NEXT GEN

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หยุดCyberbullyด้วยDQ

19 มิถุนายน 2563…วันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล ปี 2020 (Stop Cyberbullying Day) เอไอเอส รุกหนัก ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม แก้ปัญหาเรื่อง Cyberbullying อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ Influencers แห่งโลกโซเชียล พร้อมเผยผลสำรวจที่น่าเป็นห่วงของเด็กไทยกับการโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และแนวทางการสร้างเกราะป้องกันให้เยาวชนและคนไทยรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมด้วย DQ

เมื่อเราเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียล ไม่ว่าใครก็ตามสามารถที่จะเข้าถึงตัวเราเองได้ ซึ่งหลายครั้งที่เราเองก็สงสัยว่า ทำไมต้องถูกด่า ถูก Bully เพื่อ?

เอไอเอส เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรง Cyberbullying ในหัวข้อ “Empathy is the key ใจเขา ใจเราคิดถึงความรู้สึกคนอื่น และไม่ด่วนตัดสินใคร” โดย ลูกกอล์ฟ – คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูสอนภาษาอังกฤษและอินฟูลเอนเซอร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ญา – ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เยาวชนผู้ผลักดันเรื่องสุขภาพจิต ต้น-นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตบำบัด ติช่า – กันติชา ชุมมะ นักแสดง นางแบบ และ ซูซี่ – ณัฐวดี ไวกาโล อินฟูลเอนเซอร์

ทั้งนี้ บนเวทีได้ร่วมกันสร้างความเข้าใจกับคำ สองคำคือ Empathy และ Bully ซึ่งนรพันธ์ได้ขยายความไว้ว่า

Empathy ถ้าหากเปิดดูในพจนานุกรมจะหมายถึง การเอาใจใส่ เมื่อถูกนำมาใช้ในบริบททางด้านจิตวิทยาคือ การเข้าใจที่มาของความคิดนั้น ๆ เข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ และสามารถเผชิญความรู้สึกของตัวเอง มีระยะระหว่างกัน ซึ่ง Empathy มนุษย์มีโดยธรรมชาติ แต่จะขาดหายไปเป็นบางช่วง เพราะเรามีเรื่องที่คิดถึงตัวเองอยู่ค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถที่จะฝึกได้ เพราะเรามีทักษะในการพูด และการฟัง ในการสื่อสาร ทำให้เกิดEmpathy ระหว่างกันได้ เข้าใจความคิด ความรู้สึกคนอื่น ไม่กระทบกับตัวเราเอง

Bully หรือการกลั่นแกล้งนั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า หากเขารู้สึกว่ากำลังถูกกระทำอยู่ นั่นเท่ากับ Bully ของเขา ส่วน Bully ในทางวิชาการจะมีองค์ประกอบคือ

1.มีการกระทำที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือข้อความใด ๆ ก็ตาม แล้วตีความไปในลักษณะที่รุนแรงออกจากกรอบวัฒนธรรมและสังคมนั้น เช่น หากเราเข้าไปที่หนึ่ง แล้วมีการตีหัวกันเป็นปกติในที่นั้น จะไม่เรียกว่า Bully ในชุมชนนั้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเพราะเป็นการกระทำรุนแรงเรียกว่า Bully

2.ประกอบด้วยเจตนาที่จะกระทำถึงคนอื่น วิธีสังเกตคือ ทำซ้ำ ๆ และเมื่อถูกปฏิเสธแล้ว พวกเขาก็ยังทำอีกด้วยความตั้งใจด้วยวิธีการเดิม หรือรุนแรงมากกว่าเดิม

3.ลักษณะที่เป็นอำนาจกดขี่ ข่มเหง หลายคนพัฒนาตัวเองขึ้นไปเพื่อเป็นผู้กระทำที่ใหญ่ขึ้น แรงขึ้น

