TALK

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ “ท่องไว้ในใจไม่ปิดโรงแรมดุสิตธานี เราจะสู้ ขอให้ทุกคนถอดหมวกที่สวมอยู่”

12 กุมภาพันธ์ 2564…หลังเที่ยง ขณะที่รถกำลังเลี้ยวซ้ายช้า ๆ เพื่อเข้าโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน SD Perspectives เห็นพ่อครัวแม่ครัวกำลังง่วนทำอาหารในเต๊นท์หน้าโรงแรม มีอาหารร้อนอย่างสปาเก็ตตี้ แฮมเบอร์เกอร์ ครัวซองด์ชิ้นละ 15 บาท ส่วนลูกค้าหลายคน ยืนเว้นระยะห่างรอรับอาหารที่สั่งอยู่ด้านหน้า นี่คือกลยุทธ์เดินหน้าเข้าหาลูกค้า สร้างรายได้จาก Non-Room Business ระหว่างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เล่าถึงสิ่งที่เห็นหน้าโรงแรมเมื่อสักครู่

“ประสบการณ์จากโควิด-19 รอบแรกที่รัฐบาลขอให้ปิดโรงแรมไม่มีคนมาพัก ทำให้คิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีรายได้ที่มาจากอะไรที่ไม่ใช่ห้องพัก ดังนั้นเมื่อเกิดรอบ 2 วันนี้ เรายังทำต่อเนื่องมาจากรอบแรก โดยโจทย์ที่ให้ไว้กับทีมคือ ท่องไว้ในใจไม่ปิดโรงแรม เราจะสู้ ทำอย่างไรเราจะช่วยกัน เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนถอดหมวกที่ตัวเองสวมอยู่ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรตาม ขอให้คิดว่าโรงแรมนี้ หรือกลุ่มดุสิต เป็นเหมือนบ้านของเราทุกคน ให้ใส่หมวกเจ้าของ ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านนี้ ทำอย่างไรจะหารายได้เพื่อที่พวกเราจะสามารถอยู่ได้ จึงเป็นที่มาของรายได้จาก Non-Room Business”

เมื่อคนในทีมเป็นเจ้าของบ้าน ทุกคนเป็น 1 เป็นทีมเดียวกันที่จะต้องรักษาบ้าน

ศุภจีกล่าวต่อเนื่อง ถึงกลยุทธ์ Non-Room Business ซึ่งไม่ใช่ One Size fit all ดังนั้นจะต้องสำรวจ ศึกษาในพื้นที่ที่อยู่ว่าแต่ละพื้นที่มีอะไรบ้างที่ทำได้ในการหารายได้ โดยขอเน้นย้ำว่า “สิ่งที่ทำ จะต้องไม่กระทบต่อคนที่อยู่ในชุมชนนั้น !!” เพราะหากทำเหมือนกันกลายเป็นแข่งกัน คนขายในชุมชนก็อยู่ไม่ได้ โรงแรมเองก็ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น

ที่ดุสิตธานี หัวหิน ถูกปิดเช่นทุกโรงแรมตามคำสั่ง ศบค.ในโควิด-19 รอบแรก และที่นี่ก็เช่นเดียวกับดุสิตธานีทุกแห่งที่ทำตามนโยบายคือ “พนักงานของโรงแรมอยู่ครบทุกคน” โดยช่วงเวลาดังกล่า พนักงานถูก Re-Skill ในหลาย ๆ เรื่องที่เป็น Corporate Manual ฉบับใหม่ และมาตรการรักษาความสะอาด SHA รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ฝึกพนักงาน

ส่วน พิพัฒน์ พัฒนานุสรณ์ GM โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงแรมซึ่งมีหลายเรื่องที่ทำ และเรื่องหนึ่งที่ทำมีผลต่อเนื่องมาถึงปัจุบันคือ การเกิดกุ๋ยช่ายสูตรเฉพาะของที่นี่โดยผู้ช่วยผู้จัดการ F&B เริ่มต้นทำ ซึ่งเป็นผลมาจากพนักงานร่วมใจลดค่าใช้จ่ายอาหารในโรงแรมก็รัประทานกุ๋ยช่ายเป็นหลัก

