NEXT GEN

“เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล พิสูจน์ได้จริงจากตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนบ้านดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันมีเงินกองทุน 480 ล้านบาท มีสวัสดิการดูแลสมาชิกตลอดชีพ

1 เมษายน2564…ความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก โดยเฉพาะวิกฤติแล้งในปีนี้เริ่มส่งสัญญาณรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังพื้นที่ในหลายชุมชนเริ่มประสบภัยจากการขาดแหล่งน้ำกินน้ำใช้เร็วกว่าปกติ นั่นหมายความว่ายิ่งแล้งเท่าไหร่ก็ยิ่งซ้ำเติมภาวะทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรเพิ่มมากเท่านั้น

ดร.รอยล จิตดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวถึง วิกฤติภัยแล้งในปี 2564 ที่รุนแรงมากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งมีจำนวนมากถึงร้อยละ 80 ของประเทศ โดยชุมชนที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทานมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤติกว่า 30,000 ชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ขณะที่ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้

จากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ที่มีสัญญาณรุนแรงขึ้น ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมมือสนับสนุนชุมชน ให้รอดจากภัยแล้ง ความยากจน ด้วยการใช้ “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ซึ่งถอดบทเรียนจากความ สำเร็จของการจัดการน้ำชุมชนที่เอสซีจี และเครือข่ายได้ดำเนินมากว่า 10 ปี และโครงการ “เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส เอสซีจี ครบรอบ 108 ปี ซึ่งเป็นไปตามหลักการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นแนวทางการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานดังกล่าวสืบต่อไป

ดังนั้น การพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียวคงไม่ทำให้รอดภัยแล้งได้ เกษตรกรจึงต้องลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเอง เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำด้วยการใช้เทคโนโลยี หาแหล่งกักเก็บน้ำ และบริหารน้ำในพื้นที่ตัวเอง เมื่อมีน้ำกิน มีน้ำใช้ และมีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร มีผลผลิตทางชุมชนมีรายได้ อาชีพมั่นคง ด้วยการใช้ “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ซึ่งชุมชนบ้านดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ได้ทำสำเร็จมาแล้ว โดยชุมชนนี้ “เลิกแล้ง” มาเป็นระยะเวลานานเช่นเดียวกับ “เลิกจน” และมีเงินทุน 480 ล้านบาท สำหรับสมาชิก 9,541 คน ตลอดชีพ 11 กองทุน ทั้งออมทรัพย์ อาชีพ สวัสดิการและสิ่งแวดล้อม

บรรจง พรหมวิเศษ ตัวแทนชุมชนบ้านดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี เล่าถึง ปัจจัยแห่งความสำเร็จ “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ที่ได้ลงมือร่วมกันทำทั้งชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ 6 ขั้นตอนด้วยกัน

บรรจงเล่าถึง การลงมือร่วมกันทำทั้งชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ 6 ขั้นตอนด้วยกัน จนกระทั่งมีเงินกองทุน 480 ล้านบาท มีสวัสดิการดูแลสมาชิกตลอดชีพ

เรื่องแรก มีกระบวนการทำงานเริ่มต้นจากความสามัคคี พึ่งตนเอง เรียนรู้ ลงมือทำ แก้ปัญหาด้วยความรู้คู่คุณธรรม

“หากมองย้อนกลับไปในอดีตเรามีอาชีพทำนา แต่ทำนาเท่าไหร่เราก็ยังเป็นหนี้มาโดยตลอดไม่หมดสิ้นเสียที ในปี 2524 เกษตรกรในชุมชนจึงเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นทำไร่ไผ่ตง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของการปลูกไผ่ตง หลังจากที่เรามองเห็นโอกาสว่าไผ่ตงเป็นพืชเศรษฐกิจ และมีโรงงานทำหน่อไม้เข้ามารับซื้อ สร้างรายได้ดีกว่าการทำนา ทำให้เกษตรในชุมชนหันมาปรับพื้นที่นามาเป็นไร่ไผ่ตงทั้งหมด ก่อให้เกิดปัญหาหนักตามมา เนื่องจากการปรับหน้าดินทำให้พื้นที่หัวคันนาหายไป “น้ำแล้ง” มากขึ้น เมื่อไม่มีน้ำ เกษตรกรก็จะสูบน้ำในคลองเพื่อใช้ในการรดไผ่ตงนอกฤดูเพราะสร้างรายได้ดีกว่า จนก่อให้เกิดปัญหาแย่งน้ำจนชาวบ้านทะเลาะกัน”

