NEXT GEN

TRBN พื้นที่กลางส่งเสริมทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ

3 ธันวาคม 2562…ภาคเอกชนผนึกกำลังผ่านเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) จุดประกาย “ถึงเวลา เติบโต ร่วมกัน” กระตุ้นบริษัทจดทะเบียนไทยและบริษัทเอกชนทั่วไปทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ร่วมขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ


ภาคเอกชนไทยถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ตลาดทุน นักลงทุน ตลอดจนผู้บริโภคไทยและทั่วโลก ต่างตื่นตัวในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จนกำลังกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ขณะที่องค์กรกำกับดูแลตลาดทุนและตลาดเงิน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงประกาศให้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดจัดทำ “One Report” ซึ่งหนึ่งหัวข้อสำคัญ คือ การรายงาน ESG หรือ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล ภายในปี 2562

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนเรื่อง การธนาคารเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานสำคัญในปี 2562 เช่น ผลักดันการออก Sustainable Banking Guideline เรื่อง Responsible Lending ของสมาคมธนาคารไทย เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธนาคารในการให้สินเชื่ออย่าง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

เส้นทางที่ถูกปูไว้ในความร่วมมือ ก่อนที่จะเปิดตัว TRBN

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับ 12 องค์กรในตลาดทุน ได้พร้อมใจกันจัดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เชิญชวนให้ร่วมประกาศตนเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืนตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ต่อมา สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จึงได้ร่วมกับ 9 องค์กร ประกอบด้วย

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 4. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย 5. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 6. สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย 7. สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม 8. SB ประเทศไทย 9. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ทั้ง 9 สถาบัน จัดตั้ง “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืน แห่งประเทศไทย” (Thailand Responsible Business Network: TRBN) เพื่อชักชวนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชนทั่วไป รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ร่วมลงมือผนวกการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายขององค์กรและการประกอบการ และร่วมลงมือทำโครงการเพื่อส่วนรวมที่ตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการในมิติต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถวัดและรายงานผลได้เป็นรูปธรรม มีผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญในระดับประเทศ และสากลยอมรับ

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ TRBN กล่าวว่า ธุรกิจถึงจะมีกำไรมากเพียงใดก็ตาม ถ้าสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ภาคธุรกิจเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรและองค์ความรู้ที่ดีที่สุดอยู่ในมือ สามารถช่วยนำการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

“สภาพปัญหาตามความเป็นจริง และความกดดันจากตลาดทุน ตลาดเงิน และผู้บริโภคในวันนี้ ทำให้หลายบริษัทใหญ่ที่แข่งขันอยู่ในตลาดโลกตื่นตัวและนำการปรับเปลี่ยนทิศทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไปก่อนแล้ว แต่ยังมีบริษัทขนาดกลางและเล็กอีกหลายบริษัทที่ยังไม่เริ่ม กำลังจะเริ่ม หรือทำไปบ้าง จึงนำมาสู่การตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชนทั่วไป ให้ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน”

พันธกิจหลัก TRBN มี 3 เรื่องสำคัญ

1.ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักความรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน และการแลกเปลี่ยนความคิดที่จะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
2.เชื่อมโยงทรัพยากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี สนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
3.เป็นพื้นที่กลางของความร่วมมือของภาคธุรกิจกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อส่วนรวม

ขณะที่เป้าหมายในการดำเนินงานของ TRBN มุ่งไปที่ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

เป้าหมายแรก เป็นเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Emission) เน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

เป้าหมายที่สอง คือ การเปิดโอกาสอย่างทั่วถึง (Inclusivity) เน้นเรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Value-chain Management) และสิทธิมนุษยชนและการพัฒนามนุษย์ (Human Rights & Human Development)

เป้าหมายสุดท้าย เป็นเรื่องการมีธรรมาภิบาล (Good Governance) เน้นศีลธรรมความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ (Business Integrity) รวมถึงการลงทุนและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment & Consumption)

“ถึงเวลาที่เราต้องเติบโตไปด้วยกัน ต้องมาร่วมขบวนช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นว่าการประกอบธุรกิจที่มุ่งเป้า ESG ไปด้วย อาจมีต้นทุนเพิ่มบ้าง แต่ให้ผลดีในระยะยาว เป็นการบริหารความเสี่ยง สร้างความรู้สึกที่ดีและความเชื่อมั่นในแบรนด์ มีการศึกษาพบว่าผลรายงาน ESG ที่สูงกับผลประกอบการที่สูงสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญด้วย บริษัทตลาดหลักทรัพย์ มีซัพพลายเชนที่เป็นเอสเอ็มอีจำนวนมากที่เป็นพาร์ทเนอร์ คู่ค้า มีคนงานเกี่ยวเนื่องกันมากมาย หากมาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลกันก็จะยิ่งเกิดความเข้มแข็งของภาคธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในวงกว้าง”     พิมพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

 

You Might Also Like