TALK

บุญชัย ปัณฑุรอัมพร “โมเดล ESG ของซาบีน่าสะท้อนตัวตน และความเชื่อขององค์กร”

3 ธันวาคม 2563…เป็นองค์กรที่สามารถนำ ESG มาผสมผสานเข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี วันนี้เรามาเรียนรู้โมเดลการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านตัวตนที่ชัดเจนของ “ซาบีน่า” ไปด้วยกัน

ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอกและภายในกระทบเศรษฐกิจในประเทศมากน้อยขนาดไหน แต่ “ซาบีน่า”ก็สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นบวกได้ทุกครั้งโดยเป็นบริษัทที่ทำกำไรมาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านผลประกอบการแต่เพียงเท่านั้น แต่ในมุมด้านความยั่งยืน ซาบีน่าก็ยังได้ได้รับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการในระดับ “ดีเลิศ” (Excellence CG Score) ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดหรือระดับ 5 ดาว เป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง จากการประเมินบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 692 แห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สะท้อนความมุ่งมั่นของ SABINA ในการกำกับดูแลกิจการตามหลักบรรษัทภิบาล เพื่อประโยชน์และความเท่าเทียมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

บุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในแบรนด์ซาบีน่า กล่าวว่า สำหรับเรา Sustainable Development ถูกกำหนดเป็นนโยบายของซาบีนา และถูกฝังเข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานมานานหลายสิบปีแล้ว และทำผ่านหลายโครงการครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

Environment

ปัจจุบันซาบีน่ามีโรงงานทั้งหมด 5 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แน่นอนว่ากำลังการผลิตชุดชั้นในในแต่ละปีย่อมใช้พลังงานไม่น้อย สำหรับโรงงานผลิตส่วนใหญ่เลือกที่จะติดตั้งโซลาร์เซลไว้บนหลังคาเพื่อนำมาแปลงเป็นพลังงาน แต่ซาบีน่าใช้ระบบ Evaporative Cooling System ภายในโรงงานซึ่งเป็นวิธีประหยัดพลังงานที่เห็นผลเร็วกว่า

“ปกติแล้วโรงงานผลิตชุดชั้นในจำเป็นต้องตัดเย็บในอุณหภูมิที่มีความเย็นและปลอดฝุ่น เพื่อรักษาวัตถุดิบให้มีความคงทน และสะอาด เดิมทีเราต้องติดตั้งแอร์ภายในโรงงานซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า 7 แสนบาทต่อเดือนต่อโรง แต่ภายหลังเมื่อเรานำระบบ EVAP มาใช้ ทำให้ลดค่าไฟเหลือ 3 แสนบาทต่อเดือนต่อโรง เท่ากับว่าเราสามารถลดค่าไฟไปได้ทั้งหมด 2 ล้านต่อเดือนจากโรงงาน 5 แห่งของเรา”

ทั้งนี้ระบบ EVAP เป็นระบบทำความเย็นที่อาศัยหลักการระเหยของน้ำทำให้เกิดความเย็น โดยโรงงานซาบีน่าวางระบบให้ฝั่งหนึ่งเป็นพัดลมเป่าออก ส่วนอีกฝั่งเป็นเยื่อไม้ที่มีน้ำเลี้ยง เมื่ออากาศถูกพัดลมเป่าออก อากาศใหม่จึงเข้ามาแทนที่ ทำให้อุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก 5 องศา ทั้งลดค่าไฟ และลดค่าซ่อมบำรุงไปพร้อมกัน มากกว่านั้นเมื่ออากาศถูกถ่ายเทตลอดเวลาไม่หมุนเวียนเป็นระบบปิดเหมือนก่อน ยังส่งผลให้สุขภาพของพนักงานดีขึ้น โดยเป็นหวัดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

อีกประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ซาบีน่าหันมาให้ความสนใจ คือ การจัดระเบียบวัตถุดิบภายในโรงงานภายใต้คอนเซ็ปต์ 5 ส สะอาด สะสาง สะดวก สร้างมาตรฐาน สร้างนิสัย รวมถึงทำ Lean Manufactory Kaizen โดยใช้ Totota’s Way เข้ามาปรับใช้สะสางวัตถุดิบให้เป็นระเบียบ

“มันเกิดจากการที่เราต้องการลดต้นทุน เนื่องจากการตัดเย็บของซาบีน่าในแต่ละปีมีความซับซ้อนมากขึ้น มีงานที่เยอะขึ้น ยากขึ้น แฟชั่นมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเราเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เราจึงต้องหาทางลดต้นทุนโดยเอา 5 ส เข้ามาใช้ในองค์กร ปรากฏว่าช่วยลดต้นทุนได้จริง เพราะทำให้เราสามารถควบคุมวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช้ทิ้งขว้างเหมือนแต่ก่อน”

