CIRCULAR ECONOMY

Circular Way ไลฟ์สไตล์ใหม่ SCG ย้ำ Brand Purpose ในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

18 เมษายน 2562…อาจจะกล่าวได้ว่า Circular Way คือ 1 ในวัฒนธรรมองค์กรเอสซีจี ที่เพิ่มเติมขึ้นระยะหนึ่งแล้ว และในปีนี้ได้ Roll Out ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวไปทุกส่วนของธุรกิจ ต้นน้ำ กลางน้ำปลายน้ำ พนักงาน นักกีฬา สนามกีฬา

จากปีที่แล้ว เอสซีจียังเดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นำมาซึ่งผลดีแก่ทั้งองค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการทั้งภายใน และภายนอกองค์ร ในมิติ SCG Circular Way

ทั้งนี้ การดำเนินการของเอสซีจี ในฐานะธุรกิจแบบ Conglomolate ต่อ SCG Circular Way ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ขององค์กรเป็นที่เรียบร้อย โดยสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสู่แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการนำเสนอตัวอย่างการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ พร้อมหวังให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะความร่วมมือจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง

มี Commitment จาก คณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน

“เอสซีจีมี Passion และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาปรับใช้ภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Committee เพื่อกำหนดกลยุทธ์ และนโยบาย ตลอดจนติดตามเรื่อง Circular Economy ในระดับสากลแล้วนำมาปรับใช้ในการสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายระดับประเทศ รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการตามแนวทาง Circular Economy ด้วยการใช้นวัตกรรม และส่งเสริมให้พนักงานและคู่ธุรกิจนำไปปรับใช้”

ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี ยกตัวอย่าง SCG Circular Way นำมาใช้กับพนักงานในองค์กร โดยเริ่มส่งเสริมให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการแยกขยะลงถังขยะ 6 ประเภทที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ในเอสซีจี โดยมีเป้าหมายเพื่อการจัดการขยะ (Waste Management) ให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และก้าวสู่การเป็น Zero Landfill

Green Meeting ส่วนตะกร้าสานจากเส้นเทปกระดาษ

โดยขยะที่ถูกแยกประเภทแล้ว จะถูกส่งไปเข้ากระบวนการจัดการ และขยะบางประเภทที่สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าหรือสร้างประโยชน์ได้อีก เช่น กระดาษขาว-ดำ ก็จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษไอเดียกรีน กระดาษน้ำตาล หรือนำไปผลิตเป็นกระดาษบรรจุภัณฑ์สำหรับทำลอนลูกฟูก อีกทั้งในอนาคตจะมีการแปรรูปขยะประเภทเศษอาหารเพื่อนำกลับมาใช้ในการปรับปรุงดิน รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรม Green Meeting หรือการจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกโอกาสของเอสซีจี

3 BU เอสซีจี สร้างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วย SCG Circular Way

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง แทบจะเดินหน้าเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ปีที่แล้ว และขยายแนวคิดดังกล่าวไปยัง Stakeholder หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ลูกค้า และ End User

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ใช้ให้น้อย ใช้ให้นาน หรือนำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นอีกกลยุทธ์ที่ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ให้ความสำคัญ

-การพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งกระดาษและพลาสติกให้ใช้งานง่าย โดยใช้ทรัพยากรน้อย แต่ยังคงทนแข็งแรง และสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตซ้ำได้ครบวงจร (Close-loop Packaging) อาทิ ถุงกระดาษรีไซเคิลที่มีคุณภาพและสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี อีกทั้งเมื่อใช้งานแล้วยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

-บรรจุภัณฑ์พลาสติก (R-1) ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย เนื่องจากผลิตด้วยการนำวัสดุชนิดเดียวกันมาประกบกันหลายชั้น (Multilayer Laminated : Mono Material) จึงมีคุณสมบัติป้องกันความชื้น แข็งแรง สามารถปกป้องสินค้าได้ดี

“บริษัทยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะกระดาษและพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยใช้เครือข่ายโรงงานอัดเศษกระดาษในการเก็บขยะพลาสติกเพื่อนำมาผลิตซ้ำ และการร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะ ตลอดจนการร่วมผลักดัน ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บรรจุภัณฑ์และการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์หลังใช้งานแล้ว และการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CEFLEX หรือ A Circular Economy for Flexible Packaging) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก เพื่อร่วมส่งมอบสินค้า บริการ และโซลูชั่น รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ยกตัวอย่างสิ่งที่ใกล้ตัวคทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “คนที่ขาดหลอดดูด ไม่ได้” สินค้าหลอดดูดเยื่อกระดาษแบรนด์ Fest ได้เข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อทิ้งแล้วจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

