ACTIVITIES

เวทีสมาชิก ECOSOC หวังไทยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนภูมิภาค&โลก

16 มิถุนายน 2562…ในฐานะสมาชิก 2 ปี ไทยหวัง Share1 การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง และสิ่งที่ทำไว้ก่อนเป็นสมาชิกเช่น ด้านสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ด้านสังคม Bangkok Principles

ข่าวสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2020-2022 ในนามกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับจีน เกาหลีใต้ และบังกลาเทศ โดยประเทศไทยได้รับคะแนนเสียง 186 คะแนน (เป็นที่หนึ่งในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ ไทยเว้นจากการเป็นสมาชิก ECOSOC มาถึง 12 ปี หลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกครั้งสุดท้ายเมื่อวาระ ค.ศ. 2005-2007และการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ECOSOC เป็น 1 ใน 6 องค์กรหลักของสหประชาชาติ มีภารกิจหลักในการเสนอและทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศร่วมบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ค.ศ. 2030

ดังนั้น การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ซึ่งมีสมาชิกจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกทั้งสิ้น 54 ประเทศ เป็นโอกาสให้ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและบทบาทมากยิ่งขึ้นในการเสนอแนะนโยบายและแนวทางเพื่อผลักดันให้ ECOSOC เป็นเวทีระหว่างประเทศที่สามารถส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และประสบการณ์ของไทยในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง

ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก ECOSOC ไทยก็มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในด้านการพัฒนามาโดยตลอด เช่น

ในด้านสุขภาพ โดยการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรียก 30 บาทรักษาทุกโรค

ในด้านสังคม โดยการริเริ่ม Bangkok Principles ซึ่งป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพฯให้เป็นแนวปฏิบัติของสหประชาชาติในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีมาตรฐานและความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ประจักษ์ในเวทีสากล

ภายหลังการเลือกตั้ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับ 1. นาง María Fernanda Espinosa Garcés ประธาน UNGA สมัยที่ 73 2. นาง Inga Rhonda King ประธาน ECOSOC 3. นาย Liu Zhenmin รองเลขาธิการสหประชาชาติ กำกับดูแลส่วนกิจการเศรษฐกิจและสังคมของ UN และ 4. นาย Tijjani Muhammad-Bande ประธาน UNGA สมัยที่ 74 ซึ่งต่างแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC

นอกจากนี้ ได้ ชื่นชมบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม G77 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 รวมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ไทยในฐานะประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในฐานะประธานอาเซียน จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคและของโลก

ที่มาภาพประกอบ : อินเทอร์เน็ต

You Might Also Like