CIRCULAR ECONOMY

UOB x WISHULADA การเชื่อมต่อ Brand,Circular Art ด้วยแนวทางESG

15 พฤษภาคม 2566…ความร่วมมือที่เกิดขึ้น นับเป็นครั้งแรกในวงการธนาคารพาณิชย์ไทยและวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย Circular Economy ลดก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์ทางสังคมทั้งซัพพลายเชนในการตัดเย็บ และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายทั้งหมด ธนาคารจะมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

ปิยพร รัตน์ประสาทพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เจ้าของแบรนด์ WISHULADA ซึ่งจดทะเบียนเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) แล้ว ได้ร่วมกันเล่าถึงการเชื่อมต่อ Brand,Circular Art ผ่านแคมเปญ “Turning Trash to Treasured Art” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อความยั่งยืน Waste to Wonder ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

ปิยพร กล่าวถึงยูโอบี ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยแนวทาง ESG ธนาคารส่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ต้องการพลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานจากฟอสซิล โครงการ Waste to Wonder ถือเป็น Inititive ในแต่ละประเทศที่ยูโอบีดำเนินธุรกิจอยู่ และสำหรับยูโอบี ประเทศไทยมีการรีเฟรช แบรนด์ ก็ต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มใหม่ให้ทันสมัย ประเด็นที่ตามมาคือชุดยูนิฟอร์มเก่าทั่วประเทศจะทำอย่างไรดี ? ถ้าไม่ทิ้ง

“โชคดีที่มาเจอเอ๋ วิชชุลดา ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว และเราได้รับความร่วมมือจากพนักงานของเราทั่วประเทศ 148 สาขา ที่รู้ว่าเราจะทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิด Sustainability ซึ่งเป็นเป้าหมายของยูโอบี ส่งยูนิฟอร์มเก่าเข้ามาจำนวน 4,903 ชุด โดยส่วนใหญ่จะเป็นยูนิฟอร์มพนักงานหญิง เพื่อนำมา Upcycling ผ่านแคมเปญ Turning Trash to Treasured Art ”

วิชชุลดาในฐานะที่เป็น Social Artist และบริษัทที่เป็น SE ซึ่งทุกงานที่ทำ  สามารถคำนวณได้หมดว่า ใช้ทรัพยากรไปแล้วเท่าไหร่ ต้องใช้อะไรบ้าง คำนวณออกมาเป็นค่าผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ Waste to Wonder ครั้งนี้ก็เช่นกัน

“แรงบันดาลใจจากโครงการเกิดจากยูนิฟอร์มเดิมที่ถูกเปลี่ยนจะถูกเก็บไว้ในบ้านไม่อยากจะทิ้ง เพราะเป็นเรื่องความทรงจำของแต่ละคน เราอยากเปลี่ยนความทรงจำที่ดีเหล่านั้นให้เป็นของอีกแบบหนึ่งที่นำไปใช้งานต่อได้เหมือนเป็นของที่ระลึกว่า ภูมิใจได้ทำงานกับองค์กรแห่งนี้ว่าครั้งหนึ่งเคยสวมชุดพนักงานคอลเลคชั่นนี้ และวันนี้ได้ใช้เป็นสินค้า Upcycle”

ทั้งนี้ความแตกต่างของคำว่า Recycle และ Upcycle คือ Recycle จะต้องนำเข้ากระบวนการอุตสาหกรรม ใช้พลังงานจำนวนมากเปลี่ยนวัสดุเก่าเหล่านั้นให้เป็นสินค้าใหม่ออกมา ส่วน Upcycle ยังคงวัสดุนั้นอยู่ แต่มาผ่านกระบวนการทีมช่างตัดเย็บ ช่างฝีมือ ซึ่งได้ช่วยหลายอย่าง เช่น การกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ทีมช่างเย็บหลายคนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานหลายชิ้นหลายศิลปิน แต่วันนี้ทีมเหล่านี้เขาอยู่เบื้องหน้า

ชุมชนผู้ตัดเย็บจากจังหวัดสมุทรสาครได้ผลิตสินค้า Upcycle 8 แบบจากชุดยูนิฟอร์มเก่าในครั้งนี้ เช่น กระเป๋าเป้ กระเป๋าถือ ถุงผ้าพกพา กระเป๋าใส่ขวดน้ำ เคสสำหรับโน้ตบุ๊ก และกระเป๋าอเนกประสงค์

