TALK

ESG ในรูปแบบที่ ttb ทำมา ซึ่งเชื่อว่าใช่ และจะทำต่อไป

15 กุมภาพันธ์ 2566…ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี พูดถึง S(Social)สังคมใกล้ตัวสร้าง Ecosystem Play ให้มนุษย์เงินเดือน มีรถ-มีบ้าน มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน เช่นเดียวกับพนักงาน Transform เข้าสู่ Virtual Bank โดยสิ่งที่ทำอยู่ภายใต้ Governance ของบอร์ดและคณะผู้บริหาร ส่วน Environment เตรียมส่งต่อองค์ความทุกด้านตามกติกาใหม่ของโลกต่อลูกค้า SMEs ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ และนี่คือ ESGในรูปแบบที่ ทีเอ็มบีธนชาตทำมา เชื่อว่ามันใช่ และจะทำต่อไป สานต่อพันธกิจ The Bank of Financial Well-being มุ่งสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ด้วยแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2566 เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย หรือ The Next REAL Change

ปิติ กล่าวว่า กว่า 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีและธนชาต จนมาเป็น ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ธนาคารได้ประกาศถึงเจตนารมย์ที่จะเป็น The Bank of Financial Well-being หรือธนาคารที่มุ่งมั่นช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะสามารถเห็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทาง ESG ในรูปแบบที่ ttb ทำมา ซึ่งเชื่อว่าใช่ และจะทำต่อไป

“ทิศทางของธนาคารเพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีของลูกค้า นี่คือ Social เบอร์ 1 เลย และเราเอาวงที่ใกล้ตัวเรา คือการทำให้ลูกค้าเราดีขึ้นก่อน”

ปิติขยายความถึง 3 กลยุทธ์หลัก ในแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2566

1.Synergy Realization:มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าผ่านการต่อยอดจุดแข็งจากการรวมกิจการ (Synergy Realization) มาต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า เช่นสินเชื่อรถแลกเงิน (ttb cash your car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb cash your home) สินเชื่อ ttb payday loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ ซึ่งโซลูชันเหล่านี้นอกจากจะมีฟีเจอร์ที่โดดเด่นแล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องภายใต้เศรษฐกิจผันผวนของปีนี้ได้ด้วย

2.รุก Digitalization: การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินและพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารผ่าน ttb touch เวอร์ชันใหม่ พร้อมสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้ากลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีรถ คนมีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้าน

3.Ecosystem Play: การสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้าบัญชีเงินเดือน มีรถ มีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้าน

 

คลิกภาพขยาย

“วงต่อมาที่เข้ามาใกล้เรามากคือพนักงานของเราเอง ต้องให้เก่งขึ้นและปรับตัวเข้าไปสู่ Virtual Bank ให้ได้ เรื่องนี้เรา Transform องค์กรตลอดเวลา ดังนั้นหากลูกค้าไม่รอด พนักงานไม่รอด ธนาคารไปต่อไม่ได้ วงนี้เป็นวงที่เราให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มีความเท่าเทียมกันสำหรับพนักงานของเรา Policy ต่าง ๆเราเริ่มจากตรงนี้ก่อน Social เราชัดเจนที่นำเอา Stakeholders ที่อยู่รอบ ๆ เราก่อนเป็นเบอร์ 1”

ทั้งนี้ ภายใต้ 3 กลยุทธ์+1 ปิติอธิบายถึง ธนาคารให้ความสำคัญและเร่งทำคือการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อให้สามารถร่วมกัน Transform องค์กรได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มศักยภาพและจำนวนทีมงานด้าน Tech & Data ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดตั้งทีมดิจิทัล ttb spark และ ttb spark academy เพื่อที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้าง Talent รุ่นใหม่ที่มีความสามารถสอดรับกับโลกธุรกิจผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมและดิจิทัลโซลูชัน โดยปัจจุบันมีทีมงาน ttb spark มากกว่า 400 คน ดูแลทั้งในส่วนของฝั่ง Tech และ Beyond Banking Business พร้อมผลักดันและพัฒนาแอป ttb touch ให้มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ด้าน ttb spark academy ได้มีกิจกรรมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำและมีนักศึกษาเข้ามาฝึกงานด้วยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดกิจกรรม ttb hackathon: Financial Well-being for Thais ซึ่งมีผู้ร่วมสมัครมากกว่า 100 ทีม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้ Talent เหล่านี้สนใจร่วมงานกับธนาคารในอนาคต

