NEXT GEN

Sustainability คือ 1 ในกลยุทธ์ธุรกิจ 3S @ ราช กรุ๊ป

27 มีนาคม 2566…S-Sustainabilityเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียว  ชดเชยและซื้อขายคาร์บอน ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พัฒนาคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนอีก 10,000 ไร่ ส่วนอีก 2 S คือ Strength และ Synergy จะใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจำนวน 29,000 ล้านบาท และธุรกิจนอกภาคไฟฟ้า (Non-Power Business) อีก 6,000 ล้านบาท

ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัทฯ ปี 2566-2570 มุ่งเน้นเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่

-การเติบโตของผลตอบแทน โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA เติบโตจาก 12,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2570
-การขยายธุรกิจ Non-Power กำหนดเงินลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ในปีนี้ และปี 2570 ธุรกิจนี้จะสร้างรายได้เข้ามาเสริมให้บริษัทฯ ร้อยละ 5
-เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน ให้ได้ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตรวม และเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 25 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
-พัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และเตรียมความพร้อมสำหรับการประกาศความมุ่งมั่นความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2570

ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ราช กรุ๊ป (ที่ 2 จากขวา) และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ที่ 2 จากซ้าย) ลงนามสัญญาความร่วมมือ โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พื้นที่ป่าชุมชน 10,000 ไร่ พร้อมด้วย นวพล ดิษเสถียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บมจ. ราช กรุ๊ป(ขวาสุด) และธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ซ้ายสุด) ร่วมลงนามเป็นพยาน

“ในส่วน Sustainability บริษัทยังจะดำเนินการแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในปีนี้ เราจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงไฟฟ้าที่เรามีอำนาจในการบริหารจัดการเต็ม เช่นที่ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 100% โรงไฟฟ้าราชบุรี หรือที่สหโคเจน ที่เราถือหุ้น 56-57% เป็นต้น นอกจากนี้เราจะขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียว เพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 20% กำหนดเป้าหมายลงทุนธุรกิจ Non-Power รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาไฮโดรเจนจากะลังงานทดแทน สุดท้ายเป็นเรื่องการชดเชยและซื้อขายคาร์บอน นอกจากเราจะติดตามโครงการพัฒนาคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ 1,600 ไร่ ล่าสุดพัฒนาคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนอีก 10,000 ไร่ โดยบริษัทได้เข้าร่วมในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” ชูศรีกล่าว

ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายต่อเนื่องถึงโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าฯ ซึ่งต้องดูแลชุมชนรอบ ๆ ป่า และชุมชนเองก็ดูแลเรื่องไฟป่าแบบอาสาสมัคร ทั้งนี้ป่าที่ดีที่สุดคือป่าที่มีชีวิต เพราะจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอาหารแหล่งน้ำ กว่าจะได้ป่าสมบูรณ์ต้องใช้เวลานับร้อยปี ปัจจุบันผู้ดูแลป่าให้เรา ก็มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุน

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีแนวคิดปลูกป่าที่ยั่งยืน การที่ป่าจะยั่งยืนได้คนต้องยั่งยืน เราใช้แนวคิดนี้ในการดูแลพัฒนา 3 แสนไร่ ตรงนี้เป็นประสบการณ์ให้มูลิธิฯขยายไปยังป่าชุมชน ใช้ความรู้ของเราด้านการปลูกป่า และการดูแลป่าหลากหลายวิธีที่มีความสำคัญในการได้ทำงานกับชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน โดยการทำงานกับราช กรุ๊ปครั้งนี้ อยู่ภายใต้ความร่วมมือครั้งสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันเรามีพื้นที่การทำงาน 7 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี กำแพงเพชร พะเยา กระบี่ พื้นที่ป่าชุมชน 47,035 ไร่ ทำงานร่วมกับ 50 ชุมชน มีประชาชนได้รับประโยชน์ 42,000 คน มากกว่านั้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศลดก๊าซเรือนกระจก บรรลุเป้าหมาย ESG ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชน 6 ล้านไร่ทั่วประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่อง มีจำนวน 13,000 หมู่บ้านแล้วที่เกี่ยวข้องแล้ว”

การประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชนโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

กระบวนการการทำงานของโครงการฯ จะเป็นผู้เลือกพื้นที่ป่าชุมชนที่มีต้นไม้อยู่แล้วจำนวน 10,000 ไร่ โดยราคาที่ราช กรุ๊ปลงทุนคือ 2,700 บาท/ไร่ ในระยะเวลา 3 ปี โดยชุมชนและโครงการฯ จะดูแลตามข้อตกลง

สำหรับราช กรุ๊ป นับเป็นการสนับสนุนชุมชนในการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (“อบก.”) เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลป่าให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

ชูศรีกล่าวในท้ายที่สุดว่า แผนงานจัดการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นแนวทางที่ 3 ของกลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัท ในเบื้องต้น บริษัทมีแผนงานที่จะจัดการคาร์บอนเครติตจากป่าไม้ ประมาณ 50,000 ไร่ ภายในปี 2568 สำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทได้สนับสนุนการจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 1,000 ไร่ โครงการนี้นอกจากประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตแล้ว ยังช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs)ที่ 13 ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนด้วย

 

You Might Also Like