สิ่งที่ทำ จะต้องไม่กระทบต่อคนที่อยู่ในชุมชนนั้น !! ลูกค้าที่มาใช้บริการมีทุกกลุ่ม ทั้งที่ขับรถผ่าน ทั้งที่เป็นแขกของโรงแรม ชุมชนละแวกโรงแรม โดยหลายคนระหว่างรอรับอาหาร ก็จะมีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเป็นต้น ซึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีขนมกุ๋ยช่ายพิเศษ สีแดงที่มาจากบีทรูท สนนราคาอาหารทุกชนิด 40-50 บาท เวลาขาย 06-00-18.00 น.ทุกวัน รายได้ 60,000 บาท/วัน …นอกจากนี้ Non-Room Business ช่วยให้เกิดรายได้ดังนี้ -โรงแรมดุสิตธานีพัทยา นำเสนอเมนูปาท่องโก๋ รวมถึงอาหารง่ายๆ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก รายได้ 1.5 แสนบาท/วัน -โรงแรมดุสิตเชียงใหม่ ทำเมนูติ่มซำและอาหารเช้าแบบอเมริกัน รายได้ 8,000-9,000 บาท/วัน -โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต เน้นนำเสนอบริการอาหารกล่องหรืออาหารปิ่นโตให้กับหน่วยงานราชการ โรงพยาบาลและโรงเรียน รายได้ 40,000 บาท/สัปดาห์ -โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสศรีนครินทร์เปิดให้บริการ Drive Through รายได้ 60,000-70,000 บาท/สัปดาห์ -บ้านดุสิตธานี ซอยศาลาแดง ที่ให้บริการอาหารเช้า เป็นอาหารกล่อง มีเมนูหลากหลายทั้งไข่เจียว จากไข่ออร์แกนิค หมูปิ้งพร้อมข้าวเหนียว โจ๊ก สลัด และอื่นๆ รายได้ 70,000-80,000 บาท/วัน -ดุสิตสวีท 28,000 บาท/วัน -โรงแรมอาศัย 20,000 บาท/วัน

“ในที่สุดพนักงานในโรงแรมก็เสนอว่า ทำเมนูกุ๋ยช่าย วางขายที่ดุสิต กูร์เม่ พ๊อพอัพ หน้าโรงแรม ซึ่งพื้นที่แถบนี้แม้กระทั่งในเมืองก็ไม่ค่อยมีใครทำกุ๋ยช่ายขายพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แป้งไม่หนามากไส้เยอะน้ำจิ้มอร่อยใส่กล่องแบบมาการอง ปัจจุบันคนซื้อมากขึ้นขายได้วันละ 600 กว่าลูกต่อวัน ได้ตังค์หลายหมื่น และจากกุ๋ยช่าย ทีมก็พัฒนาเป็นข้าวเหนียวดอกอัญชันอบหมูทอด ห่อด้วยใบตอง นอกจากนี้มีโจ๊ก ปาท่องโก๋ ในช่วงเช้า และเมื่อจะขายทั้งวันคือ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ทีมก็ไปดูว่ารอบ ๆ ขายอะไรบ้าง บางคนเสนอทำผัดกระเพา ผัดไทย ผัดซีอิ๊ว GM บอกว่าไม่ไ้ด้หรอกเพราะชุมชนเขาก็ทำอาหารแบบนี้ขายอยู่แล้ว เราเปลี่ยนเป็นเมนูอาหารตะวันตกเช่น สปาเก็ตตี้ แฮมเบอร์เกอร์ จะได้ไม่ซ้ำกับคนรอบข้างและเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยใช้คุณภาพโรงแรม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี คนรอบข้างเราเขาไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่ได้ทำให้เขาเสียหาย และคนที่มาซื้อก็ได้เลือกอาหารหลากหลาย”

