CSR

ดีแทคยกระดับ “การเกษตรเพื่อส่งออก” @เกษตรกรรักบ้านเกิด ครั้งที่ 12

29 ธันวาคม 2563…การส่งออกมีขั้นตอนมาก และต้องเรียนรู้ที่จะนำเครือข่ายมารวมกัน นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากทำได้การเกษตรจะยั่งยืน

“เวทีประกวดเกษตกรสำนึกรักบ้านเกิด” ปีนี้ ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ทำงานร่วมกับ EXIM BANK เป็นครั้งแรก ซึ่ง EXIM BANK นอกจากจะมีภารกิจหลัก ๆ คือเพิ่มโอกาสทางการตลาดและศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกของผู้ประกอบการภาคเกษตร โดยการใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อส่งออกและขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศได้มากขึ้นแล้ว ภารกิจที่กล่าวถึง จะถูกนำมาช่วยเหลือสังคม เช่นใน “เวทีประกวดเกษตกรสำนึกรักบ้านเกิด” ปีนี้

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พาร์ทเนอร์สำคัญของโครงการนี้ กล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคตามวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบ New Normal โดยธนาคารมีบริการสนับสนุนทั้งด้านความรู้ การเงิน การให้คำปรึกษาและจับคู่ธุรกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่องและความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างมั่นใจและแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

ภายใต้การแข่งขันของตลาดโลก “คุณภาพ” ถือเป็นจุดขายหลักในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเกษตร ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มองว่าเกษตรกรไทยจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญ 3 เรื่องคือ รู้จักทำเทคโนโลยีเกษตร (AgriTech) ผสานเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมศักยภาพทั้งในแง่การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการควบคุมคุณภาพ (Quality control) ทำให้การลงทุนมีความแม่นยำมากขึ้น ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ

“ที่ผ่านมา ดีแทคร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อติดอาวุธทางความรู้แก่เกษตรกรไทยมากว่า 10 ปี ล่าสุดเรามีการเปิดตัวแอป Kaset Go โดยความร่วมมือกับยารา ประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ของเกษตรกรตัวจริง เป้าหมายคือให้เกษตรกรได้รับข้อมูลความรู้ที่ทันสมัย เข้าใจง่าย และตรงต่อความต้องการเฉพาะราย”

บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เสริมว่าการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดในปีนี้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนายกระดับเกษตรกรให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านการส่งเสริมยกระดับเกษตรกรสู่การเป็น “ผู้ประกอบการ” ที่เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับสากลได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดหลักของการประกวดภายใต้กรอบ “การเกษตรเพื่อการส่งออก” เพื่อยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานสู่ระดับโลก

“ที่เราเลือกเรื่องของการส่งออกในปีนี้เพราะถือเป็นเรื่องท้าทาย ปีนี้เราจึงเน้นที่เรื่องของการส่งออกเพราะมีขั้นตอนมาก ซึ่งถ้าเราทำได้จะกลายเป็นความยั่งยืนถาวรและความมั่งคั่งทางการเกษตรมากขึ้น ต่อไปคนที่จะอยู่รอดไปข้างหน้าต้องเรียนรู้ที่จะนำเครือข่ายมารวมกัน นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในอนาคตเทคโนโลยีที่เกิดจากมือถือจะสามารถช่วยคนทั้งโลกได้แต่เขาต้องผ่านโดยการรับรองจากในประเทศแล้ว”

ชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (ที่ห้าจากซ้าย) นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด (ที่สามจากซ้าย)  ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (ที่หนึ่งจากซ้าย) พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) (ที่เจ็ดจากซ้าย) ร่วมแสดงความยินดี กับเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2563 เสาวลักษณ์ มณีทอง (ที่สี่จากซ้าย) เกษตรกรที่ชนะเลิศ จากสวนปันแสน จังหวัดตาก เกษตรกรผู้ผลิตสมุนไพรส่งออกไปอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย  สิทธา สุขกันท์ (ที่สองจากซ้าย) รองชนะเลิศอันดับ 1 จากกลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร เกษตรกรผู้ส่งเมล็ดข้าวเปลือกให้กับคู่ค้า นำไปแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง  ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง (ที่หกจากซ้าย) รองชนะเลิศอันดับ 2 จากจันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรผู้ส่งออกผลสด และทุเรียนแปรรูป ไปประเทศจีน สิงคโปร์ ใต้หวัน เวียดนาม

