ACTIVITIES

รักษาสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ

5-6 กรกฎาคม 2563… เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกวด “นวัตกรรมการจัดการพลาสติก เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทะเลไทย” กรมเจ้าท่า สวทช. ผนึก บ้านปูเน็กซ์ และ สกุลฎ์ซี พัฒนาผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทย ซีพีเอฟ สานต่อโครงการ“ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน”เฟสสอง รักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเล

 

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัดเป็นกรีนรีเทลแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้มีเจตนารมย์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด จึงได้ริเริ่มการดำเนินการจัดการประกวดนวัตกรรมการจัดการพลาสติก เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทะเลไทย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( WWF ) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับผลงานนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมที่ยังประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบแนวคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปประดิษฐ์ หรือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะยังประโยชน์ต่อการบริหารจัดการขยะพลาสติกเพื่อก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน( CIRCULAR ECONOMY ) อย่างยั่งยืน โดยมีผู้สนใจชาวไทยและชาวต่างชาติส่งผลงานนวัตกรรมกว่า 100 ผลงาน

ผู้ชนะเลิศผลงานการประกวดนวัตกรรมการจัดการพลาสติกและสิ่งแวดล้อมและทะเลไทย คือ ทีมแทรชลัคกี้ (Trash Lucky) ด้วยผลงานการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท ( ห้าแสนบาทถ้วน ) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีมวนโปรเจ็ค (Won Project) ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท ( สองแสนบาทถ้วน ) พร้อมประกาศเกียรติคุณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีมขอขวดรีชอป (KHORKUAD Reshop) ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท(หนึ่งแสนบาทถ้วน) พร้อมประกาศเกียรติคุณ

“เชื่อมั่นว่าจากผลการตอบรับที่ดีจากการประกวดในครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติต่อไป”

 

วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)​ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ​เทคโนโลยี​แห่งชาติ​ (สวทช.)​ สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด นำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผนึกความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงด้าน “การพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐาน สำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี

วัตถุประสงค์ในการร่วมยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เรือไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงานยังช่วยลดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศในระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืนให้ระบบนิเวศทางน้ำ ตลอดจนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวถึงภายใต้วิสัยทัศน์ของบริษัท เป้าหมายของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในระยะต่อไป คือ มีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับปรุงสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

“ความร่วมมือในลักษณะ 3 ประสาน โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน ช่วยฟื้นฟูสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลน 2,388 ไร่ อาทิ ป่าชายเลนที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังการอนุรักษ์และฟื้นฟูพบว่ามีการตกตะกอนของชั้นดินสูงขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ผืนป่าที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ปริมาณสัตว์น้ำกลับเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น เช่น ปูแสม ปูก้ามดาบ หอยแครง หอยเสียบ หอยกระปุก รวมทั้งสัตว์ที่หายไปจากพื้นที่เป็นเวลาหลายปี เช่น หอยพิม ชุมชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟู”

นอกจากสภาพป่าชายเลนที่กลับมาอุดมสมบูรณ์แล้ว ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนกิจกรรมที่มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมอบเงินสำหรับเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ดูแลและบริหารโดยชุมชนเอง สามารถนำไปส่งเสริมด้านอาชีพของชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้ และได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน 2 พื้นที่ คือ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต. ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวและนำเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนฯ ใช้ในการอนุรักษ์และดูแลป่าอย่างยั่งยืน

 

You Might Also Like