นอกจากนี้ ช่วงปีที่แล้ว เกิดพื้นที่ใหม่ในบริเวณโรงแรมคือ “ดุสิต ออร์กานิก ฟาร์ม” หรือ DO Farm บริเวณดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากเกษตรจังหวัด การตรวจสอบเรื่องของดินและน้ำแล้วพบว่า ไม่มีสารเคมีเจือปน จึงใช้เป็นที่ปลูกผักทำอาหารสำหรับพนักงานโรงแรมเมื่อเริ่มต้น ก่อนจะขยายพื้นที่เป็นวัตถุดิบในการส่งเข้าครัวของโรงแรมเพื่อทำอาหารให้ลูกค้า รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตให้กับโรงแรมในเครือจนกระทั่งปัจจุบันที่ขายให้กับลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่โรงแรมหากต้องการ โดยปุ๋ยที่ใส่คือ ใส่ใจ

ส่วนพื้นที่ข้าง ๆ กันประมาณ 1 ไร่ 2 งาน GM ของโรงแรมใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมปทุม ซึ่งก็นเป็นข้าวออร์กานิก โดยก่อนปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ข้าวท้องแรกก็ออกมาและถูกเก็บเกี่ยวเป็นที่เรียบร้อย และส่งข้าว 600 กิโลกรัม เข้าโรงสีที่สีข้าวออการ์นิก คือโรงสีแห่งความสุข ที่ไร่มะขาม เมื่อสีข้าวออกมาแล้วจะได้ข้าวประมาณ 300 กิโลกรัม ซึ่งพนักงานโรงแรมจะใช้ข้าวชุดนี้ประมาณ 1.5 เดือนโดยไม่ต้องซื้อข้าว และเร็ว ๆ นี้ โรงแรมจะเลี้ยงไก่ประเภท Happy Hen มีพื้นที่ให้ไก่ได้วิ่งและไข่ออกมา

เบื้องหลังของการปลูกข้าว คนที่รู้เรื่องการเกษตรมากที่สุดนอกจากเกษตรกรแล้ว ก็คือน้อง ๆ พนักงานในโรงแรม ที่จะบอกให้ปรับดินโดยปลูกปอเทืองหลังเกี่ยวข้าว ประมาณ 3-4 เดือน จากนั้นเอาปอเทืองออกแล้วเข้าสู่การดำนา

“สิ่งที่ทำเรามีความตั้งใจให้ดุสิตธานีเป็นมากกว่าโรงแรม เราไม่ได้ต้องการให้ลูกค้ามาพักเพียงที่ห้องพักมีบริการที่ดี แต่เราอยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทำกิจกรรมเหมือนกับเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีธรรมชาติ ซึ่งเราจะได้แนะนำให้ลูกค้าที่มาพักได้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่นตอนเช้าจะเห็นเด็ก ๆ ไปนั่งวาดรูปจากใบไม้ ปลูกต้นไม่ ซึ่งเด็กบางคนที่อยู่ในเมืองไม่เคยเห็นต้นข้าว ไม่รู้วิธีปลูกข้าว สิ่งเหล่านี้จะมาเห็นจากกิจกรรมในโรงแรม นอกจากนี้บริเวณ DO Farm ก็ใช้เป็นที่ฝึกโยคะ นั่งสมาธิ ตอนนี้ลูกค้าชอบการกอดต้นไม้ ให้ความรู้สึกที่ดี ต้นไม้ก็มีความสุข”

กิจกรรม Outdoor ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าที่เข้าพักโรงแรม

ศุภจีย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่รถเลี้ยวเข้าโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จนกระทั่งเข้ามาที่บริเวณ DO Farm คือเทรนด์ของการท่องเที่ยว ที่จะเห็นจากแบรนด์ดุสิตธานีทั้งกลุ่มโดยแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่อยู่ใน 3 เทรนด์นี้ผสมผสานการให้บริการเมื่อนึกถึงแบรนด์ดุสิตธานี

