CSR

อีกมุมที่มองไม่เห็นของ Single Mom คือแรงบันดาลใจสู่ Women’s Empowerment Principles

23 พฤษภาคม 2562..เมื่อ VATANIKA วางตำแหน่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้า “ระดับโลก” สัญชาติไทย  ย่อมละเลยประเด็นปัญหาทางสังคมไม่ได้ แถมต้องเข้มข้นคลุกกับงาน จึงใช้แรงบันดาลใจหนุน UN Women ลงนามหลักการ WEPs สร้างพลังขับเคลื่อนผู้หญิงทั่วโลก

วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดีไซเนอร์ VATANIKAเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกในประเทศไทยที่ได้ให้สัตยาบันนำประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมาให้เป็นหลักการบริหารธุรกิจในบริษัท และเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบในประเทศไทย

“เพราะความบังเอิญหรือโชคชะตาก็ไม่ทราบ รอบ ๆ ตัวของแพรรายล้อมไปด้วยผู้หญิง คนที่แพรทำงานด้วย กว่า 90% เป็นผู้หญิงที่มีเรื่องราวแตกต่างกัน ทำให้แพรมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ และเข้าใจพวกเธออย่างแท้จริง”

เรื่องราวของลูกน้องที่ล้วนเป็นผู้หญิง มีเรื่องหนึ่งที่กระแทกใจนายผู้หญิงเช่นกันคือ การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ได้เห็นความทุ่มเททั้งการทำหน้าที่พ่อแม่ในเวลาเดียวกันกับลูก ขณะที่ต้องทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว พร้อมทั้งมีเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศตามในหลายๆ กรณี จึงได้ริเริ่มโครงการชื่อ The Invisible Path เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาวมองหาเส้นทางชีวิตของตนเอง โดยมีแนวทางที่จะดูแลคนทำงานในองค์กร จะช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนในการเสริมสร้างพลังและศักยภาพผู้หญิง

วทานิกาเล่าถึงแรงบันดาลใจต่อเนื่อง  จากในองค์กรต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง พร้อมส่งเสริมให้ผู้หญิงให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และให้ผู้หญิงมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แรงบันดาลจากเพื่อนร่วมงาน ส่งต่อในการร่วมงานกับ UN Women

จึงเป็นที่มาของการ ลงนามยอมรับหลักการ Women’s Empowerment Principles หรือ WEPs (หลักการแห่งการเสริมสร้างศักยภาพและพลังของผู้หญิง) ของ UN Women พร้อมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น  Empower Women Champion for Change  มี มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ UN Women และวิปัญจิต เกตุนุติ ผู้ประสานงาน UN Women ประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน

UN Women เป็นองค์กรที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศของผู้หญิงอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กหญิงมีความเสมอภาคและได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยมีพันธกิจสำคัญในการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่

  1. การเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของผู้หญิง 
  2. การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง
  3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานเกี่ยวกับวาระด้านผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง
  4. การเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจของผู้หญิง
  5. การส่งเสริมให้ความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นประเด็นสำคัญในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

“คำถามแรกจากทาง UN Women คืออยากรู้ว่าแพรต้องการทำงานเฉพาะผู้หญิงในประเทศไทย หรือทั่วโลก ซึ่งเลือกอันหลังก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ UN Women เข้าไปช่วยสร้างศูนย์อเนกประสงค์ สำหรับผู้ลี้ภัยสตรีในคอกส์บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ เมื่อได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงเหล่านี้มากขึ้น ก็ได้เห็นความแข็งแกร่งของพวกเธอ หากแต่เพียงผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสศึกษา มีความรู้มากขึ้น ก็จะสามารถปกป้องตนเอง พึ่งพาตนเอง ดูแลลูก ๆ และครอบครัวได้ และที่สำคัญ พวกเธอจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง”

วทานิกาเห็นว่า เรื่องนี้ทำให้มองไปถึงปัญหาในภาพใหญ่ พวกเธอควรได้ทราบว่าตนเองมีสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพราะทุกคนควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และในการแก้ปัญหานี้

แม้ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะช่วยผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่มั่นใจว่ามีศักยภาพในการเป็นกระบอกเสียงที่สะท้อนความเป็นจริง และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

“สำหรับโปรเจ็กต์แรก ตั้งเป้าในการระดมเงินบริจาคประมาณ 3 ล้านบาท ตั้งใจจะจัดงานกาล่าดินเนอร์เพื่อส่งมอบเงินบริจาค ซึ่งแพรยืนยันว่าหลังจากระดมทุนได้แล้ว การทำงานกับ UN Women ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แต่จะเป็นสถานที่ใดก็ต้องเป็นตามที่ UN Women เลือกจากความจำเป็นก่อนหรือหลัง”

เพื่อนๆ ลูกค้าบางส่วนของแบรนด์ VATANIKA ร่วมแสดงความยินดี

วทานิกา กรุ๊ป เป็นบริษัทจำกัดแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้เข้าร่วมในโครงการระดับสากลนี้ และวทานิกา ยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบในประเทศไทย โดยยึดมั่นในหลักการ 7 ข้อที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในสถานที่ทำงาน ตลาดแรงงานและชุมชน อันได้แก่

  1. เป็นองค์กรที่มีผู้บริการระดับสูงที่ชูนโยบายเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ
  2. ปฏิบัติต่อหญิง และชายอย่างเท่าเทียม คือ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการไม่เลือกปฏิบัติ
  3. รับประกันความปลอดภัย และสวัสดิภาพในการทำงานให้กับพนักงานหญิงและชาย
  4. ส่งเสริมการศึกษา ฝึกอบรม และการพัฒนาทางอาชีพ
  5. นำประเด็นเรื่องการพัฒนาองค์กรมาใช้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นทางของสินค้าหรือ ตลาดที่ส่งเสริมผู้หญิง และให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของวัตถุดิบนั้น
  6. ส่งเสริมด้านความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านกิจกรรมชุมชน
  7. ติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

“เป้าหมายปีนี้ ตั้งใจที่จะรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะคนทำงานบ้าน ที่มักจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม และอยากจะช่วยป้องกันการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาเป็นเวลายาวนาน โดยแพรและทีมงาน จะยืนหยัดไปด้วยกัน และเราจะพยายามส่งเสริมและช่วยเหลือผู้หญิงทั่วโลกให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” วทานิกากล่าวในท้ายที่สุด

คอลเลคชั่น VATANIKA บางส่วน

 

You Might Also Like