BIODIVERSITY & REGENERATIVE

ประเทศไทย แลนด์มาร์คใหม่ของ Social Business

29 มิถุนายน 2562… ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส ใช้ช่องทาง Yunus Thailand ปลุกพลังคนรุ่นใหม่สร้างการวัดความสำเร็จด้วยวิธีลงมือทำประโยชน์ให้สังคม Kick Off ด้วยพาร์ทเนอร์รายแรกเครือ CP กับงาน 3 เรื่องหวังช่วยแก้ปัญหาสังคม ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) และ Yunus Foundation ได้ร่วมกับ ศูนย์ยูนุสเซ็นเตอร์ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Yunus Center at AIT) ศูนย์ยูนุสเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Thailand Social Business Initiative:TSBI จัดการประชุมระดับโลก Social Business Day 2019 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งที่ 9 ของโลก ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. 2562

เป้าหมายก็เพื่อผลักดันให้เกิดชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และเพื่อเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด Social Business ให้เป็นต้นแบบในการช่วยแก้ปัญหาสังคม หวังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness”(การสร้างรายได้คือความสุข แต่การสร้างความสุขให้คนอื่นคือความสุขที่แท้จริง)สะท้อนและตอกย้ำให้ตระหนักถึงความสุขที่แท้จริง พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะร่วมกันแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของโลกใน 4 ด้าน ได้แก่

1.ธนาคารและไมโครไฟแนนซ์(Banking&Microfinance)
2.มลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Pollution&Climate Change)
3.ขยะพลาสติกและเศรษฐกิจหมุนเวียน(Plastic Waste&Circular Economy)
4.ธุรกิจเพื่อสังคมและการกีฬา(Social Business&Sports)

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ และผู้ร่วมก่อตั้งยูนูส ประเทศไทย (Yunus Thailand) พร้อมเดินหน้า Corporate Action Tank แพลตฟอร์มในการเคลื่อน SB ร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทแรกที่ร่วมกันทำงาน โดยตั้งทีมงานเพื่อขับเคลื่อน 3 เรื่องคือ

1.Micro Finance ไมโครไฟแนนซ์ ร่วมกับธุรกิจ True Money เพื่อให้บริการบุคคล หรือกลุ่มผู้ว่างงาน หรือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
2.Education Development การพัฒนาการศึกษา เพื่อให้การฝึกอบรมผู้ประกอบการภายในโรงเรียน
3.Village Startups หมู่บ้านสตาร์ทอัพ ช่วยให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถสร้างธุรกิจของตัวเองในชุมชนเขาเอง ซึ่งธุรกิจเขาอยู่ได้ และเขามีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าว Closing Ceremony ว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเครือข่าย Global Compact ประเทศไทย มีธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยกว่า 40 แห่ง ตระหนักถึงความท้าทายในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยเครือซีพีได้ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย

“ถึงแม้การประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ดีมีจริยธรรมและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุสได้พิสูจน์มาแล้ว และเครือซีพีมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ควบคู่กับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน”

ศุภชัยกล่าวในช่วงท้ายว่า “ผมเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเยียวยาปัญหาของสังคมโลกร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

ศุภชัย และ นพปฎล กล่าวบนเวที Social Business 2019

นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมเสวนาในเวทีนี้ หัวข้อ “ความท้าทายของธุรกิจเพื่อสังคม” โดยกล่าวว่า ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นโมเดลเพื่อหาทางออกในการช่วยแก้ปัญหาสังคม

“เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นแก้ปัญหาที่เป็น Pain Point ของสังคมยึดแนวทางการรับรู้และความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาในระดับสังคมอย่างยั่งยืน เช่น เครือฯได้ส่งเสริมการปลูกกาแฟแทนการปลูกข้าวโพดให้คนในชุมชนทางภาคเหนือ เป็นต้น การทำธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องเป็นได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม”

ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงการลงทุนร่วมระหว่าง Yunus Thailand กับเครือซีพี คาดว่าภายในปลายปีนี้จะเห็นกระบวนการทำงานชัดเจนมากขึ้น โดยระหว่างนี้จะเชิญทางผู้บริหารหรือทีมทำงาน ไปบังคลาเทศ เพื่อไปเห็นต้นแบบของไมโครไฟแนนซ์ และอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ภายในงานเสวนาได้มีวิทยากรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความท้าทายในการทำธุรกิจเพื่อสังคม ได้แก่ Emmanuel Faber (CEO Danone ),Parveen Mahmud (Grameen Telecom Trust), Luciano Gurgel (YSB Brazil),Eric Lesueur(VEOLIA) และ Sohel Ahmed (Grameen Shakti) ซึ่งทำให้แนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสร้างแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ยั่งยืน

ส่วนการประชุมกลุ่มย่อย (Breakout Session) มี 9 กลุ่ม การประชุมกลุ่มประเทศ (Country Forum) 7 กลุ่ม การประชุมกลุ่มเยาวชน (Youth Workshop) 6 กลุ่ม และการประชุมคู่ขนานสำหรับภาคการศึกษา (Academia Conference) ในประเด็นเกี่ยวกับ การศึกษา เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมกับการกีฬา กิจการขนาดใหญ่กับธุรกิจเพื่อสังคม เทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อสังคม ภาวะผู้นำเยาวชนกับธุรกิจเพื่อสังคม สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์กับธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ

 

You Might Also Like