“การ Bully ไม่ใช่แค่การไปด่าว่า อ้วน ดำ ผมหยิก เท่านั้น ต้องมีเจตนาที่ชัดเจนว่าต้องการแกล้ง ทำให้คนนี้รู้สึกไม่ดี เช่นสมัยเด็ก ๆ มีการล้อชื่อพ่อชื่อแม่ นอกจากนี้ยังรวมถึงเจตนาที่ฉันอยู่เหนือเธอ เช่นผู้ใหญ่บางคนที่ตบหัวเด็กเล่นซ้ำ ๆ เขาอาจจะไม่ได้ให้เด็กคนนั้นรู้สึกแย่ แต่มีเจตนาว่า มีอำนาจเหนือเธอ ก็ถือเป็นการ Bully วิธีหนึ่ง” คณธิป และนรพันธ์ ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล

การรู้สึกถึงใจเขา ใจเรา

Influencers แห่งโลกโซเชียล ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรง Cyberbullying

ปราชญา ในวัย 15 ปีขณะนี้ มีโอกาสทำ Workshop กับเด็ก ๆ มีโอกาสเห็นการ Bully ในฐานะผู้ถูกกระทำ หรือเหยื่อ และการเป็นผู้กระทำ Bully เสียเอง ซึ่งกลุ่มหลังกล่าวถึงสาเหตุที่เป็นผู้กระทำ เพราะเมื่อเลื่อน Feed จากเฟสบุค สิ่งที่เห็นคือ คนนี้สวยกว่า คนนี้รวยกว่า คนนี้เพียบพร้อมมากกว่า ทำให้กลับมาเปรียบเทียบกับตัวเองว่า “ด้อยค่ากว่า” เห็นบ่อย ๆ คิดบ่อย ๆจนกลายเป็นปม และคลายออกไม่ได้ จึงต้องหาคนคนหนึ่งที่ด้อยกว่ามาเป็นตัวเปรียบเทียบ

“ผู้กระทำจะมีความรู้สึกว่า การได้ Bully คนอื่นทำให้เราสูงขึ้น และเป็นการคลายปมนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามคนที่เป็นเหยื่อ ไม่ใช่คนที่ถูก Bully เท่านั้น ต้องนับผู้กระทำเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน เพราะบางคนก็เคยถูก Bully มาก่อน ซึ่งเขาไม่สามารถจัดการปมในใจเขาได้ และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือ เขาไม่รู้ว่าการที่เขา Bully คนอื่นต่อไปแบบนี้มันทำให้เขาดีขึ้นได้กี่นาที กี่วัน หรือต้อง Bully คนไปตลอดชีวิตจึงจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ”

นรพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับเยาวชนที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย โดย Cyberbullying ที่มาจากภายนอกจะน้อยกว่าเพื่อนสนิทที่ใช้ดิจิตอลทำร้ายกันในกรุ๊ปไลน์ นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก จะมีทั้งการกีดกัน การนำรูปไม่เหมาะสมลงในกรุ๊ป เป็นเรื่องที่หลายคนมองว่า เป็นการแกล้ง หรือแหย่

ปราชญา มองว่า แอปฯทวิตเตอร์ ใช้ในการโจมตีคนอื่นได้ง่าย หลายคนสร้าง Hate Speech จนกลายมีตัวตนขึ้นมาได้ เพราะบางคนคิดว่านั่นคือแรงบันดาลใจ เช่นเดียวกับกันติชา ซึ่งเห็นว่าทุกคนสามารถ ค้นหาด้วยคำว่าอะไรก็ได้ ในทวิตเตอร์แล้วข้อความต่าง ๆ จะโผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด เช่นค้นด้วยชื่อตัวเอง ติช่า ทุกอย่างจะขึ้นมาทั้งหมด และสามารถรีโพสต์ได้อย่างรวดเร็วมาก ส่วนณัฐวดี ซึ่งมีชื่อเสียงใน Tik Tok เห็นว่าแอปดังกล่าวมีเรื่อง Bullying ไม่น้อยกว่าแอปฯอื่น ๆ