“ความท้าทายของงานนี้คือ เสื้อผ้าทุกชุดจะมีไซส์ต่าง ๆ เอส เอ็ม แอล ไม่สามารถตัดทีครั้งเดียวแล้วได้เป็นร้อยชิ้น ต้องทำทีละชิ้นทีละชิ้น ซึ่งใช้เวลานานมาก แล้วบางทีสิ่งที่เราคิดพี่คนที่เย็บบอกว่า เวลาทำจริงไม่ใช่อย่างที่เราคิด บางครั้งทำออกมาเป็นเป้แล้ว ผ้าที่เหลือเป็นเศษเล็กก็นำมาทำเป็นกระเป๋าใบเล็ก เหลือเป็นเศษใหญ่ก็ทำเป็นกระเป๋าใบใหญ่ การทำงานครั้งนี้ต้อง Improvise มีการปรับหน้างานมากพอสมควรว่าจะเป็นกระเป๋ารูปแบบใด เพราะไม่อยากให้เหลือเป็น Waste แต่เมื่อยังมีอยู่ก็เลยนำไปสานให้เป็นลวดลาย นั่นคือเศษของเศษอีกที ส่วนกระดุม ปกเสื้อ และอื่น ๆ ที่อยู่บนชุดเรานำมาใช้ทั้งหมด ก็กระจายกันไป”

ผลงานศิลปะจัดวาง (Art Installation) ได้รับการสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “Clothespocalypse” (คำผสมระหว่าง Cloth คือเสื้อผ้า และ Espocalypse คือโศกนาฎกรรม) ได้แรงบันดาลใจมาจากกองขยะที่เป็นภูเขา เวลาที่คนใช้ของแล้วก็ทิ้ง ทิ้ง ทิ้ง กองสูงมาก เมื่อนำมาจัดแสดงเป็น Art Installation แล้ว คนมาเห็นว่า เสื้อผ้าเต็มไปหมดเลย แต่เมื่อเดินเข้าไปข้างในจะเห็นเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกเปลี่ยนใช้งานได้เกิดประโยชน์ใหม่ ผู้ชมน่าจะได้แรงบันดาลใจเช่นกัน เมื่อกลับบ้าน ก็ไป DIY,Mix and Match เสื้อผ้าที่อยู่ที่บ้านมีประโยชน์ใหม่ได้หรือไม่
ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ก็เป็นซีดี ไม่ใช่ของยูโอบี แต่เป็นของเคยใช้งานมาแล้ว หาดูใกล้ ๆ จะเห็นรูปดอกไม้ทำมาจากถุงเติมน้ำยาซักผ้า ซึ่งจะต้องเผาทิ้งเท่านั้น แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องนำมา Reuse ก่อน ทุกชิ้นงานตรงนี้เมื่อมีการรื้อถอนสามารถนำเสื้อผ้าไป Upcycle ได้อีก เพราะว่าทุกชิ้นงานไม่ได้มีการย้อมสี เราใช้สีเดิมทั้งหมด เพราะการย้อมสีจะทำให้ Recycle ได้ยากขึ้น งานของแบรนด์ WISHULADA ึงไม่มีการย้อมสี เพื่อจะสามารถ Upcycleได้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ผลงานศิลปะ “Clothespocalypse” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มิถุนายน 2566 ที่ชั้น 1 อาคาร ทาวเวอร์ ยูโอบี พลาซา กรุงเทพ สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่าย จะมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กเพื่อสมทบโครงการ Angel Miracle ปาฏิหารย์ต่อลมหายใจ เพื่อจัดซื้อตู้อบช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรงและปลอดภัย สามารถซื้อสินค้าอัปไซเคิลได้ที่บริเวณนิทรรศการและทางออนไลน์ ผ่าน www.uob.co.th จนกว่าสินค้าจะหมด

ความร่วมมือกับ WISHULADA ในโครงการนี้ คาดว่าจะมีค่าก๊าซเรือนกระจกที่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากหลุมฝังกลบเป็นจำนวน 1,965.30 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 137.646 ต้น ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านความยั่งยืนของธนาคารยูโอบี ซึ่งมุ่งจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของธนาคารและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

 

You Might Also Like