พร้อมกันนี้ร่วมผลักดันและยกระดับมาตรฐานให้ตลาดอาหาร 35 แห่งทั่วประเทศ เป็นตลาดรักษ์โลกต้นแบบที่มีสุขอนามัย และร่วมใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย กล่องกระดาษ Fest ซึ่งเป็น Food Grade และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้กล่องโฟม

ความร่วมมือช่วยเปลี่ยน และสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อกินและใช้ดื่ม #LifestyleSustainability

บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย Fest ประกาศรณรงค์การใช้หลอดกระดาษแบรนด์ Fest แทนหลอดพลาสติก ร่วมกับผู้ประกอบการร้านเครื่องดื่มชั้นนำ ที่อยู่ภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ และบริเวณใกล้เคียง ทั้ง 6 ร้าน ได้แก่ คาเฟ่ อเมซอน เดลี่เฮ้าส์ 7-Eleven คาเฟ่ ไอเฟล บลูเบอร์รี่ และ Coffee Hut ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single use) ได้ถึง 40,000 ชิ้นต่อเดือน พร้อมมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลในสาขาและร้านค้าอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ หลอดกระดาษดังกล่าว เป็นนวัตกรรมจากธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ สามารถใช้งานได้นานถึง 4 ชั่วโมง อีกทั้งหากผ่านการแยกทิ้งให้ถูกที่เมื่อใช้แล้ว ยังสามารถนำมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ซ้ำได้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และ SCG Circular Way อย่างแท้จริง

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way เล็งเห็นว่ากระบวนการ Circular Economy จะสมบูรณ์ได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาสังคม นอกจากนวัตกรรมและการออกแบบสินค้าให้คงทนถาวร ใช้งานได้ยาวนานแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การบริหารจัดการขยะ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business อธิบายต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ร่วมมือกับหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการนำแนวคิด Circular Economy ไปใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ ยังริเริ่มโครงการเพื่อ ลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เช่น

ถนน ที่เกิดจากส่วนผสมพลาสติก

-ถนนพลาสติกรีไซเคิล เส้นแรกที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ. ระยอง จากความร่วมมือทางเทคโนโลยี ระหว่างเอสซีจีและดาว เคมิคอล
-โครงการ Greenovative Lube Packaging นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิลจากแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วเพื่อผลิตเป็นแกลลอนใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและบางจาก คอร์ปอเรชั่น
-7 Go Green Recycled Plastic Road เกิดจากความร่วมมือส่งเสริมแนวทางการจัดการขยะพลาสติก ให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ร่วมพัฒนากระบวนการ เทคนิค พร้อมทั้งสร้างถนน โดยคัดแยกขยะพลาสติกจากสำนักงาน ศูนย์กระจายสินค้า และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ผ่านกระบวนการบดย่อยให้มีขนาดเล็ก นำมาผสมกับยางมะตอย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพถนน ให้มีความแข็งแรงทนทานและมีประสิทธิภาพสูง ทนการกัดเซาะของน้ำได้มากขึ้น

จะเปิดใช้งานบริเวณโดยรอบร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อให้เกิดประโยชน์หมุนเวียนกลับมาสู่ชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นร้านสะดวกซื้อ แห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ถนนพลาสติกรีไซเคิลในระยะแรกทดลอง 2 สาขา ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาสายไหม ซอย 3 และ เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป

พนักงาน นักกีฬาร่วมสร้าง SCG Circular Way ส่งผ่าน FC

ในกระบวนการ Roll Out ไลฟ์สไตล์ SCG Circular Way พนักงานเป็นกลุ่มสำคัญที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรอีกเรื่องหนึ่ง ปัจจุบัน แต่ละคนจะมีแก้วน้ำ หรือกระติกน้ำส่วนตัวใช้ ในขณะที่โรงอาหารภายในถูกเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์แบรนด์ Fest ในกรณีซื้อออกไปกินข้างนอก

พร้อมกันนี้มีโครงการ Circular Life เน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า คัดแยกขยะอย่างถูกต้อง โดยเริ่มต้นที่พนักงานเอสซีจี ภายในสำนักงานใหญ่ บางซื่อ ด้วยเวลาเพียง 3 เดือนสามารถเพิ่มปริมาณขยะที่หมุนเวียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์จาก 5% เป็น 35% ซึ่งทุกโครงการที่กล่าวมา เอสซีจี ตั้งใจที่จะขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และต่อยอด (Scale Up) เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

นอกจากนี้ จุดที่จะสื่อสาร SCG Circular Way สู่ภายนอกได้ใกล้ชิดที่สุดคงไม่พ้นผ่านกีฬา

-สนามเอสซีจี สเตเดี้ยม แต่ละนัดของการแข่งขันจะมีแฟนบอลเข้ามาชมในสนามเฉลี่ยเกือบ 10,000 คน ทำให้สร้างขยะแต่ละครั้งมากถึง 1,000 กิโลกรัม เอสซีจี จึงร่วมกับ สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ผลักดันสนามเอสซีจี สเตเดี้ยม สู่การเป็น Circular Economy Stadium ที่เชิญชวนแฟนบอลร่วมเป็น “แชมป์รักษ์โลก” ด้วยการแยกขยะตามแนวทาง SCG Circular Way

