ALTERNATIVE

ไม่ใช่แค่น้ำท่วมซ้ำซาก หรือร้อนจัดมากขึ้น PM 2.5 ,ไฟป่าอีกแล้ว แต่นี่คือผลจากภาวะโลกร้อน

7 มีนาคม 2565…เหตุการณ์สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วได้กลายเป็นเรื่องธรรมดา!?  แต่คุกคามทั้งชุมชน และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก สหประชาชาติกำลังช่วยเหลือผู้กำหนดนโยบายและบรรดาผู้นำ โดยคาดการณ์ผลกระทบของอันตรายจากสภาพอากาศในอนาคต แนะนำวิธีดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุดในการปรับตัว

กรณีศึกษาเวียดนาม เอธิโอเปีย ฮอนดูรัสกำหนดนโยบายจัดการกับภาวะโลกร้อน

อาร์มันโด คาลิโดนิโอ นายกเทศมนตรีเมืองซาน เปโดร ซูลา เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศฮอนดูรัส กล่าวว่า

“สถานการณ์น้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นมากสำหรับชุมชน และในหลาย ๆ พื้นที่ที่ไม่เคยเกิดแบบนี้มาก่อน เราเห็นความปริมาณน้ำฝนในพายุที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แม้กระทั่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่พัฒนาดีแล้ว แต่ก็ยังทำให้ระบบระบายน้ำฝนพังทลาย”

ซาน เปโดร ซูลามักเผชิญกับพายุโซนร้อนและน้ำท่วมอยู่เสมอ แต่ปัญหากำลังเลวร้ายลง เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสภาพอากาศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ต้นทุนทางการเงินและทุนมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ เฉกเช่นที่นายกเทศมนตรี Calidonio ปกป้องพลเมืองของเขาและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้ดีที่สุด สถาบันสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการของ UN (UNU-EHS) ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Economics of Climate Adaptation (ECA) ได้ระบุถึงแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุด การจัดการต้นทุนที่คุ้มค่า และกลยุทธ์ ปรับให้เหมาะกับแต่ละภูมิภาค

อันตรายเพิ่มทวีคูณ

การใช้แนวทาง ECA UNU-EHS และพันธมิตรคาดการณ์ว่าภายในปี 2042 ความเสียหายประจำปีที่เกิดจากอันตรายจากสภาพอากาศที่แตกต่างกันจะเพิ่มเป็นสองเท่าในเขตเทศบาลเมืองซานเปโดรซูลา ซึ่งส่งผลให้พวกเขาทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาทางเลือกที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ และระบุแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด
หลังจากกระบวนการนี้ ได้มีการเสนอแนะหลายอย่าง เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำ การปลูกป่าตามแนวแม่น้ำ และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่ไหลบ่าในพื้นที่เสี่ยงภัยมากที่สุดของเมือง

นอกจากนี้ การศึกษายังสรุปว่าเทศบาลจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนเพิ่มเติมในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ การปรับปรุงเครือข่ายการตรวจสอบสภาพอากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า

งานนี้ยังช่วยรัฐบาลท้องถิ่นเข้าถึงเงินทุนสำหรับมาตรการปรับสภาพภูมิอากาศด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์สามารถใช้เอกสาร เป็นแนวทางสำหรับธนาคารเพื่อการพัฒนา เมื่อพวกเขาประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนก่อนตัดสินใจมอบเงินสนับสนุน
ครอบคลุมทั้งภัยแล้งและอุทกภัย

รับมือภัยแล้งและอุทกภัย

มีการใช้แนวทาง ECA ในสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่หลากหลาย ทั้งในเมืองและชนบทในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น ในภูมิภาค Afar และ Somali ของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง และอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในโลก การวิเคราะห์พบว่าความเสียหายจากภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็นสี่เท่าภายในปี 2050

มีคำแนะนำมากมายสำหรับภูมิภาคนี้ รวมถึงการเงินสนับสนุนประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในมาตรการปรับตัว เช่น การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน การเก็บรักษาอาหารสัตว์ที่ได้รับการปรับปรุง การจัดการพื้นที่คุ้มครองที่ดีขึ้น การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และการจัดตั้งเรือนเพาะชำต้นไม้สำหรับเลี้ยงสัตว์และหญ้า

ผลการวิเคราะห์ระบุว่า การสนับสนุนเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์จะช่วยให้ทั้งสองภูมิภาคหลีกเลี่ยงความเสียหายมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์ และปกป้องผู้คนราว 90,000 คนจากภัยแล้งในช่วง 31 ปีข้างหน้า

เวียดนามศึกษา

ในเมืองเกิ่นเทอ เมืองทางตอนใต้ของเวียดนาม มีความท้าทายด้านสภาพอากาศหลายประการ ทั้งน้ำท่วมและคลื่นความร้อน ที่นี่ การศึกษาของ ECA เปิดเผยว่า ความเสียหายรายปีจากน้ำท่วมและคลื่นความร้อนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสี่เท่าภายในปี 2050

อย่างไรก็ตาม การรวมกันของมาตรการต่างๆ เช่น เขื่อนเคลื่อนย้ายได้ การปรับปรุงการตระหนักรู้เกี่ยวกับน้ำท่วม และการฟื้นฟูระบบระบายน้ำที่มีอยู่ มีต้นทุนต่ำกว่า 6 ล้านดอลลาร์ จะป้องกันความเสียหายได้ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ และปกป้องผู้คนราว 15,000 คนในช่วงสามทศวรรษข้างหน้า จากอุทกภัยประเภทต่างๆ

ในทำนองเดียวกัน ด้วยการลงทุนต่ำกว่า 16 ล้านดอลลาร์ในศูนย์ทำความเย็นสาธารณะสำหรับคนพิการ เกษตรกรรมอัจฉริยะด้านสภาพอากาศ และการนำพื้นผิวหลังคาสีขาวมาใช้ เมืองเกิ่นเทอจะสามารถป้องกันความเสียหายได้ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์ และปกป้องผู้คนราว 800,000 คน ในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า

ฝันไกล แล้วไปให้ถึง

ในภาพรวม กรณีศึกษาทั้ง 3 เรื่อง แสดงให้เห็นว่า การลงทุนเพื่อปรับตัวในปัจจุบันคุ้มค่ากว่ามากเมื่อเทียบกับการจัดการกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอีกสามทศวรรษข้างหน้า

“ด้วยการใช้แนวทางของ ECA ประเทศและชุมชนต่าง ๆ จะมีข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาแผนการปรับตัวและบรรเทาปัญหาสภาพอากาศที่ก้าวหน้ามากขึ้น” ดร. Maxime Souvignet หัวหน้าทีมด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของ UNU-EHS กล่าว “มาตรการเหล่านี้จะสนับสนุนพวกเขาในการเพิ่มความยืดหยุ่นต่อผลกระทบของสภาพอากาศในปัจจุบัน และอนาคตจากที่คาดการณ์ไว้”

ที่มา

You Might Also Like