NEXT GEN

ใน “ห้องเรียน” กลุ่ม LGBT ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying มากสุด

21 มิถุนายน 2562…ดีแทค&เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยวิจัย การรังแกทางวาจาเป็นจุดเริ่ม Cyberbullying แนะผู้ปกครอง-ครูต้องมีใจเป็นกลางใส่ใจเด็กเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ดีแทคพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet เพื่อเรื่องนี้

งานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กฯ”

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม*และการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” 1,606 ตัวอย่าง (มีการกระจายตามสัดส่วนของประชากร) พบว่า

…การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์ที่สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพวกเขา ทำให้การกลั่นแกล้งทางออนไลน์จัดเป็นปัญหาใหม่สำหรับประเทศไทย…

“จากงานวิจัยเราพบว่า สำหรับเด็กยุคใหม่ คนที่ถูกรังแกและคนที่รังแกคนอื่นมีสัดส่วนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่ามีการเอาคืนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีจุดเริ่มต้นจากการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางวาจา แล้วก็ไปสู่ทางร่างกาย ไปสู่ทางสังคม แล้วก็ทางสังคมจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการการรังแกทางไซเบอร์ ซึ่งเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการการรังแกมีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนสูงขึ้น และถึงแม้อาจไม่ได้รับความเจ็บปวดทางกาย แต่ความเจ็บปวดทางใจมีความรุนแรง เพราะลักษณะของการทำร้ายกันผ่านออนไลน์จะวนเป็นลูปไปกลับอย่างไม่จบสิ้น” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานที่ที่เกิดการกลั่นแกล้งกัน ประมาณ 2 ใน 3 เกิดขึ้นในห้องเรียน กล่าวคือ การใช้ความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นมากในสถานที่ที่คุ้นเคยและมีโอกาส

“เด็กจะแกล้งกันในโลกความเป็นจริงก่อน เมื่อกลับบ้าน หรืออยู่ลับหลัง ก็จะใช้ข้อความประจาน หรือนำคลิปข่าวหลอกลวงโพสต์ลงทำให้มีความเสียหาย”

ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้งกันในสังคมไทยส่วนใหญ่มาจากเพศชาย ซึ่งความน่าสนใจคือลักษณะการแกล้งมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีแนวโน้มเป็นกลุ่ม และอาจเป็นที่มาของวัฒนธรรมพวกมากลากไป หรือใช้จำนวนที่มากกว่าการสร้างความรุนแรง ซึ่งลักษณะดังกล่าว สามารถเห็นได้ชัดเจนในกลุ่ม LGBT ซึ่งมักเป็นผู้ถูกกระทำ โดยมักถูกกลั่นแกล้งทางวาจา ทางเพศและทางไซเบอร์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้กระทำมักเป็นเพศชาย

-เมื่อพิจารณาร่วมกันระหว่างเพศและศาสนาแล้ว จะพบว่า LGBT ที่นับถือศาสนาที่อิสลาม หรือศาสนาอื่น ๆ จะ
เป็นผู้ถูกกระท่ามากกว่ากรณีที่มีเพียงองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง (ความเป็น LGBT หรือศาสนา)
-ขณะที่นักเรียนเพศชายที่นับถือศาสนาพุทธจะเป็นผู้กระท่าอย่างชัดเจนเช่นกัน

 “จะเห็นได้ว่า การกลั่นแกล้งหรือการรังแกของไทย มีลักษณะของคนส่วนใหญ่เอาเปรียบ หรือใช้อำนาจต่อคนส่วนน้อยอย่างชัดเจน ซึ่งก็สะท้อนภาพเดียวกับสังคมไทยในภาพรวม”

ผศ.ดร.ธานี กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การแกล้งกัน (Bullying) ของเด็กนักเรียนขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่การแกล้งกันจะมีลักษณะอำนาจเหนือกว่าหรือมีความได้เปรียบด้านกายภาพ แต่โซเชียลมีเดียได้เข้ามาสร้างความเท่าเทียมกันของการแสดงออก ทำให้ความสามารถในการแกล้งกันของทุกคนใกล้เคียงกันมากขึ้น

หากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือรังแกทางไซเบอร์ อาจต้องเริ่มจากการป้องกันกลั่นแกล้งหรือรังแกทางสังคมกายภาพจริง พร้อมกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการรังแก เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กโตขึ้นในอนาคต การใช้กำลังจะถูกปลูกฝังว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และอาจแปรสภาพไปสู่การข่มขู่ การละเมิดอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรเป็นที่พึ่งให้กับเด็กที่ถูกกระทำ ความเข้าใจระหว่างครอบครัวที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงตัวตนของตัวเอง และกิจกรรมในโรงเรียนที่ควรเปิดกว้างมากพอให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพื่อให้เด็กทุกคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ที่สบายใจและทำสิ่งที่สนใจเหล่านั้นได้ดี หากแต่ทางออกระยะยาวถูกสกัดกั้นด้วยความไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคนรอบตัว

“สำหรับครูแล้วจากการวิจัยพบว่า ครูสอนดี ครูปกครอง ครูเอาใจใส่เด็ก ไม่มีผลที่เด็กอยากเข้าไปปรึกษาเลย เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งอยากบอกกับครูที่เขาคิดว่าครูคนนั้นต้องปฏิบัติเท่าเทียมกันกับเด็กทุกคน ในอนาคตเราก็หวังว่าแทนที่จะพยายามส่งเสริมให้ครูตั้งใจสอนเด็กอย่างเดียว เราอาจจะต้องผลักดันเรื่องความเป็นธรรมของครู ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสำคัญของคุรุศาสตร์”

สรุปผลการศึกษา การรังแกและการแกล้งกันมีความส่าคัญ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว การรังแกทางไซเบอร์มีจ่านวนและความส่าคัญเพิ่มขึ้น นอกจากครูและครอบครัวแล้ว บทบาทของตัวเลือกที่สาม เช่น สายด่วน ที่ปรึกษา เป็นเรื่องส่าคัญ

การรังแก และการแกล้งกัน เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างวัฒนธรรมของสังคมไทย ในด้านหนึ่ง อาจจะแก้ไขยาก เพราะแก้ไขวัฒนธรรมได้ยาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม อาจจะเริ่มจากการแก้ปัญหาเล็กๆ อย่างการรังแกกัน

ดีแทค ส่งหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet เข้าโรงเรียน

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของดีแทคในการทำความเข้าใจถึงปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งดีแทคมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อสังคมอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 90%

“ขณะนี้ดีแทคได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet เพื่อให้เด็กและครอบครัว สามารถพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็กๆ ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Parent Zone ผู้ให้บริการด้านความรู้ในการเลี้ยงเด็กในยุคดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ”

ทั้งนี้ หลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับเด็กอายุ 5-16 ปี ตลอดจนครูและผู้ปกครอง โดยเข้าผ่านเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com ซึ่งประกอบด้วยเกมทดสอบความเข้าใจโลกออนไลน์ คลังคำศัพท์ แบบฝึกหัด และคำแนะนำสำหรับครู ตลอดจนผู้ปกครอง

ล่าสุด หลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มต้นทดลองกับครูในโรงเรียนคาทอลิก 3 ภูมิภาค จากนั้นจะกระจายไปยังนักเรียน

*หมายเหตุ…
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เกี่ยวข้องอะไรกับ Cyberbullying ?
ผศ.ดร.ธานี  : เศรษฐศาสตร์เราศึกษาเรื่องคลาด หมายถึงสินค้า เพราะฉะนั้นในตลาด จะมีผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ขายมีสินค้าไปแลกผู้ซื้อที่เราเรียกว่าซัพพลาย
เมื่อเราดูเรื่องBullying เป็นความรุนแรง เป็นบริการหนึ่งที่ไม่ได้ถูกซื้อด้วยเงิน แต่มีการแลกเปลี่ยนในตลาด เพราะฉะนั้นได้มีผู้ผลิตบริการความรุนแรงอยู่ มีคนไปแกล้ง และมีผู้ซื้อความรุนแรงนี้อยู่คือ ผู้ถูกแกล้ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนความรุนแรงทางตลาด นักเศรษฐศาสตร์จะไปดูว่า มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ความรุนแรงขายเยอะขึ้น ผู้ซื้อก็อยากซื้อ หรือถูกบังคับซื้อเยอะขึ้น คือถูกแกล้งเยอะ โครงสร้างเหล่านี้เกี่ยวกับอะไรบ้างเช่น โรงเรียน บ้าน สถานที่อื่นๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดนี้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นการลงทุนที่ใหญ่ขึ้น ก็แสดงว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของตลาดที่มีการแลกเปลี่ยนความรุนแรง หรือการรังแกนักเศรษฐศาสตร์จะเข้าไปศึกษาตลาดนี้

 

 

You Might Also Like