แชมป์รักษ์โลก

เริ่มต้นจากการจัดเตรียมถังขยะ 4 ประเภท ได้แก่ ขยะพลาสติก กระดาษ เศษอาหาร และขยะปนเปื้อน วางไว้ตามจุดต่างๆ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะที่ถูกต้องแก่แฟนบอลก่อนจะทิ้งให้ถูกถัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะ (Waste Management) ให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“Football’s Coming Home คือแนวคิดการทำทีมของเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้ โดยต้องการให้นักฟุตบอลและแฟนบอลของเอสซีจี เมืองทองฯ ร่วมทำสิ่งดีๆ เพื่อทีมที่รักของเรา แนวคิดเรื่องการทำ Circular Economy Stadium จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า เอสซีจี เมืองทองฯ ไม่เพียงแต่มีศักยภาพที่สามารถเป็นแชมป์ในการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังสามารถเชิญชวนให้แฟนบอลทุกคนมาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่สังคมได้”

รณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้อำนวยการสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการร่วมรณรงค์ครั้งนี้ เป้าหมายที่นี่คือ หางบัตรเข้าชมฟุตบอลและเศษกระดาษในสนามจะสามารถนำไปทำชั้นวางหนังสือและเฟอร์นิเจอร์ ฝาขวดน้ำพลาสติกสามารถนำไปทำบ้านปลารีไซเคิล ช่วยอนุบาลปลาและคืนสมดุลระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ส่วนขยะอื่นๆ ก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Circular Economy Stadium ได้อย่างแท้จริง

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวเสริมว่า พลังของแฟนบอล นอกจากจะช่วยเป็นกำลังใจให้นักฟุตบอลคว้าแชมป์ได้แล้ว ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการขยะ ให้เกิดผลจริง และสามารถนำขยะเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนใช้ให้เกิดคุณค่าต่อไป

เริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ ด้วยการลดการนำขยะเข้ามาในสนาม และแยกขยะลงถังที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ในสนามหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ซึ่งเอสซีจีอยากให้เกิดพฤติกรรมนี้ไม่ใช่แค่ในสนามเอสซีจี สเตเดี้ยมเท่านั้น แต่ทุกคนยังสามารถนำแนวทางนี้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายสู่คนใกล้ตัว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแคมเปญ “แชมป์รักษ์โลก” นี้ จะเป็นต้นแบบหนึ่งที่สามารถขยายไปสู่ทีมอื่นๆ รวมถึงกีฬาชนิดอื่นๆ ได้ต่อไป

สุดท้าย การฝึกซ้อมอย่างหนัก คือ เส้นทางสู่แชมป์กอล์ฟระดับโลกของ ‘โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล’ แต่ในขณะเดียวกัน ‘โปรเม’ ก็กำลังฝึกเทคนิคการใช้ชีวิตแบบนักกีฬารักษ์โลก ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เธอกล่าวว่า

คลิกรูปชมคลิป #โปรเม เอรียา จุฑานุกาล #SCGCircularway

“อาจจะยุ่งยากขึ้นบ้าง แต่ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันเพื่อโลกของเรา”

เอสซีจี จึงเปิดตัวคลิปออนไลน์ชวน “ตามติดเทคนิคใหม่ของโปรเม!” เอรียา จุฑานุกาลนักกอล์ฟระดับโลก ผ่านการเปิดมุมมองเรื่อง “การลดการสร้างขยะ” และ “การหมุนเวียนของใช้ให้คุ้มค่า” เช่น เตรียมอาหารให้พอดีสำหรับการรับประทาน พกถุงผ้าส่วนตัว และกระบอกน้ำ รวมถึงลดการใช้หลอด ตลอดจนแบ่งปันเสื้อกีฬาที่ไม่ใช้แล้วให้แก่เด็กๆ เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

‘โปรโม-โมรียา จุฑานุกาล’ มีทิปส์ในการเข้าครัวตามแนวทาง #SCGCircularway ยังไงให้เกิดการหมุนเวียนใช้ของให้คุ้มค่าที่สุด

คลิกรูปชมคลิป #โปรโม โมรียา จุฑานุกาล #SCGCircularway

สิ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด และพฤติกรรมการชีวิต ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular way โดยหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการลดการใช้ทรัพยากร หรือใช้ให้นานที่สุด หรือนำกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนหรับลูกหลานรุ่นต่อไป
SCG Circular way คงไม่ใช่เพียงการ Roll Out แต่เกิด Brand Purpose สำหรับ เอสซีจี !

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

 

You Might Also Like