NEXT GEN

วิศวะฯจุฬา เปิด AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE แซนด์บ็อกซ์แห่งแรกในสถาบันการศึกษา ต่อยอด 5G Use case หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

25 สิงหาคม 2565…ด้วยความมุ่งมั่นใจการสร้างบุคลากรทางด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงตอบโจทย์การเรียนไม่ได้มีแต่ในทฤษฎีอีกต่อไป ทำให้เกิดเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ AIS 5G ร่วมเป็นพันธมิตรทดลอง ทดสอบ 5G เปิดศูนย์ 5G R&D ในชื่อ “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” แห่งแรกแห่งเดียวที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ณ อาคาร 100 ปี วิศวะฯ จุฬา พร้อม LIVE Private Network ด้วยการติดตั้งสถานีฐาน 5G กับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHzและ 26 GHz (mmWave) พร้อมให้นิสิตและคณาจารย์ ต่อยอดแนวคิดพัฒนา Use Case บนเครือข่าย 5G เพราะเครือข่าย 5G ไม่ใช่แค่เรื่อง โทรศัพท์มือถือ หรือความเร็วของมือถืออีกต่อไป เพราะ 5G เป็นเรื่องของ Use Case และการใช้งานของโทรศัพท์มือถือ สู่ความต้องการใหม่ ๆ สำหรับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส และศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือครั้งล่าสุดนี้ นับเป็นครั้งแรกในการส่งเสริมและสนับสนุนในภาคการศึกษา ในการเปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมให้แก่นิสิต นักวิจัย รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของเทคโนโลยี Digital ของไทย ได้มีโอกาสลงมือทดลอง ทดสอบ เพื่อพัฒนาไอเดียด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI,ML,VR,AR,MR,IoT,Metaverse,Robotic ,ฯลฯ บนเครือข่าย 5G

“การสนับสนุนภาคการศึกษา การให้ความสำคัญกับการนำเอาโครงข่าย 5G มาสร้างพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษา และอาจารย์ มีโอกาสได้เรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ เป็นเรื่องสำคัญ เรามองว่าภาคการศึกษากับ 5G สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากนิสิต นักวิจัย จะเป็นคนนำ 5G ไปใช้ในภาคการศึกษา เป็น Influencer ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแปลี่ยนแปลง ความร่วมมือกับวิศวะฯ จุฬา เป็นการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยในการสร้าง Use Case และทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อสนับสนุนนิสิต คณาจารย์ และนักวิจัย ในการทำงานและการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ร่วมกัน สามารถพัฒนาเทคโนโลยี แพลตฟอร์มและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ การแพทย์ หรือ Healthcare การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคต”

วสิษฐ์ ขยายความถึงการร่วมมือครั้งล่าสุดเกิด AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี อบรมเทรนนิ่ง รวมถึงการสร้าง Sandbox และ Showcase ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ (Build awareness) มีการต่อยอดของ Use Case ต่างๆ บนเครือข่าย AIS 5G และ AIS Advance เพื่อรองรับการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆรองรับความต้องการและตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมต่างๆ และ AIS 5G มองว่า ภาคการศึกษาเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างการตระหนักรู้ การตื่นตัวในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ นิสิต นักศึกษาเป็นอีกกลุ่มที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ อธิบายถึงการขยายความร่วมมือกับ AIS 5G จะเป็นส่วนสำคัญในการเรียน การสร้าง Use Case ที่จะสามารถใช้งานได้

“วิศวะฯ จุฬาฯ เป็น 1 ในสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่เข้าไปร่วมทำงานกับทุกภาคส่วน การมีสถานที่ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเสมือนจริงอย่าง AIS 5G Playground และ 5G Garage ที่มีความครอบคลุมของคลื่นความถี่ของ 5G แบบ LIVE Network มี Lab รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้จริง จึงถือว่าตอบโจทย์และสามารถส่งเสริมให้นิสิต และคณาจารย์ ได้ใช้เป็นแหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดี ที่สำคัญถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีจากเราและภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS ที่จะมาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิตและคณาจารย์ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย ผ่านเครือข่าย 5G”