1.Local Connection เทรนด์ที่ต้องสื่อในเรื่องวิถีชุมชน ทุกโรงแรมของุสิตธานีต้องดูว่าในชุมชนมีของดีจุดเด่นอะไรที่จะดึงเข้ามาในโรงแรมเราได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า อาหาร กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งโรงแรมดุสิตธานีจะเดินไปแนวทางนี้ เช่นที่หัวหินก็นำอาหารที่มีชื่อของชะอำหัวหินเองมาให้บริการในโรงแรม เช่นข้าวมันไก่โกจง ข้าวเหนียวมะม่วงป้าเจือ ขนมเทียนแม่นงนุช ขนมหวานแม่ปลา

2.Wellness เทรนด์ที่ต้องดูเรื่องอาหารการกิน กิจกรรม ที่หัวหินจะมีกิจกรรมสม่ำเสมอ เช่นโยคะกลางแสงจันทร์ โยคะริมทะเล โยคะในน้ำ Meditation ไทชิ ตอนเช้า ๆ รวมถึงจ๊อกกิ้ง ซึ่งโรงแรมพยายามทำให้มีการ Enhance ให้ลูกค้าไม่อยู่ในฟิตเนสอย่างเดียว สามารถออกมาทำเรื่องนี้ เป็นกิจกรรม Outdoor นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่องไฮยีนต่าง ๆ ที่ยังต้องมี

3.เทคโนโลยี เทรนด์Hybrid Vertual Meeting มาที่นี่ต้องการมี Zoom เราก็มีบริการให้ตามคอนเซ็ปต์ Work from Anywhere

“สุดท้าย Sustainability จากเทรนด์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการของโรงแรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า เราไม่ใช้หลอดพลาสติก ขวดพลาสติก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว แต่เราได้ดึงเรื่อง Sustainability มาเป็นวิถีปฏิบัติของเรา และพยายามนำให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน ยกตัวอย่างเมื่อไปโรงแรมก็จะมีบอกว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ไม่เปลี่ยนผ้าเช็ตตัวก็เท่ากับว่าได้ช่วยรักษ์โลก ประหยัดน้ำ ส่วนของดุสิตธานีอาจจะให้เป็นพ้อยท์ เมื่อกลับมาใช้บริการของโรงแรมก็ใช้พ้อยท์นี้นำมาแลกเป็นส่วนลดหรืออะไรก็ตาม ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม แม้กระทั่งนาข้าว ถ้ามีเฉพาะนาก็จะเหงาไปหน่อย เราอาจจะมีควายสัก 2 ตัว ให้แขกของเรามีส่วนร่วมไถ่ชีวิตซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังจากนี้อีกสักระยะที่โควิด-19 น้อยลงไป”

เมื่อทุกคนถอดหมวกที่สวมอยู่ เกิดรายได้จาก Non-Room Business เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภายในโรงแรม

ก่อนที่แสงอาทิตย์จะลับลงไป พนักงานฝ่าย Housekeeping ของโรงแรม ซึ่งมีความรู้เดิมจากงานเก่าของครอบครัว ขอเป็นอาสาสมัครดูแลใน DO Farm รวมถึงนาข้าว ได้แนะนำการนวดข้าว ตีข้าว ฝัดข้าวให้กับศุภจี และทุกคนที่สนใจ

“ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น คนในองค์กรทีมงานของเรารวมใจเป็น 1 ไม่ต้องมาแยกว่านี่คือหน้าที่ฉัน ซึ่ง CEO ช่วยขายอาหารได้ GM ทำกิจกรรมเหล่านี้เอง การลงมือทำเราคิดว่า เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เมื่อทำให้บริษัทแข็งแรงมีรายได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระ เมื่อเราส่งอย่างนี้ไปก็หวังว่ากิจกรรมที่เราทำเป็นกำลังให้กับทีมเราเอง ที่สามารถปรับตัวได้ตลอดเวลา ต้องมีทางออกและเราต้องสู้ได้ รวมถึงคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับเรา” ศุภจีกล่าวในท้ายที่สุด

You Might Also Like