NEXT GEN

AIS นำ Blockchain ยกระดับโครงการ E-Waste+ ดึงผู้บริโภคมีส่วนร่วมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

10 ธันวาคม 2565…ปี 2560 ประเทศไทยมีขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 400,000 ตัน คนไทย 1 คนผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 7.4 กิโลกรัมต่อปี ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 3-5 ปี ในขณะที่โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จะกลายเป็นของตกรุ่นในเวลาเพียง 18 เดือนเท่านั้น เมื่อถึงเวลาต้องโยนทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะถูกส่งไปยังเตาเผาขยะหรือนำไปฝังกลบ นี่ยังไม่นับรวมสายชาร์จ หูฟัง และอะแดปเตอร์ที่มักถูกหลงลืมเมื่อสิ้นอายุขัยใช้งาน ปลายทางจึงตกอยู่ในกองขยะทำให้สารเคมีรั่วไหลลงผืนดิน และแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศ

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วนมากขึ้นเท่าไหร่ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เอไอเอสในฐานะผู้นำ Digital Provider ยึดมั่นการทำธุรกิจบนหลักการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่เอไอเอสโฟกัสมีอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ Emission ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการให้บริการอย่างบิลอิเล็กทรอนิกส์ และแอปพลิเคชั่น myAIS ช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินท์ รวมถึงโครงการ E-Waste โดยมุ่งมั่นลดหรือรีไซเคิลจากการะบวนการผลิตและการบริการ และส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่ผ่านมาเอไอเอสจับมือกับพันธมิตรสร้างเครือข่ายจุดรับทิ้ง E-Waste โดยปัจจุบันมีจุดรับทิ้งขยะทั้งหมด 2,484 จุด มี E-Waste เกือบ 4 แสนชิ้นถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ล่าสุดเอไอเอสนำศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะ กับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มา Redesign Ecosystem หรือพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น เห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกได้ว่ายกระดับจากการสร้างอะแวร์เนสมาสู่คอนซูเมอร์เอนเกจเมนท์ ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ E-Waste ดียิ่งขึ้น

เอไอเอสจับมือกับพันธมิตรสร้างเครือข่ายจุดรับทิ้ง E-Waste

เบื้องต้นเอไอเอสได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กรที่จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสผ่าน Blockchain  ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเข้ามาเริ่มใช้แพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคมในวงกว้างต่อไป

“ถือเป็นการขับเคลื่อนจากอะแวร์เนส มาสู่การเพิ่มเอนเกจเมนท์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ เพราะเทคโนโลยี Blockchain ช่วยให้ทุกคนสามารถ Track and Trace ตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้นได้แบบเรียลไทม์”

สายชล ทรัพย์มากอุดม และอราคิน รักษ์จิตตาโภค

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริมว่า “AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ทำให้มองโอกาสและเห็นขีดความสามารถของ Blockchain ในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในทางธุรกิจ ซึ่งแพลตฟอร์ม E-Waste + เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

“เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส ซึ่งจะสามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้  โดย AIS ยังมีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย”

สุดท้ายนี้สายชล กล่าวว่า Blockchain จะเข้ามามีบทบาทให้โครงการนี้มีความยั่งยืนได้ และสร้างอิมแพคกับโครงการ เพราะ Blockchain ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นระบบที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส โดยAISตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะเป็น Hub of E-Waste in Thailand พิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยมีความตระหนัก และมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบร่วมกันด้วยกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล

 

You Might Also Like