คลิกภาพขยาย

มาถึง G-Governance ปิติกล่าวว่า สำคัญมาก การขีดเส้นบทบาทของบอร์ด ผู้บริหารให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นรายย่อย เรื่องการตัดสินใจต่าง ๆ ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก นับเป็น 2 พื้นที่ ที่เวลาทีทีบีได้รับการประเมิณคะแนน จะออกมาค่อนข้างสูง

“สิ่งที่ตอนนี้พูดกันมากคือ Environment แต่เวลาเราไปทำเซอร์เวย์ เรื่องของอิมแพค กับ Stakeholders ถามว่าธนาคารควรทำอะไรในมิติ ESG ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลิสต์มาน่าสนใจ และเหมือนกันตั้งแต่ยุโรปมาถึงเมืองไทย เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ท้าย ๆ เลย แต่ Stakeholders ถามหาอะไร เช่นทำอย่างไรให้แอปฯปลอดภัย ทำอย่างไรให้ฉันเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ทำอย่างไรให้ฉันเข้าถึงเรื่องอื่น ๆ ทางการเงิน ทำอย่างไรให้ฉันมีต้นทุนทางการเงินถูกลง นี่คือ ESGในมิติ Stakeholders เขาไม่ได้ถามว่าธนาคารจะลดคาร์บอนอย่างไร เพราะเขาไม่ได้บอกว่าธนาคารเป็นคนปล่อยคาร์บอน ซึ่งอันนี้ต้องไปถามกับอุตสาหกรรมอื่น”

ปิติขยายความต่อเนื่อง มิติของ ESG ธนาคารตระหนัก เพราะธนาคารเป็นองค์กรใหญ่ เข้าใจ Net Zero คืออะไร มีผลกระทบต่อความยั่งยืนอย่างไร

“สิ่งที่เราทำในเชิง Environment คือ นำองค์ความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้ธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กขนาดกลาง ที่เขายังไม่รู้ว่า ถ้าหากไม่ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่มีผลต่อการสร้างคาร์บอน มลพิษ แล้วไปพบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของชาวโลกที่กำลังทยอยออกมา หากธุรกิจไม่ปรับตัวจะทำให้เขาต้องปิดกิจการ สิ่งนี้แหละที่ธนาคารจะเป็นตัวเชื่อมว่า องค์ความรู้ที่คุณต้องมี สิ่งที่คุณต้องปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ มิฉะนั้นเขาเจ๊ง เขาเป็นลูกค้าเงินกู้เรา เราก็เจ๊งได้ เขาเจ๊งเพราะอะไร เพราะเขาไม่รู้กติกาใหม่ของโลก”

คลิกภาพขยาย

ปิติกล่าวย้ำในท้ายที่สุด ttb คงไม่ไปซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ตัวเองเป็น Net Zero เพราะธนาคารปล่อยคาร์บอนนิดเดียว ธนาคารจะช่วยลูกค้าที่ปล่อยคาร์บอนมาก หรือไม่รู้ตัวด้วยว่าปล่อยคาร์บอน โดยไม่รู้ว่าฉันนี่แหละที่จะถูกถล่มจากกติกาใหม่ของโลก ซึ่งเราจะทำตรงนี้เพื่อให้ลูกค้ารู้ตัวและปรับตัวเป็น

“เรามองว่านี่คือ ESGในรูปแบบที่ ttbทำมา เราเชื่อว่ามันใช่ และจะทำต่อไป”

 

You Might Also Like