“เรื่อง Cyberbullying ผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็กและเยาวชนได้ คือชื่องานนี้เลย เราต้องเข้าใจคนอื่น ไม่ต้อง 100% แค่เริ่มต้นด้วยการเปิดใจ แล้วยอมรับความแตกต่างของเขา ที่สำคัญ เราไม่อยากโดนอะไร เราก็ไม่ควรไปทำกับเขาแบบนั้น และการที่เด็กคนหนึ่งจะไปปรึกษาผู้ใหญ่ว่า วันนี้ถูกเพื่อล้อว่าอ้วน วันนี้ถูกเพื่อล้อว่าดำ ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะบอกว่า ไม่เป็นไร อย่าไปคิดมาก วันหนึ่งเพื่อนก็เลิกล้อกันเอง แต่ที่ไหนได้อาจจะล้อถึงลูกเราบวชเลยก็ได้ อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กได้มากขึ้น เมื่อเด็กถูก Bully มา ผู้ใหญ่ควรจะเป็นที่ปรึกษา หรือแนะนำเขาได้”

ปราชญาเปิดประเด็น “รู้สึกถึงใจเขา ใจเรา” ซึ่งนรพันธ์เห็นด้วย เพราะนี่คือ Empathy ที่จะต้องมีทักษะแรกคือการฟัง ซึ่งผู้ใหญ่มีทักษะเรื่องการฟังน้อย เพราะจะมีทักษะเรื่อง “การสอน” และทักษะ “การเบี่ยงแบน” เช่นพูดว่า “ไม่มีอะไรหรอก” หรือบางทีก็บอกว่า “แม่ก็โดน”

ดังนั้น หากมีทักษะการฟังที่ดี มี Empathy แล้ว เรื่องที่เด็ก ๆ เล่าให้ฟังจะเป็นเรื่องที่มีระบบ ระเบียบมากยิ่งขึ้น เพราะอารมณ์เด็ก ๆ ได้ถูกทำลายออก เด็ก ๆ จะสามารถลำดับใหม่ เล่าเรื่องแบบใหม่อย่างมาสติให้พ่อแม่ฟังได้ ส่งผลให้เด็ก ๆ รู้ว่า อันนี้เล่นกันนะ อันนี้แกล้งกันนะ อันนี้รังแกกัน

คณาธิปช่วยเสริมเรื่องนี้ว่า “การที่ไป Bully ใครสักคนแล้วเกิดความชอกช้ำเล็ก หรือใหญ่ต่างกัน บางอย่างมนุษย์คนหนึ่งรับไหว รู้ว่าต้องจัดการอย่างไร แต่บางอย่างมาจากคนที่ใกล้ตัวที่สุดเช่น พี่ น้อง ญาติ เพื่อน แล้วพูดใส่เราทุกวัน ๆ ทำให้เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตตลอดเวลาที่อยู่ในบ้าน สิ่งเดียวที่ถามตัวเองทุกวันคือ ฉันจะรอดได้อย่างไรในวันนี้ ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย ความชอกช้ำถูกเก็บมาเล็ก ๆ นานวันเข้าไปไม่ไหว ดังนั้นต้องฝากผู้ใหญ่ว่า ความชอกช้ำดังกล่าวไม่ใช่ว่าเด็กจะรับมือได้เท่ากับผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้เมื่อมี Empathy จะบอกว่า คุณต้องรับฟังให้ดีอย่างไร”

กันติชา ยกตัวอย่างตัวเธอเอง ถ้าถูก Bully เรื่องรูปร่างหน้าตา จะรับมือได้ ยกเว้นเมื่อลึกไปกว่านั้นเช่นเรื่องครอบครัว ถ้ามาถึงตรงนี้ไม่ยอมเช่นกัน ส่งผลให้ Empathyของเธอน้อยลงไปมาก และเมื่อ Bully มาก็จะ Bully กลับไปให้ใหญ่กว่า เพื่อให้ได้อำนาจนั้นมา จนกระทั่งมีโอกาสได้ร่วมโครงการเกี่ยวกับเรื่อง Bully ทำให้พบว่า คนที่ Bully คนอื่นรู้สึกได้ความสะใจ จึงไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกถึงใจเขา ใจเรา ความเข้าอกเข้าใจกันว่า คนที่ถูกกระทำหรือเหยื่อ กลับเป็นคนกระทำ Bully เสียเอง อาจจะต้องได้รับความช่วยเหลือมากกว่าคนที่เป็นเหยื่อ