เมื่อเจอปัญหาทางชุมชมก็เริ่มมองหาทางออกด้วยการตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำคลองเกษียร แต่ดูเหมือนว่าปัญหาก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีคนแอบสูบน้ำไปใช้กันตอนกลางคืน ต่อมาปี 2536-2540 เกิดเหตุการณ์ไผ่ตงตายทั้งประเทศ เกษตรกรได้รับผลกระทบทันที รายได้ไม่มี แต่ภาระหนี้สินมากขึ้น ภาครัฐไม่สามารถช่วยได้ การเข้าถึงแหล่งทุนก็ลำบาก สุดท้ายก็ต้องกู้ยืมเงินวนเวียนอยู่แบบเดิม ทางชุมชนจึงหันมาพัฒนาการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและไม้ผล เริ่มจากพื้นที่หัวไร่ปลายนา แต่ก็ต้องพบกับปัญหาเดิมคือ “น้ำไม่พอ”

เพื่อต่อสู้กับความจน ชุมชนตำบลดงขี้เหล็กจึงนำปัญหาเป็นตัวตั้ง “สร้างพลังร่วมกัน” ทำข้อมูลของหมู่บ้านในตำบล โดยออกแบบการเก็บข้อมูลทุกมิติของปัญหาว่าแต่ละครอบครัวมีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นนำมาตามจัดทำเป็นอันดับพบว่า อันดับหนึ่งคือ น้ำ สองคือหนี้สิน สามคืออาชีพ สี่คือสวัสดิการ

เรื่องที่สอง เรียนรู้จัดการน้ำ ด้วยเทคโนโลยี เรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เข้าใจสภาพพื้นที่ รู้ความต้องการใช้น้ำของตนเองและชุมชน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ วางแผนบริหารสมดุลน้ำ

บรรจง กล่าวว่าในช่วง 1-2 ปีแรกเป็นเพียงแค่จุดเริ่มของการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องน้ำ จากนั้นในปีต่อมาจึงได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ในการจัดการน้ำ

ในปี 2553 – 2557 สสน. ได้คัดเลือกชุมชนตำบลดงขี้เหล็กเป็นชุมชนแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แผนที่ภูมิศาสตร์ ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นนวัตกรรมทางธรรมชาติ และยังประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน จนสามารถจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูฝน ก่อนที่จะปล่อยให้น้ำไหลลงแม่น้ำปราจีนบุรี อีกทั้งได้วางระบบส่งน้ำเพื่ออุปโภคในครัวเรือน และใช้ในการเกษตร รวมถึงสอนให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

เรื่องที่สาม หาน้ำได้ เก็บน้ำไว้ ใช้น้ำเป็น สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ สำรองน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของชุมชน ใช้น้ำซ้ำให้คุ้มค่าด้วยระบบน้ำหมุนเวียน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน

บรรจงเล่ามาถึงช่วงปัจจุบัน ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ และสำรองน้ำในพื้นที่ ด้วยสระน้ำประจำไร่นา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขื่อนใต้ดิน” ทำให้มีน้ำใช้ยามฝนทิ้งช่วง สามารถบริหารจัดการปิด-เปิดประตูน้ำ และเชื่อมต่อคลอง เพื่อกระจายน้ำให้ เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ 28,850 ไร่ ได้น้ำกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้น้ำหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า ช่วยลดภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม

เมื่อแหล่งน้ำที่กักเก็บไว้มีความพร้อมในทุกสถานการณ์ ย่อมส่งผลถึงระบบเกษตรกรรมของชุมชนที่มีอยู่มีกิน และค้าขายได้

เรื่องที่สี่ ทำเกษตรผสมผสาน บริหารความเสี่ยง โดยปลูกพืชเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อขาย สร้างรายได้ตลอดทั้งปี ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรด้วยเทคโนโลยี วางแผนเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้ง

ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ได้แก่ พืชผัก ผลไม้หลายชนิดและการเลี้ยงปลาในสระ ใช้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย รวมทั้งดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี 2557จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จากเดิมปลูกไม้ประดับ พืชเชิงเดี่ยวเพื่อค้าขาย หันมาปลูกพืชกินได้เสริมในแปลงเกษตร ผลผลิตที่ได้นำมาบริโภค ในครัวเรือน จากเกษตรกรแปลงตัวอย่างจำนวน 5 ราย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้เฉลี่ยปีละ 16,800 บาท เนื่องจากมีการวางระบบกระจายน้ำแบบมินิสปริงเกอร์ ใช้น้ำน้อยแต่ให้น้ำพืชได้ทั่วถึง ปลูกไม้มรดก พืช กินได้ ผักสวนครัว

เรื่องที่ห้า เข้าใจตลาด ตรงใจลูกค้า ปลูกพืชที่ตลาดต้องการ แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขายผ่านช่องทางตลาดที่เข้าถึงลูกค้า

