CIRCULAR ECONOMY

ม. Heriot-Watt ใช้ Circular Economy สร้างอิฐคาร์บอนต่ำจากขยะ

3 กุมภาพันธ์ 2566…มหาวิทยาลัย Heriot-Watt พัฒนาการผลิตอิฐจากขยะที่ได้จากการก่อสร้าง ซึ่งใช้ CO2เพียง 10% เมื่อเทียบกับการเผาแบบดั้งเดิม

Gabriela Medero ผู้ร่วมก่อตั้ง Kenoteq อธิบายถึงศักยภาพของ Circular Economy สําหรับการผลิตอิฐในสหราชอาณาจักรว่า ปริมาณขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างทำให้เกิดความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทุกประเทศในสหภาพยุโรปก่อให้เกิดขยะจำนวน 800 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งจำเป็นต้องนำไปใช้ใหม่ ทำแค่ส่งไปฝังกลบไม่ได้อีกต่อไป

ขณะที่เครื่องมือการวางแผน และการออกแบบ ทําให้เทคโนโลยีก้าวหน้า และซับซ้อนมากขึ้น แต่วัตถุดิบจํานวนมากที่สถาปนิก และวิศวกรอาคารใช้ยังต้องผลิตโดยใช้วิธีเดิม ๆ

การผลิตอิฐดินเหนียวแบบดั้งเดิม ต้องใช้พลังงานสูงมาก เชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกเผาเพื่อให้แน่ใจว่าอุณหภูมิเตาจะสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส กระบวนการนี้สร้างทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์ และฝุ่นละเอียดที่สร้างขึ้น เพิ่มมลพิษอีกชั้นหนึ่งให้กับโลก

ปัจจุบันทุกขั้นตอนตลอดอายุใช้งานอิฐ ท้าทายการขับเคลื่อนการลดคาร์บอน เห็นได้ชัดว่า ต้องใช้แนวทางที่แตกต่างจากเดิมหากต้องมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างจริงจัง จุดสำคัญ คือ ต้องตั้งคําถามว่า แต่ละองค์ประกอบถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร มันทํามาจากอะไร? มาจากไหน? และทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร ?

Gabriela Medero ผู้ร่วมก่อตั้ง Kenoteq และศาสตราจารย์ด้านธรณีเทคนิคและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมธรณีที่ Heriot-Watt University กับ K-Briq
-ที่มาคลิกภาพ

Gabriela Medero ผู้ร่วมก่อตั้ง Kenoteq และศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิคและธรณีสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัย Heriot-Watt จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า K-Briq ซึ่งเขาและทีมงานใช้เวลากว่าทศวรรษพยายามจัดการความท้าทาย โดยทํางานร่วมกับวิศวกร สถาปนิก นักเคมี และนักธรณีวิทยา เพื่อพัฒนาทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนอิฐแบบดั้งเดิม

“สิ่งสําคัญ คือ การใช้ Circular Economy งานของเราเริ่มเมื่อการก่อสร้างแต่ละโครงการสิ้นสุดลง จากนั้น คิดค้นว่า ขยะที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาใช้ใหม่ และทำประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกอย่างไร”

วัตถุดิบที่ใช้ผลิต K-Briq มาจากการรื้อถอน 90% ที่เหลือมาจากขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง คอนกรีต เศษหิน อิฐเก่า ๆ และแผ่นยิปซั่ม จากนั้นผสมเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องเติมซีเมนต์ ทําในสายการผลิตได้เร็วเมื่อเทียบกับการผลิตอิฐแบบดั้งเดิม ซึ่งต้องรอให้อากาศแห้งนานถึงหนึ่งสัปดาห์ ตามด้วยเผาในเตาอีก 10-40 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การผลิต K-Briq ใช้ทั้งพลังงาน และCO2 น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับการผลิตอิฐดินเหนียวแบบดั้งเดิม และพร้อมใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากขยะ หรือวัสดุเหลือใช้มาถึงโรงงาน

เพื่อทำให้เส้นทาง Circular Economy สิ้นสุดอย่างสมบูรณ์แบบ โรงงานผลิต K-Briq ของ Kenoteq จึงตั้งอยู่ใกล้โรงงานกำจัดขยะในสกอตแลนด์ เพื่อลดระยะทางการขนส่ง และจํากัด CO2 เพิ่มเติมใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น

Kenoteq ผู้ร่วมก่อตั้งศาสตราจารย์ Gabriela Medero และ Dr. Sam Chapman พร้อมกำแพงสาธิตที่ทำจาก K-Briqs เครดิต: Penny Black Co

Gabriela กล่าวว่า การจัดลําดับความสําคัญของกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยให้อุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักรผลิตวัสดุในประเทศได้มากขึ้น และจะช่วยลดความจําเป็นในการนําเข้าอิฐที่มีราคาแพง

“เราเชื่อว่าการทํางานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตอิฐให้ดีขึ้น โดยค้นหาโซลูชันใหม่ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น จะทำให้เราช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งบรรลุเป้าลดคาร์บอนด้วย”

หลักคิดสำคัญ คือ ต้องมองไปที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตของอาคารใหม่แต่ละแห่งที่สร้างขึ้น จากนั้นต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้แน่ใจว่าประหยัดพลังงานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และใช้กลยุทธ์คิดเรื่องวัสดุที่ใช้ในการสร้างด้วย

“เราต้องการวัสดุที่ควบคุมอุณหภูมิอาคารตามธรรมชาติเพื่อลดความต้องการการใช้พลังงาน เรามั่นใจว่า K-Briq มีมวลความร้อนสูง ซึ่งสามารถเก็บความร้อนในฤดูหนาว และช่วยให้อาคารเย็นในฤดูร้อน ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านความร้อน เครื่องปรับอากาศ และความต้องการพลังงานจึงเหลือน้อยที่สุด”

Gabriela Medero เพิ่มเติมว่า Kenoteq กําลังพัฒนาพิมพ์เขียวสําหรับวิธีผลิตอิฐ โดยตั้งเป้าว่า ปี 2023 จะปรับขนาดการผลิตจากโรงงานนําร่องที่มีอยู่ ไปสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม

Gabriela Medero สรุปว่า รัฐบาลทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะวางให้ Circular Economy เป็นหัวใจของแผนการลดคาร์บอน รวมถึงเพิ่มโอกาสให้นักวางแผน ผู้สร้าง และสถาปนิกทํางานร่วมกับลูกค้า เพื่อบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ภายใต้ความตั้งใจสร้างโลกสีเขียวร่วมกัน อิฐที่ Kenoteq ผลิตจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญ บนเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ที่มา

 

 

 

 

 

You Might Also Like