเขายายดามีวิวัฒนาการจากลานหินสู่ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ หรือ climax forest อยู่ในระยะใด และระยะดังกล่าวกับระยะต่อไป มีสังคมพืชและสัตว์เป็นพวกชนิดใดบ้าง จำนวนเท่าใด ที่ทำให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อจะให้นำชนิดพืชและชนิดสัตว์เข้ามาปลูกและปล่อยที่เขายายดา ให้ช่วยเพิ่มความหลากหลายและเร่งรัดการฟื้นตัวของระบบนิเวศได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

แต่ตอนนี้ทำได้เพียงการเร่งรัดกระบวนการสร้างดิน กระบวนการสะสมน้ำในชั้นดิน และการพัฒนาตัวของสังคมพืช ซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการปลูกเสริมป่า สร้างฝายชะลอน้ำ เสริมสัตว์ป่าที่ช่วยการเจริญเติบโตของต้นไม้ การขยายพันธุ์ของต้นไม้ และการพัฒนาตัวของสังคมพืช ตลอดจนเสริมสัตว์ป่าที่ช่วยรักษาสมดุล และพัฒนาสังคมสัตว์ของระบบนิเวศ”

ทั้งนี้เพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับป่าต้นน้ำ จนกระทั่งเกิดการทำงานตามหน้าที่ในแต่ละด้านที่สมบูรณ์ และให้นิเวศบริการ หรือ บริการของระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์ ทั้งในด้านของการให้ผลผลิตในรูปของเนื้อไม้ ผลผลิตในรูปของอาหาร และสมุนไพรจากพืชและสัตว์ ผลผลิตของน้ำ ปริมาณและลักษณะการไหลของน้ำท่าในลำธาร การป้องกันการกัดชะพังทลายของดิน เพื่อรักษาความหนาของชั้นดิน และความสามารถในการเก็บกักน้ำฝน การบรรเทาความรุนแรงของอากาศ จากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่ง และการลดความร้อนแรงจากรังสีดวงอาทิตย์ ตลอดจนการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่นเอง

 

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply