1 พฤศจิกายน 2564… เป้าหมายของเราวันนี้ คือ อยากให้ทุกคนได้เห็นการแยกขยะตั้งแต่ที่บ้านว่าเป็นอย่างไร และถ้าหลายๆ คนคิดว่ายังไม่สามารถแยกย่อยได้หลากประเภท ก็สามารถเริ่มจากการแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งก่อน เริ่มง่ายๆ แล้วค่อยๆ ปรับ
ณัฐภัค อติชาตการ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง แทรชลัคกี้ (Trash Lucky) แพลตฟอร์มที่ใช้การลุ้นรางวัลมาสร้างแรงจูงใจให้คนไทยลงมือแยกขยะเพื่อรีไซเคิล กล่าวในไลฟ์ทอล์ค “บุกบ้านสายกรีน แยกขยะฝ่าโควิด” ซึ่งชวนเหล่ากูรูสายกรีนมาจับเข่าคุยกันถึงการคัดแยกขยะรีไซเคิลในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19
สยุมพร เหล่าวชิรสุวรณ วิทยากรด้านการรีไซเคิลจาก อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิตและรีไซเคิล PET รายใหญ่ที่สุดของโลก เล่าเทคนิคคัดแยกขยะในช่วงโควิด-19 ว่า
“ที่บ้านของเหมียว อย่างแรกเลยคัดแยกขวดพลาสติกก่อน เพราะถ้าทำจาก PET จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และสร้างรายได้ให้เราได้ด้วย โดยให้มองหาสัญลักษณ์สามเหลี่ยมรีไซเคิล แล้วดูว่ามีหมายเลขอะไรเนื่องจากจะเป็นการบอกถึงประเภทของพลาสติก ถ้าเป็นหมายเลข 1 จะหมายถึงพลาสติก PET ที่นิยมนำกลับมารีไซเคิลมากที่สุด มีทั้งขวดใสและขวดสี ซึ่งขวดใสสามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ทั้งเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) และเส้นใยเส้นด้ายที่นำไปผลิตเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งชุด PPE ที่ใช้เส้นใยจากการรีไซเคิลขวด PET เพียง 18 ขวดเท่านั้น”
พลาสติกประเภทที่ 2 จะเป็นพวกขวดขุ่น อย่างขวดนม ขวดแชมพู พลาสติกประเภทที่ 3 จะเป็นพวกท่อน้ำประปา ชนวนหุ้มสายไฟ พลาสติกประเภทที่ 4 ซึ่งสามารถยืดได้ มักนิยมผลิตเป็นวัสดุกันกระแทก ถุงอาหารแช่แข็ง พลาสติกประเภทที่ 5 ได้แก่ หลอดดูด ถาดหรือกล่องอาหารที่เข้าไมโครเวฟได้ สำหรับพลาสติกประเภทที่ 6 จะเป็นพวกถ้วยจานพลาสติก กล่องใส่ซีดี และพลาสติกประเภทที่ 7 จะเป็นพลาสติกอื่นๆ เช่น แก้วซิลิโคน แก้วไบโอพลาสติก หลังคาแบบใส เป็นต้น ซึ่งเราควรจะแยกพลาสติกแต่ละชนิดออกจากกัน
“สำหรับวิธีเตรียมขวดก็ง่ายมาก แค่เทของเหลวออกไป บิดขวด แล้วปิดฝา จากนั้นนำไปใส่ในถังขยะรีไซเคิลตามจุดรับต่างๆ แต่สำหรับช่วงโควิด-19 เรามักจะเห็นหน้ากากอนามัยที่ทิ้งไว้ในขวด PET อันนี้เป็นการทิ้งที่ผิดวิธี จะถือว่าขวดนั้นมีการปนเปื้อน ซึ่งพนักงานเก็บขยะและโรงงานคัดแยกขยะจะไม่รับซื้อ จึงเป็นการสูญเสียทรัพยากรขวด PET ที่ความจริงแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก วิธีที่เหมาะสมคือ ควรทิ้งหน้ากากอนามัยในถุงต่างหากแล้วให้มัดแน่น เขียนระบุว่าเป็นขยะติดเชื้อแล้วนำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อ”
ศิริพร ศรีอร่าม จากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เสริมว่า เราจะเห็นพฤติกรรมของคนที่เริ่มตระหนักว่าปัญหาขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ
