CIRCULAR ECONOMY

แยกขวดPET ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ ส่งแลกลุ้นไอโฟน ทองคำแท่ง

17 กันยายน 2565… สร้าง Awarness ให้ผู้บริโภคต่อเนื่องยังต้องใช้แคมเปญลุ้นโชค โดย “โคคา-โคล่า” สนับสนุนของรางวัลมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านบาท ทำงานคู่กับพันธมิตรเดิม Trash Lucky และ อินโดรามา เวนเจอร์ส เพิ่มเติม โลตัส และ เชลล์แห่งประเทศไทย จุดรับบรรจุภัณฑ์แยก แลกลุ้นโชคทั่วกรุงเทพฯ


กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย โดย นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด (ขวาสุด) และพันธมิตร เปิดตัวแคมเปญ “ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นำโดย ณัฐภัค อติชาตการ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด (ซ้ายสุด) นวีนสุดา กระบวนรัตน์ หัวหน้าฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (คนที่2จากขวา) สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย (คนที่3จากขวา) และรัชดาวรรณ สุลัญชุปกร รองกรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจค้าปลีกโมบิลิตี้ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด (คนที่2จากซ้าย) ร่วมเปิดแคมเปญ

เมื่อเป้าหมายหลักของโคคา-โคล่าคือ จัดเก็บและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในปริมาณเทียบเท่ากับที่ใช้ให้ได้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้นบริษัทยังต้องเดินหน้าอย่างเข้มข้น สำหรับขวดPET ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ โดยนำแคมเปญการลุ้นรับโชคมาใช้อีกครั้งในปีนี้เป็นปีที่สอง

นันทิวัต เล่าถึงแคมเปญล่าสุด เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ออกจากขยะทั่วไป โดยเพิ่มความสนุกด้วยสิทธิ์ร่วมลุ้นรับของรางวัล ควบคู่ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ในการแยกขวดPET ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ ออกจากขยะทั่วไปโดยอัตโนมัติ

“แคมเปญ โค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ในปีนี้ได้รับความร่วมมือจาก แทรชลัคกี้ โลตัส และ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการรีไซเคิลเช่นเดียวกับ โคคา-โคล่า โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการแก้ปัญหาขยะไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และพันธมิตรทุกคนในโครงการนี้ก็ยินดีต้อนรับทุกองค์กรที่สนใจมาร่วมกันผลักดันการรีไซเคิลให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่พร้อมจะทำหน้าที่เป็นจุดรับวัสดุรีไซเคิลเพิ่มเติม เราทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันทางการค้า ไม่ว่าจะองค์กรใด ในธุรกิจใดก็แล้วแต่ ขอเพียงเรามีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียว เราก็ยินดีต้อนรับเป็นพันธมิตรเข้ามาทำงานร่วมกัน”

ณัฐภัคกล่าวถึงคนไทยเกือบ 23 ล้านคน นิยมซื้อลอตเตอรี่ ซึ่งเป็นข้อมูลจาก รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2563 ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมการแยกวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ออกจากขยะทั่วไป จึงต้องใช้เรื่องการลุ้นรางวัลเป็นกุศโลบาย

“การให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลุ้นรับรางวัล ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ Trash Lucky ในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนรีไซเคิล เพื่อลดขยะในหลุมฝังกลบและในมหาสมุทร สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากแคมเปญปีที่แล้วคือ นอกจากรางวัลจูงใจ ความสะดวกในการรีไซเคิลก็สำคัญ และในปีนี้ เราดีใจที่โลตัส และเชลล์ ประเทศไทย ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรในการตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลทั่วกรุงเทพฯ และเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริโภคจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ เราจะยังคงวัดผลและสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจและทัศนคติการรีไซเคิล เพื่อปรับปรุงการทำงานที่จะทำให้เกิดไลฟ์สไตล์การรีไซเคิลในชีวิตประจำวัน”

นวีนสุดา กล่าวถึงภารกิจหลักของ อินโดรามา เวนเจอร์ส คือการมอบชีวิตใหม่ให้กับพลาสติก PET ที่ใช้แล้วโดยการเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล ซึ่งในปีที่แล้ว นำ ไปผลิตเป็นชุด PPE คุณภาพสูง มอบแก่สำนักงานสาธารณสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“สำหรับปีนี้ เราเข้ามาร่วมทำงานเพื่อเป็นการตอบรับกับกฎหมายอนุญาตให้ใช้ขวดพลาสติก PET ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยระหว่างนี้ ทาง อินโดรามา เวนเจอร์ส กำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สอดคล้องกับรายละเอียดข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้เพียงแค่เพื่อสร้างความเข้าใจในนวัตกรรมการรีไซเคิลที่ดียิ่งขึ้น หรือการผลิต PET รีไซเคิลที่ถูกสุขอนามัยสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกวัสดุรีไซเคิลได้จากขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสําคัญในการสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีการผลิตพลาสติก PET รีไซเคิลที่มีคุณภาพ”

ขณะที่สลิลลา กล่าวถึงความพร้อมของโลตัส ตั้งเป้าจะเป็น Hub ในการแยกวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ออกจากขยะทั่วไป จากจำนวนเกือบ 2,000 สาขา ที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ที่ทำงานของผู้บิโภค ซึ่งที่ผ่านมา บรรจุภัณฑ์หลากหลายประเภทในจุดรับของโลตัสเก็บเข้าระบบและนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี รวมถึงเครื่อง Reverse Vending Machine จำนวน 27 ตู้ ที่ปัจจุบันสามารถนำขวดพลาสติก PET กลับเข้าระบบแล้วกว่า 2,800,000 ขวด, จุดรับพลาสติกยืดจำนวน 45 จุด ที่รีไซเคิลพลาสติกไปแล้วกว่า 7,400 กิโลกรัม และ จุดรับกล่องและลังกระดาษจำนวน 220 จุด ที่สามารถรีไซเคิลกล่องและ ลังกระดาษไปแล้วกว่า 200,000 กิโลกรัม

“เบื้องต้นจะร่วมมือจัดตั้งจุดรีไซเคิลที่โลตัส 6 สาขา ได้แก่ ลาดพร้าว, วังหิน, มีนบุรี, ลาดกระบัง, บางกะปิ และ พระราม 2 เพื่อนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ส่วนเชลล์ โดยรัชดาวรรณ กล่าวถึงแผนธุรกิจในเรื่องการรีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างต่อเนื่องกับบรรจุภัณฑ์นำมันเครื่องเชลล์ เมื่อมาถึงความร่วมมือครั้งนี้ ได้เพิ่มความอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่เข้าร่วมแคมเปญ ด้วยการเป็นจุดตั้งรับขยะรีไซเคิลสำหรับโครงการดังกล่าวฯ ในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั้ง 15 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

“อาจจะต้องยอมรับว่า แคมเปญโค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ปีที่ 2 เราทำให้เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯก่อน เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นคนที่อยู่หรือทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการขนส่ง จัดเก็บ ที่จะมีเรื่องการปล่อยคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้นในกรณีที่ทำแคมเปญขยายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามเราก็จะเร่งคำณวนเรื่องนี้ เพื่อการขยายแคมเปญ ซึ่งจริง ๆ แล้ววงการรีไซเคิลบ้านเราเข้มแข็งมาก แต่ไม่ได้อยู่ในสปอตไลท์ ในอนาคตแคมเปญนี้อาจจะไม่มีชื่อโคคา-โคล่า เพราะจะมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยกัน”

นันทิวัตขยายความต่อเนื่องของแคมเปญ ซึ่งในปีที่ 2 แคมเปญ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky เป็นแคมเปญที่มีระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสมัครผ่าน Line official account: @trashlucky โดยจะได้รับรหัสสมาชิกภายหลังการสมัคร ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถแยกวัสดุรีไซเคิล เช่น พลาสติก อะลูมิเนียม แก้ว และกระดาษ บรรจุใส่ถุงหรือกล่องโดยติดชื่อ หรือ รหัสสมาชิก และสามารถส่งขยะรีไซเคิลได้ 3 วิธี

-วิธีแรกคือ นำไปส่งที่จุดรับขยะที่เข้าร่วมแคมเปญ เช่น แทรชลัคกี้ ดินแดง หรือ ซอยสาธุ 49 โลตัส 6 สาขาลาดพร้าว วังหิน มีนบุรี ลาดกระบัง บางกะปิ พระราม2 และสถานีให้บริการน้ำมันเชลล์ทั้ง 15 สาขา
-วิธีที่สองคือ ส่งวัสดุรีไซเคิลผ่านบริการขนส่งพัสดุมาที่บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด
-วิธีที่สามคือ เรียกใช้บริการเก็บวัสดุรีไซเคิลของ แทรชลัคกี้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับสิทธิลุ้นรางวัลตามปริมาณและประเภทของวัสดุที่ได้ส่งมารีไซเคิล

ปีนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ลุ้นรางวัลถึง 3 ต่อ มูลค่าของรางวัลรวม 2 ล้านบาท ซึ่งจะถูกแจกตลอดระยะเวลา 6 เดือน รางวัลต่อที่หนึ่ง บุคคลที่ส่งวัสดุรีไซเคิลในแคมเปญระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึง มีนาคม 2566 จะได้รับสิทธิ์ลุ้นรางวัล ประจำเดือนของเดือนนั้นๆ มีของรางวัลได้แก่ โทรศัพท์มือถือไอโฟน ทองคำ และ บัตรกำนัลช็อปปิ้ง รางวัลต่อที่สอง สิทธิ์ลุ้น รางวัลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 จะถูกนำไปลุ้นรางวัลทองคำแท่ง 5 บาท ในเดือนมกราคม 2566 โดยอัตโนมัติ รางวัลต่อที่สาม สิทธิ์ลุ้นรางวัลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 จะถูกนำไปลุ้นรางวัลทองคำแท่ง 20 บาท ในเดือนเมษายน 2566 โดยอัตโนมัติ

 

You Might Also Like