ด้วยความรวดเร็วของความร่วมมือเป็นเพราะความที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีเคมีตรงกันมาตั้งแต่ปี 2561 ที่เอไอเอสเองก็เริ่ม Use Case 5G ครั้งแรกในวงการโทรคมนาคม กับวิศวะจุฬา มาถึงล่าสุด AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE

โดยภายในงานมีการโชว์ Use Case ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันที่จะเกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นในอนาคต อาทิ

-Walkie Domestic Robot หุ่นยนต์ผู้ช่วยในบ้าน

-Kaimook หุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Healthcare Robot) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง สามารถช่วยในการดูแลคนไข้ทางไกล

-หุ่นยนต์ Rehab เป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยในการฝึกทำกายภาพบำบัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดภาระของนักกายภาพบำบัด

นอกจากนี้ ยังมีการโชว์รถยนต์ไร้คนขับหรือ Autonomous Shuttle Bus รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กทปส. ที่ใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยกับการทำงานของรถไร้คนขับ โดยคาดว่าปลายปีจะเริ่มนำไปวิ่งบนพื้นที่ถนนจริงและ IntaniaVerse คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มการทำเมตาเวิร์สเพื่อการศึกษา อาทิ โรงไฟฟ้า ณ เขื่อนท่าทุ่งนา การฝึกและบำบัดผู้สูงวัยด้วยแอปพลิเคชันโลกเสมือนจริง เป็นต้น

“ความร่วมมือกับ AIS 5G ทำให้นิสิต คณาจารย์ และนักวิจัยมีโอกาส มีประสบการณ์ในการใช้งานจริง จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมาก สามารถรองรับ Digital transformation อาจจะมีการนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มีการขยายการใช้งานมากขึ้น ความสำคัญของการศึกษาวันนี้จะต้องผนวกเอาคนที่รู้ทฤษฎีในเชิงวิจัย และผู้ที่มีความรู้ลึกเฉพาะด้านและใช้งานจริงมาช่วยในการสร้างทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาจากนี้ไป ในเชิงทฤษฎีเรียนจากที่ไหนก็ได้ การที่จะได้เรียนรู้จริงกับภาคส่วนท่ีเกี่ยวข้องโดยตรง คิดว่าเป็นทิศทางและนโยบายที่จุฬาฯ กำหนด เราเป็นแพลตฟอร์ม เราจะต้องเอาคนที่เก่งทางด้านต่างๆเข้ามาช่วยกันสร้างคนให้กับประเทศชาติ ก็จะเป็นหัวใจของการพัฒนาการศึกษาจากนี้ไป” ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าว

แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะมีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดย AIS เป็นรายแรกที่เปิดให้บริการด้วยการมีคลื่นความถี่มากที่สุดคือ 1420 MHz แต่ประโยชน์ของ 5G ยังจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของ Digital Transformation ที่จะพลิกโฉม Business Model ของทุกภาคส่วนให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Digital Disruption และการเกิดขึ้นของโควิด ดังนั้นการทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อค้นคว้า วิจัย ทดลอง ทดสอบ จึงเป็นสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญสูงสุดเสมอมา

“การที่ภาคการศึกษา ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน สร้างทักษะเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G และ 5G Advance ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อของ IoT และ ทำให้เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุดย่อมทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิดจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่ง AIS พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่” วสิษฐ์ กล่าว

การเดินทางของ AIS 5 G ไม่ใช่เพียงแค่การทำงานอย่างหนักร่วมกับพันธมิตรในกลุ่มลูกค้าองค์กรรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ในหลาย Use Case ถูกนำไปใช้เพื่อภาคการศึกษา สาธารณสุข สุขภาพ และอีกหลายเรื่องเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตามการทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อค้นคว้า วิจัย ทดลอง ทดสอบ ก็ยังต้องเดินคู่กันไปเสมอและเป็นสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญสูงสุดเสมอมา ดังเช่น ความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ที่ยังทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องผ่าน Use Case ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นผลงานวิจัยของคณาจารย์ หรือ โครงการของนิสิต ที่ล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ สร้างนวัตกรรมเพื่อประเทศไทย

 

You Might Also Like