ACTIVITIES

“ปั้นตัวละครจากนิทานเสียง” จากพี่อาสาสู่น้องผู้พิการทางสายตา

20 มีนาคม 2564… ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ทำ “โครงการหนังสือนิทานเสียง UOB Voice of Love” เพื่อให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตามีโอกาสได้รับฟังนิทานเสียงอย่างทั่วถึง และจากนิทานเสียงก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปศิลปะงานปั้นตามจินตนาการของเด็กๆ

หนังสือนิทาน พร้อมรอให้เป็นนิทานเสียง หลังงจากการ Workshop พนักงานจิตอาสา UOB

จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สำคัญในทุกช่วงวัยและช่วงเวลา โดยเฉพาะเด็กเพราะจะช่วยให้เกิดความคิดใหม่ๆ คิดนอกกรอบและมีอิสระในการคิด แม้ช่วงเวลาที่ทั้งโลกยังเผชิญวิกฤตที่ดูเหมือนจะทำให้หลายสิ่งต้องสะดุดและอาจหยุดชะงัก แต่การเสริมสร้างจินตนาการต้องดำเนินต่อไป

ศิรเมศร์ อัครภากุลเศรษฐ์ นักพากย์, Voice Trainer และอาจารย์สอนการแสดง ทัพอนันต์ ธนาตุลยวัฒน์ นักแสดงและVoice Trainer และณิชา รอดอนันต์ นักแสดง นักเล่านิทาน และผู้ก่อตั้งคณะละครปู๊นปู๊น ได้แบ่งปัน 5 เทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อพี่อาสาและผู้ที่สนใจเล่านิทานเสียงในข้อหัว ‘ศาสตร์และศิลป์ในการอ่านนิทานเสียงที่สุขใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง

1.การเลือกนิทาน ควรคัดสรรเนื้อหาของนิทานให้เหมาะกับวัยของผู้ฟัง ซึ่งนิทานสำหรับเด็กเล็กควรมีเนื้อหาที่ส่งเสริมจินตนาการ ความรู้ และคุณธรรม จากนั้นให้เลือก ‘เรื่องที่อยากจะเล่า’ เพราะจะทำให้พี่อาสาเพลิดเพลินไปกับการอ่านนิทานเสียง

2.การเตรียมเล่าเรื่อง เริ่มต้นจากการอ่านนิทานทั้งเรื่องเสียก่อน เพื่อทำความเข้าใจตัวละครแต่ละตัว ในนิทาน หาภาพรวมหรือ key word สำคัญของเรื่องว่ามีโทนแบบใด อาทิ หวาดกลัว รัก หงุดหงิด หรือกล้าหาญ จะช่วยให้พี่อาสาสามารถกำหนดอารมณ์และน้ำเสียงของเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญอย่าลืมสร้างคาแรกเตอร์ พร้อมกับการกำหนดจังหวะการพูดของตัวละครแต่ละตัวให้แตกต่างกัน เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะอัดเสียง

ศิรเมศร์ ,ทัพอนันต์ ,ณิชา รอดอนันต์ ร่วมแบ่งปัน 5 เทคนิคขอบ ‘ศาสตร์และศิลป์ในการอ่านนิทานเสียงที่สุขใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง’

3.การเตรียมความพร้อม ผู้เล่าควรทำการวอร์มร่างกาย ฝึก ‘การหายใจและวอร์มลิ้น’ เพื่อให้มีการหายใจที่เป็นธรรมชาติ ไม่กลั้นหายใจนานจนเกินไป รวมถึงลิ้นจะได้ไม่แข็งในขณะที่อ่านนิทาน ด้วยการฝึกกระดกลิ้น อ้าปากกว้างๆ แล้วออกเสียง a i e o u พร้อมขยับกล้ามเนื้อใบหน้าให้มากกว่าปกติ นอกเหนือจากด้านร่างกาย ด้านอุปกรณ์ก็ควรเตรียมให้พร้อม พี่อาสาจะต้องทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์อัดเสียงของตัวเองว่ามีโปรแกรมใด ใช้งานอย่างไร แก้ไขได้หรือไม่ ตั้งชื่อ บันทึก และส่งต่ออย่างไร เราควรถือหรือวางอุปกรณ์อัดเสียงให้ห่างจากปากของเราเท่าใด ซึ่งแต่ละคนมีเสียงที่เบา ดัง หนา หรือบางไม่เท่ากัน จึงควรหาระยะที่เหมาะสมของตนเอง และแนะนำให้อัดเสียงคาแรกเตอร์แต่ละตัวไว้ฟัง เพื่อจะได้แยกแยะตัวละครได้ง่ายขึ้น

