CSR

อินทัช เข้าพื้นที่ที่ประสบภัยร้อยเอ็ด&เสริมสร้างคุณภาพชีวิต

11 กันยายน 2562…มอบสิ่งของจำเป็นเร่งด่วนช่วยเหลือครอบครัวนักเรียน ครู โรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมติดตามผลการดำเนินงานในโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนักเรียนในโรงเรียนด้อยโอกาส รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ

เอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อินทัชและบริษัทในเครือ คือ เอไอเอส และไทยคมดำเนินโครงการช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นปีที่ 3 ต่อจากจังหวัดน่าน และเลย โดยมุ่งเน้นให้โรงเรียนมีความพร้อมด้านพื้นฐานการศึกษาอย่างเหมาะสม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีต่อการเรียนในโรงเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข

สิ่งที่อินทัชช่วยเหลือหลักๆ มี 3 ด้าน คือ

1)ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการศึกษาที่จำเป็นในโรงเรียน
2)พัฒนาทักษะความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก
3)ส่งเสริมสุขภาพอนามัย โดยจัดสรรงบประมาณดำเนินการรวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านบาท
“จากอิทธิพลของพายุโพดุล ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ เราจึงได้เตรียมสิ่งของจำเป็นเร่งด่วนในเบื้องต้น เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม และนมกล่อง เพื่อมอบให้แก่นักเรียนและครอบครัวของทั้ง 2 โรงเรียน พร้อมกันนี้ยังได้มอบข้าวสารปลอดสารเคมีในโครงการข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช และน้ำดื่มจำนวนหนึ่งให้กับทั้ง 2 โรงเรียน เพื่อทำเป็นอาหารกลางวันด้วย”

โรงเรียนบ้านหนองม่วง : ปรับปรุงอาคารเรียน โรงอาหาร อาคารอเนกประสงค์ ห้องน้ำ พัฒนาระบบภายในห้องสมุด รวมทั้งสนับสนุนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนบ้านหนองม่วงไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หลังคารั่ว ในช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลเอ่อเข้าไปในโรงอาหารทำให้นักเรียนที่จะรับประทานอาหารเต็มไปด้วยความยากลำบาก รวมทั้งไม่มีห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัย ทางอินทัชจึงสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเรียนและ โรงอาหารให้อยู่ในสภาพแข็งแรง ปลอดภัย สร้างห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์สำหรับใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนและชุมชน เช่น ลานกีฬา จัดงานมงคลต่างๆ ของชุมชน รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักเรียน มอบคอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้นข้อมูล จัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และความสนใจของเด็ก เช่น สารานุกรม วรรณกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย คู่มือเตรียมสอบ หนังสือรางวัลซีไรต์ และพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารจัดการภายในห้องสมุดโดยใช้ระบบบาร์โค้ดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน สืบค้นได้ง่าย รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

จุฑามาศ ผกากลีบ ครูโรงเรียนบ้านหนองม่วง เปิดเผยความรู้สึกว่า สำหรับความสะดวกต่าง ๆ ที่ทางอินทัชมอบให้ ทั้งความสะดวกในด้านสื่อการเรียนการสอน สัญญาณอินเทอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ และหนังสือต่าง ๆ ทำให้นักเรียนของเรามีพัฒนาการในการเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ สร้างนิสัยรักการอ่านมากขึ้น เพราะช่วงเวลาว่างเด็กๆ จะชอบเข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุด จากเดิมมีนักเรียนเข้ามาใช้บริการ 30 คนต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 110 คน

“หนังสือที่เด็กๆ ชอบอ่านจะเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบสวยงาม เช่น หนังสือชุดส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และนิทานอีสป ส่วนด้านอาคารสถานที่ก็เป็นส่วนที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมของเรา เช่น โรงอาหารก็จะเป็นโรงอาหารที่มีความเป็นสากล สะอาด แข็งแรงมั่นคง อาคารเรียนก็มีสีสันสวยงามน่าสนใจ นักเรียนมีความสุขคุณครูก็มีความสุข”

โรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์ : จัดทำระบบผลิตน้ำดื่มสะอาดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบสำรองน้ำจากน้ำฝนแก่โรงเรียน และตู้กดน้ำหยอดเหรียญสำหรับชุมชน

