CSR

ทีเอ็มบี และธนชาต จัดโปรเจกต์พิเศษ เปลี่ยน ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สู่ “ศูนย์แบ่งปัน” จุดประกายการเรียนรู้ให้เด็กในชุมชนก่อนเปิดเทอม

20-21 มิถุนายน 2563….ในช่วง COVID-19 ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า โดยทีเอ็มบี และธนชาต ได้แบ่งปันสื่อการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ให้เด็ก ๆ และผู้ปกครอง สามารถเลือกนำกลับบ้านได้ฟรี ! เพื่อจุดประกายการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กและเยาวชนที่ต้องอยู่บ้าน ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอมยาว ทุกวันพุธและวันเสาร์ เดือนมิถุนายน ที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ และศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ

“ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า” กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนจากธนาคารทีเอ็มบี และธนชาต มุ่งจุดประกายเด็กเยาวชน 8-17 ปี ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ และพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต หรือ Art & Life Skills โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้คืนสู่ชุมชน และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่ง “ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า” ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ประดิพัทธ์ ประชาอุทิศ จันทน์ บางกอกน้อย และสมุทรปราการ โดยมีเยาวชนที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมจากทั้ง 5 ศูนย์ ให้การตอบรับเป็นอย่างดีตลอดเวลาที่เปิดศูนย์เรียนรู้

ทว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 กิจกรรมการดำเนินงานหลายอย่างต้องหยุดลง รวมถึงโรงเรียนก็ต้องปิดเทอมยาว ส่งผลให้ “ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า” ทั้ง 5 แห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราวเช่นกัน

มาริสา จงคงคาวุฒิ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบี กล่าวถึงช่วงเวลาที่ต้องปิดศูนย์ฯ อีกทั้งมองว่าศูนย์ฯ จะช่วยอะไรชุมชนได้บ้าง ในฐานะที่ศูนย์ฯ เป็นผู้ให้องค์ความรู้ด้าน Art & Life Skills

“เราขอเปลี่ยนจากศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ต้องปิดชั่วคราวจากสถานการณ์ COVID-19 เป็นศูนย์แบ่งปัน มีคอนเซ็ปต์คล้ายตู้ปันสุข แต่เน้นการให้องค์ความรู้ โดยสิ่งทีมอบให้จะเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ Art & Life Skills ของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ที่เราต้องการส่งเสริมเด็ก ๆ ให้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ หรือทักษะความรู้อื่นๆ โดยน้อง ๆ หรือผู้ปกครองสามารถเลือกสื่อการเรียนได้คนละ 2 ชิ้น / 1 ครั้ง ได้ฟรี เพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอมยาว พร้อมลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในช่วงวิกฤตนี้”

ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันก่อนจะเข้า “ศูนย์แบ่งปัน” ทั้ง 2 แห่ง จะต้องใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ และรักษาระยะห่าง

ภายในศูนย์ฯ ได้แบ่งออกเป็น 4 มุมแบ่งปัน ให้เด็ก ๆ ได้นำสื่อการเรียนกลับไปเติมแต่ง ตามจินตนาการความคิดสร้างสรรค์

1.มุมอ่านสร้างสุข เช่น หนังสือสำหรับเยาวชน และการ์ตูนเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้
2.มุมเล่นสร้างสรรค์ มีทั้งบอร์ดเกมส์ อุปกรณ์ D.I.Y. ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก ชวนให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกกัน
3.มุมเขียนสนุก ที่มาพร้อมอุปกรณ์การเรียนหลากหลายชนิด เช่น สมุด ปากกา ดินสอ และไม้บรรทัด ให้เด็ก ๆ ได้เลือกนำกลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์
4.มุมวาดสุขใจ เช่น ชุดภาพวาดระบายสี และลายเส้น

หลานมอง ๆ ด้วยสายตาทั้ง 4 มุม แล้วมาเลือกชุดระบายสี ไปทำกิจกรรมที่บ้าน

“วันนี้ตั้งใจพาหลานมาที่นี่ มาให้น้องเลือกของเอง ซึ่งเขาเลือกชุดภาพระบายสี เพราะเขาเองชอบวาดภาพ จะช่วยไม่ให้หลานเล่นเกมส์ในมือถือมากเกินไป ซึ่งวันนี้มาที่นี่เป็นครั้งแรก ตอนแรกคิดว่าต้องเป็นเด็กโตเท่านั้นจึงจะมาได้ แต่น้องที่ไปแจกเอกสารบอกว่าเด็ก 8 ขวบก็มาได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย”

