NEXT GEN

ผู้บริโภคเต็มใจจ่ายสินค้า&บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากราคาอยู่ในกรอบไม่เกิน 20% เทียบกับราคาปกติ

15 มีนาคม 2564… ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการ จะต้องทำการควบคุมให้ตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาจำหน่ายอยู่ในกรอบระหว่าง 1%-20% (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า) เมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติทั่วไป

ผลจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคกว่า 55% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1%- 20% ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมา คือ ผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิมหรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 23 % ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ

ดังนั้น หากธุรกิจสามารถผลิตสินค้าและบริการจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงมากนัก หรือไม่แตกต่างเมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติทั่วไป ก็น่าจะจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียดสำคัญส่วนที่เหลือคือ

-ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 50% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ มองว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผู้บริโภคทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่อาจมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของเสียและขยะ รองลงมา คือ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและอากาศแปรปรวน รวมถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ  เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น

-ปัญหาเหล่านี้ค่อนข้างใกล้ตัวผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันค่อนข้างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นชัดเจน สอดคล้องไปกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เคยประเมินไว้ในปี 2563 ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน

-ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจลล้างมือ และเครื่องฟอกอากาศ) ราว 2,000-3,000 ล้านบาท หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 200-300 บาทต่อคนต่อเดือน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด) สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาตระหนักและตื่นตัวกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น งดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก และหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น กล่องข้าวที่ทำจากชานอ้อย ถุงพลาสติกที่ทำจากมันสำปะหลัง หรือหลอดดูดที่ทำจากกระดาษ หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว เป็นต้น ในขณะเดียวกันบรรดาร้านค้าปลีกต่างๆ โดยเฉพาะค้าปลีก Modern trade ก็ได้มีการงดการใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้ผู้บริโภคใช้ถุงผ้าแทนเวลาออกไปจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น

ถึงแม้ว่าราคาของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปตามท้องตลาดอยู่บ้าง แต่ผู้ประกอบการอาจจะให้ข้อมูลด้านอื่น ๆ เพื่อประกอบกับการตัดสินใจของผู้บริโภค เช่น เมื่อเทียบปัจจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพสินค้าและต้นทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อม จนทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคามากกว่า และในอนาคตหากผู้บริโภคหันมาช่วยกันเลือกสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ราคาจำหน่ายถูกลง หรือไม่ควรแตกต่างไปจากราคาสินค้าปกติทั่วไป

ท้ายที่สุด ด้วยกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีผลกับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของภาคธุรกิจที่จะต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการและตอบโจทย์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การให้ข้อมูลที่ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคผ่านการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือแม้แต่การมีฉลากที่บ่งบอกถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่บนตัวสินค้าหรือบริการ ซึ่งอาจจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในตัวสินค้าและบริการที่สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนขึ้น

 

You Might Also Like