สำหรับ ผู้ที่ต้องการไม้ดอก ไม้ประดับ เช่น โมก จันทร์กระพ้อ สาระลังกา ฯลฯ รวมถึงผลิตทางการเกษตร ไผ่ตง และการแปรรูปต่าง ๆ ก็มักจะตรงไปที่ชุมชนดงขี้เหล็ก เพราะมีสินค้าให้เลือกตามความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลาย โดยลูกค้าจำนวนมากจะเดินทางมาถึงที่บ้านของชุมชน ซึ่งใช้เป็นหน้าร้านขายสินค้ากันเลย

“สมมติเป็นต้นโมก ลูกค้าจะดูจากฟอร์ม ดูจากขนาด โดยชาวบ้านซึ่งเป็นคนปลูกจะกำหนดราคาเอง ไม่มีคนกลาง การเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำ ช่วยให้เด็ก ๆ ไม่ไปทำงานนอกบ้านเลย ก็เป็นการช่วยกันดูแลครอบครัวในถิ่นที่เกิด” บรรจงอธิบายต่อเนื่อง

เรื่องที่หก เศรษฐกิจเพิ่มคุณค่า ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน การรวมกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง จัดการผลผลิตเกษตร การตลาด การจัดการเงินและสวัสดิการ

“ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก” ในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นหนึ่งในตัวอย่างของชุมชนที่ประสบความสำเร็จ จากที่เคยจนน้ำ จนเงิน จนความรู้ หนี้ท่วม ลุกขึ้นเรียนรู้ จึงมีน้ำ หมดหนี้โดยจัดตั้งกองทุนสัจจะออมทรัพย์ เริ่มต้นมีเงินทุน 1,150 บาท สมาชิก 48 คน กระทั่งปัจจุบัน มีสมาชิก 9,541 คน รวม 11 กองทุน มีเงินกองทุน 480 ล้านบาท ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนคอยช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมมอบสวัสดิการดูแลสมาชิกตลอดชีพ

“เงื่อนไขของเราคือ การฝากเงินต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาทแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน มีปันผลร้อยละ 6 บาทต่อปี ชาวบ้านหลายคนไม่ถอนเงิน ไม่กู้เงิน ดังนั้นหลายคนมีเงินเป็นล้านในกองทุนนี้ ส่วนสวัสดิการได้ตั้งแต่ลูกเกิดมีเงินขวัญทุน และนับเป็นสมาชิกของกองทุนเลย เพื่อให้เด็กรู้จักอดออม เมื่อสมาชิกกองทุนไม่สบาย นอนโรงพยาบาลได้คืนละ 300 บาท เสียชีวิตกองทุนจ่าย 20,000 บาท”

บรรจงกล่าวว่า “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ทำให้ชุมชนของเราลดรายจ่ายเฉลี่ย 20,000 บาทต่อครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 660,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ละปีจำนวนเงินในกองทุนสัจจะออมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นทุกปี และมีจำนวนการฝากเงินมากกว่าการกู้

“พิสูจน์ได้ว่าเมื่อไม่เจอกับปัญหาน้ำแล้งแล้ว เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น สร้างความมั่นคงในครอบครัว ทำให้รุ่นลูกเลือกที่จะเข้ามาสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อแม่ แทนการทำงานในโรงงานหรือเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมาจากการที่รุ่นพ่อแม่ปลูกฝังเรื่องการสร้างความมั่งคั่งจากที่ดินทำกิน และการเป็นนายตัวเอง ลูก ๆ จึงยังได้อยู่กับพ่อแม่เป็นครอบครัวที่อยู่กันอย่างอบอุ่น”

“เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล เครือข่ายความสำเร็จของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ พลิกชีวิตความเป็นอยู่ให้กับ 250 ชุมชน 47,500 ครัวเรือน ใน 30 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่าว่า ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับเครือข่ายแก้ปัญหาภัยแล้ง สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เห็นความสำเร็จของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ พลิกชีวิตความเป็นอยู่ให้กับ 250 ชุมชน 47,500 ครัวเรือน ใน 30 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ซึ่ง “ชุมชนดงขี้เหล็ก” ก็เป็น 1 ในความสำเร็จ และบทพิสูจน์ว่า ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และความยากจนได้ มีปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้ง 6 เรื่องที่ทำจริงได้ จึงนำมาสู่บทสรุป “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล

“เอสซีจีจะร่วมผลักดัน เลิกแล้ง เลิกจน โมเดลร่วมกับสสน.และทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยเอาชนะสงครามภัยแล้ง และความยากจนเร็ววัน” รุ่งโรจน์กล่าวในท้ายที่สุด

เนื้อหาเกี่ยวข้อง อีกหนึ่งความสำเร็จ

You Might Also Like