“ในที่นี้หลายคนเคยถูก Bully และหลายครั้งเราก็เป็นผู้กระทำ Bully คนอื่น เช่นกันจริง ๆ”

การสร้างภูมิคุ้มกัน

เมื่อคนจำนวนไม่น้อยเคยเป็นทั้งเหยื่อ และผู้กระทำ Bully นรพันธ์ได้กล่าวถึงการรับมือ โดยต้องยอมรับว่า “ทุกพฤติกรรม” มีที่มาทั้งดีและไม่ดีแตกต่างกัน เช่นในกรณีกันติชา พยายามเข้าใจภาพรวมทั้งหมด แต่ก็ต้องรักษาสิทธิ์ตัวเอง แต่เป็นการรักษาสิทธิ์แบบแสดงพลัง คอนเซ็ปต์ของการ Bully ฝั่งหนึ่งกำลังใช้พลังกดขี่เรา ถ้าเราจะแสดงพลังย่อมไม่เท่ากัน เราต้องแสดงพลังที่มากกว่า ดังนั้นวงจรการ Bully ยังเกิดอยู่ อาจจะเกิดแอคเคาน์ปลอมขึ้นมาแสดงพลังตรงนี้

“สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องหยุด ไม่ตอบโต้ เพราะคนที่กระทำก็หวังที่จะเหยื่อตอบโต้” กันติชาเล่าถึงสิ่งที่ทำ

ปราชญาขยายความต่อเนื่อง หากเป็นเธอจะทำ 3 อย่างคือ Stop หยุดที่ตัวเราไม่ตอบโต้ Block ตัดวงจรกั้นไว้เลย Tell สามารถบอกคนรอบข้างที่เราไว้ใจได้ และหากมีการละเมิดมากเกินไปก็ต้องใช้กฎหมายจัดการ ซึ่งหากแต่ละคนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้บนโลกออนไลน์นั่นหมายถึงว่าจะต้อง “มีความรับผิดชอบ” ยับยั้งชั่งใจมากยิ่งขึ้น

ส่วนณัฐวดี แสดงความเห็นในการตอบโต้ว่า หากไม่มีความจริงอะไรในการ Bully ก็จะไม่พูดด้วยเลย

“ตอนนี้ซูซี่ผ่านการ Bully จากโรงเรียน จากเพื่อนมามากแล้ว ต่อไปถ้าหากลูกเจอสถานการณ์แบบที่ตัวเองเจอ ซูซี่จะบอกเขาว่า สีผิวของเขามันมีค่า เพราะเมื่อลูกรู้สึกดีกับตัวเอง คำแย่ ๆ เป็นร้อยเป็นพันจะทำอะไรเขาไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่ต้องการสอนให้ลูกรู้ว่า Black is Beautiful ทำให้เขาภูมิใจ แม้ว่าจะมีเพื่อนผิวขาว 20-30 คน ก็ตามเขายังภูมิใจที่มีสีผิวนี้อยู่ เมื่อเขารู้สึกดีกับตัวเองก็เป็นแบบแม่ที่มีความภูมิใจ”

สำหรับกันติชา หากมีลูกจะสอนเรื่องนี้จากประสบการณ์ตรงคือ คุณไม่สามารถไปหยุดคนอื่นให้มาดูแลเราเอาใจเราได้ แต่เราสามารถควบคุมรีแอคชั่นของตัวเองได้ เราสามารถควบคุมว่า เราไปตอบสนองอย่างไรได้

“ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มที่ตัวเราเอง เมื่อตัวเราเองรู้สึกดีกับตัวเอง จะมีความสุขมากขึ้นไม่อ่อนไหวเหมือนเมื่อก่อน จะค่อย ๆ สอนลูกในเรื่องนี้ให้เกิดการซึมซับมากขึ้นเรื่อย ๆ”

นอกจากภูมิคุ้มกันที่แต่ละคนได้ทำไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คณาธิปเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมี หลังจากใช้โซเชียลมีเดียคือ Digital Footprint ทุกเหตุการณ์ที่เคยโพสต์ในอดีตจะติดค้างอยู่ในโลกออนไลน์ และมีโอกาสสูงมากที่จะถูกนำมา Bully ในปัจจุบัน ซึ่งการเด้งขึ้นมาเตือนของ Digital Footprint ช่วยให้เจ้าตัวได้มีโอกาสย้อนกลับไปคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงคิดและโพสต์เช่นนั้น ซึ่งบางอย่างจะแคปภาพอดีตนั้นไว้ เพื่อเตือนใจตัวเอง

พร้อมกันนี้ นรพันธ์กล่าวถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถทำได้ตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อก้าวสู่โลกดิจิทัล ความสะดวกส่วนหนึ่ง ความมีอำนาจส่วนหนึ่ง ใช้เพื่อค้นคว้าข้อมูลคุยกับเพื่อน รวมถึงทำร้ายคนอื่นด้วย ดังนั้นเอไอเอสจึงนำเครื่องมือที่เรียกว่า DQ หรือ Digital Quotient อัจฉริยะทางดิจิทัล มาให้เด็ก ๆ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้ใช้ โดย DQ จะเป็นการสร้างทักษะใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การรับมือ Cyberbullying การจะตัดสินใครต้องดูอะไรบ้าง อย่าเพิ่งด่วนสรุป ซึ่งถ้าเด็ก ๆ ไม่มี DQ ก็จะเป็นโทษสำหรับน้อง ๆ เยาวชนได้

การเผยผลสำรวจถูกรังแกบนโลกออนไลน์

นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส เผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) ที่เอไอเอส และ สถาบัน DQ ระดับโลกร่วมกันจัดทำขึ้น โดยเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมเด็กไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 44,000 คน จาก 450 โรงเรียนทั่วประเทศในปี 2562 ในประเด็นของการถูกรังแกบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบว่า

• 48% ของเด็กไทย เคยเกี่ยวข้องกับการรังแกบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 33%
• 41% ของเด็กไทย เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 39%
• เด็กผู้ชาย (56%) รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการรังแกออนไลน์มากกว่าเด็กผู้หญิง (41%)
• จำนวนเด็กผู้ชายและผู้หญิงที่เคยถูกรังแกมีสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยในกลุ่มของเด็กอายุ 13 ปี ขึ้นไป พบว่าเด็กผู้หญิงที่เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์มีจำนวน 43% ในขณะที่เด็กผู้ชายอยู่ที่ 37%

มาถึงช่วยท้ายของงาน ผู้ร่วมพูดคุยบนเวทีได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า “เราอย่าทำให้การกลั่นแกล้งคนบนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องปกติธรรมดา”

เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องการส่งเสริมให้ครอบครัวและเด็กไทย เกิดการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่เป็นผู้ที่รังแกคนอื่น และรับมือการถูกรังแกได้อย่างเหมาะสม

นัฐิยา กับภารกิจเอไอเอสสำคัญที่ต้องการส่งเสริมให้ครอบครัวและเด็กไทย เกิดการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดย เอไอเอสได้นำเข้าแบบเรียนรู้ DQ ซึ่งมีทั้งบททดสอบวัด DQ ในตัวคุณ และบทเรียนออนไลน์ที่มีประโยชน์ เสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นทั้ง 8 ทักษะ ในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย และแอนิเมชันสนุกๆ ให้คนไทยทุกคน ทุกเครือข่าย เรียนรู้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/dq

 

 

You Might Also Like