คุณย่าเล่าให้ฟังหลังจากหลานชายเลือกสื่อการเรียนแล้ว 2 ชิ้น พร้อมทั้งกล่าวต่อเนื่องว่า การแบ่งปันเช่นนี้ ช่วยผู้ปกครองแบ่งเบาภาระ เพื่อให้ลูกหลานได้ฝึกทักษะอื่น ๆ ระหว่างที่ต้องอยู่บ้านนานจากการปิดโรงเรียนยาว

“การเลือกสื่อการเรียน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อุปกรณ์การเรียน เราดูจากวัยตามกลุ่มเป้าหมาย ป.5ป.6 และม.ต้น อันนี้เป็นกลุ่มหลักของเรา และเรามีเครือข่ายมูลนิธิส่งเสริมการอ่าน ที่จะแนะนำว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี และต้องสอดคล้องกับแนวความคิดของศูนย์ที่ฯ ต้องการแนวหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กๆ อ่านแล้วทำให้เกิดการพัฒนาสมอง ไม่น่าเบื่อ เด็กๆ สามารถนำกลับไปอ่านและเล่นที่บ้านกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ โดยสื่อการเรียนที่นำมาแบ่งปันแต่ละโซนจะมีประมาณกว่า 20 แบบ สามารถไปเลือกสรรได้ที่ศูนย์แบ่งปัน 2 แห่งคือประชาอุทิศ และสมุทรปราการ”

ศูนย์แบ่งปันที่ประชาอุทิศ และสมุทรปราการ เด็ก ๆ ทยอยมาเลือกของที่จะกลับไปทำกิจกรรมที่บ้าน

มาริสาขยายความต่อเนื่องในการเลือกศูนย์ฯ 2 แห่งเป็นศูนย์แบ่งปัน เพราะเป็นเสมือนศูนย์รอบนอกกรุงเทพฯ และดูจากสถิติศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าแล้วพบว่า เด็ก 2 ศูนย์มีเด็กห้องสมุดเยอะ ซึ่งเด็กห้องสมุด คือ เด็กในชุมชนอายุระหว่าง 8-12 ปี มาใช้เวลาที่นี่ มาเล่น มาทำกิจกรรมนอกเวลา มาอ่านหนังสือได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ สอบถามผู้ปกครอง ว่าเด็ก ๆ ทำอะไรอยู่บ้านบ้างระหว่างปิดเทอม ถ้าทางศูนย์ฯ ส่งสื่อการเรียนเหล่านี้ไปให้สนใจไหม ผู้ปกครองและเด็ก ๆ สนใจ จึงส่งไปให้บางอย่างเช่น อุปกรณ์ระบายสี จากนั้นผู้ปกครอง หรือเด็กจะส่งรูปมาให้ดูทางไลน์ เช่น หนูต่อรูปกล้องแล้ว หนูเล่นดินน้ำมันแล้วเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรายังรักษาความสัมพันธ์และได้จุดประกายการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่ศูนย์ฯ ต้องปิดชั่วคราว

“สิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุดของศูนย์แบ่งปัน คือ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพราะเด็กปิดเทอมอยู่บ้านยาวแล้วเบื่อ เพราะปกติต้องเปิดเทอมแล้ว พ่อแม่ก็ต้องหาเช้ากินค่ำ เพราะฉะนั้นขอให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดภาระพ่อแม่ผู้ปกครองในยามวิกฤต หรือช่วยพ่อแม่ด้วย ช่วงเสาร์อาทิตย์อาจจะเล่นกับพ่อแม่กับของที่เด็กมาเลือกจากศูนย์แบ่งปันไป พ่อแม่ก็แฮปปี้ ลูกได้ระบายสีกระถาง ปั้นดินน้ำมันกัน”

มาริสากล่าวทิ้งท้าย “ศูนย์แบ่งปัน” แม้จะมีเวลาให้บริการเพียงวันพุธ และเสาร์ ตลอดเดือนมิถุนายน เวลา 13.00-16.00 น. เท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ตอบโจทย์กิจกรรมเพื่อสังคมของ ทีเอ็มบี และธนชาต ในฐานะผู้นำแนวคิด Make REAL Change มุ่งมั่นจุดประกายคนไทยให้มีการตั้งรับเชิงรุก ปรับมุมมอง ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน และเราจะก้าวข้ามสถานการณ์ COVID-19 ไปด้วยกัน

 

You Might Also Like