4.การอัดเสียง ควรอัดเสียงในพื้นที่เงียบ เสียงไม่ก้อง ‘ออกเสียงให้ชัดถ้อยชัดคำ’ อ่านไปอย่างที่ซ้อม ใช้จังหวะการพูดที่แตกต่างกัน ช้า เร็ว ใช้โทนเสียงสูงและต่ำตามคาแรกเตอร์ของตัวละครที่ได้กำหนดไว้ และอ่านโดยแบ่งวรรคตอนตามธรรมชาติจนจบเรื่อง หัวใจสำคัญคือ…จงสนุกไปกับนิทาน คนฟังก็จะสนุกไปด้วย

5.การเพิ่มความโปร อย่ากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี อย่ากดดันตนเองจนไม่สนุกไปกับการอ่านนิทานเสียง คนไทยล้วนมีพื้นฐานการเล่านิทาน และเสียงของภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ทำให้น่าฟังโดยธรรมชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้ ‘การขยับร่างกายไปตามเรื่องราวในนิทาน’ ช่วยเพิ่มความสนุกในการเล่า และทำให้ออกเสียงได้ดียิ่งขึ้น หากไม่เชื่อโปรดลองดู

ศิริทร และ ครูจิราพร ในกิจกรรมครั้งนี้

ศิริทร บุญนำ Relation Manager, PFS, UOB Thailand  เป็นหนึ่งในพี่อาสาที่มีความตั้งใจจะเล่านิทานเสียงให้แก่ผู้พิการทางสายตา จนมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยได้เลือกนิทานเรื่อง ‘พญาลิง ผู้ยิ่งใหญ่’ ให้น้องๆ ซึ่งเหตุผลที่เลือกนิทานเล่มนี้ก็เพราะว่า

“หนังสือนิทานเล่มนี้มีเนื้อหามาจากนิทานชาดก และมีความน่ารักเป็นพิเศษตรงที่ผู้แต่งใช้คำคล้องจอง การอ่านคำกล้องจอง ภาษาจะคล้ายเสียงดนตรี ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กวัยเรียนไปด้วย”

จิราพร พนมสวย ครูสอนศิลปะ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นในห้องเรียนศิลปะหลังการฟังนิทานเสียง

“นิทานเสียงที่ได้รับจากโครงการ UOB Voice of Love เป็นของขวัญที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กๆ ที่นี่ จริงๆ เด็กๆ สามารถเสียบแฟลชไดร์ฟเข้ากับอุปกรณ์ส่วนตัวแล้วเลือกเปิดฟังเองได้ ในขณะที่ครูก็สามารถใช้เป็นสื่อการสอนในหลากหลายวิชา รวมถึงวิชาศิลปะ นอกจากนิทานเสียงแล้ว โครงการนี้ยังมอบดินเบามาให้ด้วย ในชั่วโมงศิลปะหลังจากที่ได้ฟังนิทานเสียง เด็กๆ ต่างชื่นชอบสัตว์ที่ได้ยินในนิทาน ‘หนูชอบยีราฟ มันมีจุดๆ’ ‘หนูชอบหนู’ แล้วก็ได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการปั้นรูปสัตว์ที่ตนเองชอบจากการฟังนิทาน รวมถึงได้อธิบายถึงความคิด แบ่งปันความรู้สึกให้เพื่อนๆ ได้ฟัง ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น”

ความสุขและความประทับใจจากการฟังนิทานแบบนี้จะเกิดขึ้นในโรงเรียนสอนคนตาบอด 12 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงห้องสมุดเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะเสียงสามารถส่งต่อความรู้ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความรักได้มากกว่าที่สายตาเราจะมองเห็น

 

You Might Also Like