NEXT GEN

บทบาทของ CFO ในการรายงานความยั่งยืน

24-25 เมษายน 2566…บทบาทที่เปลี่ยนไปของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ CFO ต้องพร้อมตอบคำถามของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนของบริษัท และกำลังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของการริเริ่มด้านความยั่งยืนในทุกอุตสาหกรรม

เมื่อเผชิญกับปัญหาภาวะโลกรวน ความโปร่งใสกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อรองได้ในธุรกิจสมัยใหม่ CFOs เป็นผู้จัดการการรายงานทางการเงินและธุรกิจอยู่เสมอ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำรายงานความยั่งยืน ไม่ใช่คำถามว่า นี่เป็นความรับผิดชอบอันใหม่ของ CFO หรือไม่ การรายงานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างและรักษาความไว้วางใจกับลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน และพนักงาน เป็นสิ่งที่ต้องส่งมอบทันที

การเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นและความคาดหวังของสาธารณชนในเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ ขณะที่สังคมพบปัญหาโลกรวนอยู่รอบตัว ผู้บริโภคทั่วไปก็คาดหวังเช่นกันว่าแบรนด์ที่พวกเขาสนับสนุนจะมีท่าทีเชิงรุกและสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีที่พวกเขาจะลดผลกระทบดังกล่าว

ผลการศึกษาล่าสุดของ PwC พบว่า 83 % ของผู้บริโภคคิดว่า บริษัทต่างๆ ควรกำหนดแนวปฏิบัติด้าน ESG อย่างจริงจัง สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรก็เป็นเช่นเดียวกัน การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้จาก European Investment Bank พบว่า 3 ใน 4 ของพนักงานอายุน้อยที่ทำแบบสำรวจกล่าวว่า นายจ้างที่สนใจเรื่องผลกระทบของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยพิจารณาที่สำคัญเมื่อหางานทำ

อย่างที่ทุกคนจินตนาการได้ นี่ไม่ใช่กระบวนการเดียวที่เหมาะกับทุกคน ทุกบริษัทและผู้นำมีจุดประสงค์และค่านิยมที่ไม่เหมือนกัน และไม่มีสองอุตสาหกรรมใดที่จำเป็นต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะเดียวกัน จุดเริ่มต้น การแก้ปัญหาโลกรวน บริษัทต้องทำให้กลยุทธ์และวัตถุประสงค์ประสานเป็นเนื้อเดียว ไม่ว่าบริษัทด้านการเกษตรจะให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้สารกำจัดศัตรูพืชหรือสถาบันการเงินกำลังลดการปล่อยสินเชื่อลง CFO ที่เกี่ยวข้องควรมั่นใจว่ามีการกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และมีแผนทั่วทั้งบริษัท เพื่อให้ส่งมอบและรายงานความคืบหน้าที่สำคัญได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ ให้ความเห็นว่า ภายนอกอาจสันนิษฐานว่า ธุรกิจเทคโนโลยีมักไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุด จึงไม่ต้องเผชิญแรงกดดันมากนักในการลดและรายงานการปล่อยก๊าซ อย่างไรก็ตาม ทุกธุรกิจมีบทบาทในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงต้องรับผิดชอบ พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า บริษัทเทคโนโลยีมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 2.1-3.9 %

ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ผู้นำธุรกิจ และ CFO ควรทำงานเพื่อรวมแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทเข้ากับระบบติดตาม และปฏิบัติตามข้อกำหนดในชีวิตประจำวัน เมื่อถึงฤดูกาลรายงาน ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจรวมการรายงานทางการเงินและความยั่งยืนไว้ในเอกสารฉบับเดียว เช่น รายงานประจำปี หรือจัดพิมพ์แยกต่างหาก แนวทางปฏิบัติและประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนควรชัดเจนสำหรับทุกคน

ในความพยายามที่จะทำให้การให้ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโปร่งใสมากขึ้น ในรายงานประจำปีของบริษัทส่วนใหญ่ จะมีข้อมูลสำคัญๆ เช่น แนวทางลดการปล่อยคาร์บอนทั้งธุรกิจ ตั้งแต่การลดปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ใช้ในพื้นที่สำนักงาน การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมในห่วงโซ่คุณค่า เช่น จากการโฮสต์บนคลาวด์ การเดินทางระหว่างไปทำธุรกิจ การจัดเลี้ยงขององค์กร และอุปกรณ์ไอที เป็นต้น

ปัจจุบัน มีองค์กรและหน่วยงานมาตรฐานหลายแห่งคอยให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพและการรายงานด้านความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น Task Force on Climate-related Financial Disclosuresและ the UN Global Compact CFO Taskforce ซึ่งสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ให้รวมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนเข้ากับทุกแง่มุมของธุรกิจและรายงานผลการดำเนินงาน มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ( IFRS ) กำลังพัฒนามาตรฐานสำหรับการบัญชีสภาพภูมิอากาศที่มีกำหนดประกาศในปีนี้ ( 2566)

สิ่งสำคัญที่สุดของประเด็นเหล่านี้ คือ การแก้ปัญหาโลกรวนต้องทำอย่างจริงจัง และด้วยความมุ่งมั่น การรายงานผลการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะมีความสำคัญพอๆ กับการรายงานผลการปฏิบัติงานทางการเงิน ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้นำเห็นภาพที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพขององค์กร ซึ่งจะสนับสนุนความสำเร็จในระยะยาว และความยั่งยืนของทุกธุรกิจ

ที่มา

ภาพเปิดเรื่อง คลิก

You Might Also Like