Social

เมื่อ Lean Manufactory ที่ซาบีน่าทำประสบความสำเร็จ ต่อมาได้ขยายคอนเซ็ปต์นี้มายังพนักงานในโรงงานที่มีทั้งหมด 4,000 คน โดยให้ความรู้ในการนำ 5 ส มาใช้ที่บ้านของตนเอง ด้วยการเก็บของ ใช้ที่เหลือ หรือไม่จำเป็นมาบริจาคได้ที่ “ห้องอิ่มบุญ” ที่อยู่ในโรงงาน

ที่ห้องอิ่มบุญนี้จะมีคณะกรรมการรับสิ่งของที่พนักงานนำมาบริจาค แล้วตั้งราคาเพื่อขายให้กับพนักงานในโรงงาน นำรายทั้งหมดไปสมทบทุนในมูลนิธิคุณแม่จินตนา เพื่อใช้ในการสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าแต่เรียนดีที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบๆ โรงงาน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับปริญญาตรี จำนวน 45 คน โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด

การดูแลสังคมอีกด้านหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับซาบีน่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ “โครงการ Sewing Cup Sewing Heart เย็บเต้ารวมใจ … สู้ภัยมะเร็งเต้านม” ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 แล้ว

“ในปีแรกเราให้พนักงานช่วยกันตัดเย็บเอง แต่ปีต่อมาด้วยดีมานด์ที่มากขึ้น ทำให้เราขยายความร่วมมือด้วยการเชิญชวนลูกค้าที่เป็นจิตอาสามาช่วยกันตัดเย็บ ล่าสุดเราได้จับมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น บริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ LLDPE เพื่อเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเต้านมเทียม และพัฒนาระบบให้จิตอาสาที่ต้องการขอรับชุดเย็บเต้านมเทียมไปช่วยเย็บได้ที่บ้าน โดยห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และสาขาเคทีซี เข้ามาเป็นตัวกลางในการช่วยกระจายเต้านมเทียมไปทั่วประเทศ เมื่อเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ส่งคืนที่เคาน์เตอร์ซาบีน่าในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และเคทีซี โดยจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับบัตรกำนัลแบบอิเล็คโทรนิค (E- voucher) มูลค่า 100 บาทเมื่อนำมาซื้อผลิตภัณฑ์ซาบีน่า จะเห็นได้ว่าเป็นการทำทั้ง CSR โปรโมชั่น และ Customer Engagement ไปพร้อมๆ กัน”

Governance

เนื่องจากธุรกิจชุดชั้นในถูกขับเคลื่อนด้วยภาคแรงงานเป็นหลัก ซาบีน่าจึงให้ความสำคัยกับพนักงานในฐานะ Stakeholder ที่สำคัญด้วยการเข้ามาดูแลสุขภาพทางการเงินของพนักงาน หลังจากพบปัญหาอัตราการลาออกที่เพิ่มสูงขึ้น อันเกิดจากหนี้ทั้งในและนอกระบบ

ซาบีน่าเริ่มจากเข้าไปสร้างความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy ให้กับพนักงานในโรงงาน และสำรวจสภาพปัญหาหนี้ของพนักงาน หากใครมีปัญหาก็จะชักชวนให้เข้าโครงการปลดหนี้ โดยสามารถกู้เงินไปชำระแบบปลอดดอกเบี้ย ผ่านกองทุนอุ่นใจที่จัดตั้งขึ้นมา ด้วยวงเงินในระยะแรก 10 ล้านบาท

“พอเขาเอาเงินก่อนไปปิดหนี้ ทำให้เขาไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และสามารถลืมตาอ้าปากได้ เกิดกำลังใจในการทำงาน และรักองค์กรตั้งใจทำงาน ไม่ฟุ่มเฟือย อีกทางหนึ่งทำให้ลดปัญหาการลาออกอย่างเห็นได้ชัด”

บุญชัย ย้ำว่าซาบีน่าทำ SD ในหลายๆ เรื่อง แต่ 3 เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นหลักที่องค์กรให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต เนื่องจากสะท้อนตัวตน และความเชื่อขององค์กรได้เป็นอย่างดี

“ในอนาคตเราตั้งใจว่า จะต้องทำให้มันชัดเจนขึ้น และขยายผลออกไปเป็นวงกว้างกว่านี้ ผมว่าไม่ต้องทำหลายเรื่อง แต่ทำเรื่องที่สะท้อนความเป็นซาบีน่า และทำให้มันดี ให้มันใหญ่ต่อไปเรื่อยๆ เช่น มูลนิธิคุณแม่จินตนา จะเพิ่มจำนวนการสนับสนุนด้านการศึกษาให้เด็กเพิ่มขึ้น , โครงการเย็บเต้ารวมใจ จะเพิ่มจำนวนการส่งมอบจากเดิมที่เราทำอยู่ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ชิ้น หรือกองทุนอุ่นใจ เรามีแผนที่จะประเมินผล ว่ามีฐานะการเงินดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นแค่ไหน รวมถึงหาวิธีให้พนักงานเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพื่อช่วยเขามากขึ้น เราก็จะได้พนักงานที่ตั้งใจทำงานและมีชีวิตที่ดี เขาก็จะไปทำความดีต่อยอดไปสู่สังคมภายนอก” บุญชัยกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like