เด็กนักเรียนโรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด น้ำมีสีเหลือง และมีกลิ่น เนื่องจากระบบกรองน้ำชำรุด ไม่ได้มาตรฐานนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทำให้โรงเรียนต้องแบ่งงบส่วนหนึ่งไปซื้อน้ำบรรจุถังวันละ 4-5 ถังมาใส่ตู้น้ำให้เด็กดื่ม ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่อินทัชเข้าไปสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จาก โซล่าเซลล์ที่มีกำลังการผลิต 10,000 ลิตร/วัน โดยประยุกต์การใช้งานเข้ากับระบบไอโอที (NB-IOT) ทำให้สามารถตรวจสอบปริมาณการผลิตน้ำจากอินเทอร์เน็ตได้ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำของโรงเรียน และนำไปจัดทำระบบผลิตน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานทำให้ไม่สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต ช่วยประหยัดค่าไฟต่อเดือนประมาณ 500 – 1,000 บาท นับเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และวางแผนการใช้น้ำได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ ยังดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญสำหรับชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีน้ำสะอาดบริโภคในราคาถูกกว่าที่ซื้อทั่วไป (ถัง 20 ลิตร ราคา 5 บาท) และยังสามารถนำรายได้มาดูแลซ่อมแซมระบบผลิตน้ำทำให้ไม่เป็นภาระแก่โรงเรียนในระยะยาว โดยตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 โรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำดื่มโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ 200-700 บาท โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสูงถึง 2,000 บาท

ถวิล สุทธิประภา ชาวบ้านชุมชนบ้านวังยาว เปิดเผยว่า “ตั้งใจจะให้ทางชุมชนได้มารับรู้เกี่ยวกับน้ำที่โครงการนี้ได้มา แล้วเขาจะได้ดื่มน้ำที่สะอาดแล้วก็ประหยัด แต่ก่อนเราเคยซื้อน้ำดื่มกัน ราคาค่อนข้างสูง พอดีได้ระบบผลิตน้ำนี้มาช่วยให้เราได้กินน้ำที่สะอาดและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย”

เอไอเอส และไทยคม ร่วมสนับสนุน

บริษัทในกลุ่มอินทัช ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มอบถังเก็บน้ำขนาด 2,200 ลิตรพร้อมฐาน Home Wi-Fi และอุปกรณ์ NB-IOT, บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการจัดทำสหกรณ์ และปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียน

อินทัชร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในชุมชนสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

ชุมชนบ้านวังยาว มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ติดกับแม่น้ำชีทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งบ่อยครั้งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ในช่วงน้ำท่วม พื้นที่นาข้าวแลผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ชาวบ้านประสบปัญหาในการเดินทางเข้า-ออก ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ ส่วนหน้าแล้ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะแหล่งน้ำตื้นเขินจัดเก็บน้ำไม่ได้เต็มที่ และยังไม่มีการเชื่อมโยงแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละแห่ง ทำให้เกษตรกรโดยรอบ ขาดแคลนน้ำทำเกษตรกรรม

การดำเนินงานเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของชุมชนบ้านวังยาว ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน 200 ครัวเรือนในพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและภาคการเกษตร วางแผนการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม สามารถวิเคราะห์ วางแผน พัฒนาเพื่อบรรเทาปัญหาอันเกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้งได้ อาทิ พัฒนาศักยภาพชุมชนโดยจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชน และคณะกรรมการน้ำชุมชนมีความรู้เรื่องการสำรวจแหล่งน้ำ การอ่านแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม GPS ข้อมูลน้ำ สถานการณ์น้ำ เพื่อนำไปวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยมุ่งหวังให้ชุมชนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เรียนรู้การติดตามสถานการณ์น้ำผ่านแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งได้ทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤติ เพื่อวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำได้ในอนาคต

 

นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังได้ร่วมกันสร้างฝาย เพื่อยกระดับน้ำในกุดชีเฒ่า เสริมโครงสร้างประตูหน้าท่อเชื่อมระหว่างกุดชีเฒ่าและคลองไผ่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำหลังน้ำลดได้ ช่วยให้เกษตรกรโดยรอบมีแหล่งน้ำทำการเกษตร ชาวบ้านมีแหล่งอาหารจากการทำประมงพื้นบ้าน เกิดแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ มีความมั่นคงทางด้านอาหาร รายได้และเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเกิดความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม

 

 

You Might Also Like