“แต่ตอนนี้ทุกคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมากกว่า เลยอาจจะกลับไปสู่พฤติกรรมเดิมๆ อย่างการใช้บรรจุภัณฑ์ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น รวมไปถึงหน้ากากอนามัยด้วย ซึ่งที่จริงเราสามารถซักหน้ากากหลายครั้งได้ หรือขวดพลาสติก PET ก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองด้วย ซึ่ง 3 ปีก่อนเรายังไม่รู้เลยว่า พลาสติกประเภทต่างๆ อย่าง PET และถุงยืดหดได้ เป็นคนละประเภทกัน จึงเริ่มต้นจากที่เราอยากเริ่มค้นหาความรู้ก่อน พอเราเริ่มทำได้ เราอาจจะต้องค่อยๆ บอกเพื่อนที่เราสนิท แค่เราทำอะไรและแชร์ แล้วเค้าก็จะเรียนรู้แบบ Direct Learning”
เปรม ฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้พัฒนา Green2Get แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้จัดการขยะเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
“เราพัฒนาการใช้งานหลัก 2 ส่วน สามารถช่วยกันเพิ่มฐานข้อมูลขยะผ่านการแสกนบาร์โค้ด และส่งต่อขยะให้ผู้ที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง ลูกค้าของเราคือพี่ ๆ ซาเล้ง เราทำความเข้าใจสิ่งที่เค้าอยากได้แล้วแยกไปให้เค้า ขายของให้ถูกใจคนที่จะซื้อ จะสามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้น และตอนนี้เรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีการแยกขยะ ซึ่งจะบอกวิธีการทิ้ง และนับจำนวนขยะที่เราทิ้งไปได้ ซึ่งทำให้การแยกขยะที่บ้านหรือสำนักงานทำได้ง่ายขึ้น เริ่มคัดแยกขยะอย่างง่ายๆ เริ่มที่ตัวเรา เริ่มจากสิ่งที่เราคิดว่าแยกได้ อย่างขวดน้ำดื่ม จะขายก็ได้เงิน และส่งต่อให้เกิดประโยชน์”
ณัฐภัค กล่าวทิ้งท้าย ในช่วงโควิดนี้ คนส่งอาหารเดลิเวอรี่มาเยอะ เทคนิคเรื่องการแยกขยะพลาสติกประเภทที่ 5 จึงเพิ่มขึ้นมาก เพื่อที่จะทำให้แพคเกจจิ้งพวกนี้นำไปใช้รีไซเคิลได้ ให้ดูเรื่อง 3R เป็นหลัก Reduce – Reuse – Recycle คือ ลดการใช้ นำมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
“เราพยายามแยกขยะให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะที่สามารถแยกนำไปรีไซเคิลต่อได้ เราก็จัดพื้นที่ตามปริมาณขยะที่มี ซึ่งจะมีองค์กรที่มารับขยะเหล่านี้ไป เช่น Trash Lucky หลังคาเขียว ลุงซาเล้ง เป็นต้น แต่ในช่วงโควิดเราอาจจะเข้าถึงชุมชนได้ยากขึ้น คนไม่ค่อยเจอหน้ากัน ไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกัน ขยะก็มากขึ้น แต่การเข้าถึงขยะน้อยลง ก็ต้องพยายามทำต่อไป ถามว่า เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร การที่เราจะให้คนในครอบครัวต้องแยกขยะ เป็นเรื่องยากมั้ย เราต้องเข้าใจว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป ต้องทำทุกอย่างให้ดูง่าย และเป็นระบบ คนจะให้ความร่วมมือมากขึ้น”
ปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว เริ่มได้ง่ายๆ ที่ตัวเรา ซึ่งจะนำไปสู้ความร่วมมือในครัวเรือน องค์กร ชุมชน และสังคม เพื่อเพิ่มการรีไซเคิลและให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด แล้ววันนี้ คุณเริ่มแยกขยะรีไซเคิลหรือยัง