เกณฑ์การคัดเลือก
คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่

1.คุณสมบัติส่วนบุคคล โดยมีความรู้ด้านการเกษตร สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ได้ และมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
2.สินค้าและบริการ มีแบรนด์ชัดเจน มีความโดดเด่นน่าสนใจ มีมาตรฐานรับรอง และมีความพร้อมในการส่งออก
3.การจัดการ มีการจัดการที่เป็นระบบครบวงจร ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีรายได้จากการประกอบการชัดเจน
4.ชุมชน มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด มีการรวมกลุ่มเชื่อมโยงเครือข่าย และมีความมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน

สำหรับครั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ เสาวลักษณ์ มณีทอง จากสวนปันแสน จังหวัดตาก เกษตรกรผู้ผลิตสมุนไพรส่งออกไปอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย เสาวลักษณ์ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของสมุนไพรไทย ด้วยการนำสมาชิกในชุมชนกว่า 300 รายมาผลิต “สมุนไพรไทยไร้สารเคมี” มาตรฐานสากล รวบรวมและแปรรูป สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อนำสมุนไพรไทยสู่สากล ทำการตลาดควบคู่การผลิต พัฒนา วิจัย ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความแตกต่าง ด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนมีรายได้ที่น่าพอใจ ไม่เอาเปรียบเกษตรกร คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร มีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ แปรรูปเอง ขายเอง ทำการตลาดเอง สามารถกำหนดราคาตลาดได้เองจนชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน

หลังเรียนจบแล้วแม้ช่วงแรกเสาวลักษณ์จะยังคงทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่อย่างไรก็ตามความตั้งใจที่จะกลับบ้านเกิดเพื่อนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมายังคงมีอยู่ และถึงตอนนี้เสาวลักษณ์กลับบ้านมาได้มากกว่า 7 ปีแล้วเพื่อมาพัฒนา “สมุนไพรไทยไร้สารเคมี” ให้ได้มาตรฐานสากล

“เราเชื่อว่าอะไรที่เป็นมาตรฐานจะทำให้ลูกค้าเชื่อถือ จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำมันเป็นเรื่องยากแต่ถ้าความยากจะพิสูจน์คุณค่าของเราเราก็พร้อมจะทำ เราค่อย ๆ ทำมาทีละนิดไม่ได้ทำในวันเดียว เรามีความตั้งใจว่าถ้านี่คือทางออกที่ทำให้เราทำการตลาดได้อย่างมั่นคง ลูกค้าเชื่อถือได้ก็ต้องช่วยกันทำ จริง ๆ ต้องขอบคุณทุกคนที่เป็นเครือข่ายของเราทุกอย่างเกิดจากความร่วมมือของพวกเราทั้งหมดรวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนเราด้วย  จากวันนี้ถ้าคนเห็นคุณค่าของเรามากขึ้น เราก็จะยิ่งทำให้ดีมากขึ้นไปอีก

ด้วยคุณภาพ และการมีใบรับรองระดับสากล ซึ่งเกษตรกรทุกคนรู้ดีว่า กว่าจะได้ใบรับรองดังกล่าวมาได้ จะต้องเกิดจากความตั้งใจ  พร้อมกับลงมือทำงานหนักมาก ๆ มีความอดทนสูง  สิ่งเหล่านี้ทำให้เสาวลักษณ์และเครือข่ายมีลูกค้าจากต่างชาติมาสั่งสินค้าโดยพร้อมจ่ายเงินก่อนเพื่อรอผลผลิต เนื่องจากลูกค้าจะชื่นชมสมุนไพรที่สดและเป็นอินทรีย์ในแบบที่ทำอยู่

 

 

You Might Also Like